สธ.ให้นักเรียน นักศึกษา บุคลากรที่มาจากพื้นที่ระบาดกักตัวอยู่ที่บ้าน 14 วัน งดใช้ของร่วมกัน แต่ไม่แนะนำไปตรวจหาเชื้อและขอใบรับรองแพทย์ก่อนไปโรงเรียนหรือทำงาน แนะไปตรวจเมื่อมีอาการตามคำแนะนำของ สธ.จะดีกว่า เผยผู้ป่วยนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีนกลับบ้านเพิ่ม 1 ราย ยังคงเข้มคัดกรองทุกด่านตรวจคัดกรองแล้วกว่า 3 ล้านราย
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย
นพ.สุขุม กล่าวว่า วันนี้มีผู้ป่วยยืนยันกลับบ้านได้เพิ่มอีก 1 ราย เป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีนอายุ 54 ปี รักษาที่สถาบันบำราศนราดูร ทำให้ขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันรักษาหายกลับบ้านแล้ว 21 ราย คิดเป็นร้อยละ 60 ของผู้ป่วยในประเทศไทย เหลือนอนในโรงพยาบาล 14 ราย ส่วนใหญ่อาการดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยที่ใช้เครื่องเอคโม (ECMO) หรือเครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอด และรายที่เป็นวัณโรคร่วมด้วย อาการคงที่ ยังคงใช้เครื่องช่วยหายใจทั้ง 2 ราย
สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศนั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่มีคำแนะนำห้ามการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด ตลอดจนยังไม่มีการกำหนดเป็นมาตรการที่จำเพาะสำหรับผู้เดินทางระหว่างประเทศ ในส่วนของประเทศไทยในฐานะสมาชิกองค์การอนามัยโลก ได้ดำเนินการตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังและคัดกรอง ผู้เดินทางระหว่างประเทศ ในทุกช่องทางเข้าออกประเทศ ครอบคลุม ทั้งด่านบก เรือ อากาศ ตลอดจนการเฝ้าระวังที่โรงพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน รวมคัดกรองไปแล้ว 3,046,342 ราย
อย่างไรก็ตามการป้องกันควบคุมโรคของประเทศไทยจะประสบความสำเร็จไม่ได้หากขาดความร่วมมือจากประชาชน ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดอย่างต่อเนื่องหรือมีการระบาดภายในประเทศ (local transmission) ได้แก่ จีน (รวม ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน) ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ (รายชื่อของประเทศที่มีรายงานการระบาดจะมีการประกาศแจ้งเป็นระยะกรุณาติดตามได้ที่เว็บไซต์กรมควบคุมโรค) ขอให้ท่านรับผิดชอบสังคม โดยการเฝ้าระวังอาการตนเองอย่างน้อย 14 วัน งดไม่ไปที่ชุมชน งดใช้ขนส่งสาธารณะ งดใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น หากมีอาการสงสัยป่วยขอให้สวมหน้ากากอนามัย วัดไข้ทุกวัน หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ แจ้งประวัติการเดินทาง หรือโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
นอกจากนี้ ในขณะนี้มีความห่วงใยของผู้ปกครอง และสถานศึกษาต่าง ๆ ที่มีนักเรียน นักศึกษา รวมทั้งบุคลากรของสถานศึกษา กลับจากการเดินทางไปต่างประเทศ และมีข้อกังวลเรื่องการติดเชื้อ โดยพบว่ามีหลายสถานศึกษาที่ให้นักเรียน นักศึกษาและบุคลากร ไปโรงพยาบาลเพื่อขอตรวจหาเชื้อและขอใบรับรองแพทย์ก่อนไปโรงเรียนนั้น กระทรวงสาธารณสุขเข้าใจถึงความกังวลของผู้ปกครองและผู้บริหารของสถานศึกษาในกรณีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขไม่แนะนำให้ไปขอตรวจและขอใบรับรองแพทย์เนื่องจาก 1.การไปตรวจหาเชื้อในช่วงที่ไม่มีอาการ โอกาสพบเชื้อน้อยมาก หรือหากตรวจแล้วพบว่าเป็นลบก็ไม่ได้ยืนยันว่าจะไม่ป่วยจึงไม่มีความจำเป็นที่จะไปขอตรวจ ในขณะที่ไม่มีอาการ 2.การไปโรงพยาบาลโดยไม่มีความจำเป็น จะเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการได้รับเชื้อจากโรงพยาบาล และที่สำคัญอาจนำเชื้อต่าง ๆ ไปติดผู้ป่วยในโรงพยาบาลซึ่งมีร่างกายไม่แข็งแรงได้ 3.ควรรีบไปตรวจเมื่อมีอาการตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับสถานศึกษาที่มีนักเรียนนักศึกษาที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดขอให้ปฏิบัติตนดังนี้
1. ขอความร่วมมือให้นักเรียน นักศึกษา บุคลากรที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีรายงานการระบาด พักอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน (self quarantine at home)
2. สถานศึกษาควรจัดให้มีมาตรการคัดกรองนักเรียน นักศึกษา บุคลากรทุกวันโดยวัดไข้และสังเกตอาการ ไอ มีน้ำมูก เพื่อจะแยกตัวไปยังสถานที่เตรียมไว้ได้ทันที
3.นักเรียน นักศึกษา บุคลากรที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีรายงานการระบาด ให้สังเกตอาการป่วยของตนเอง งดออกไปในที่สาธารณะ ที่มีคนอยู่จำนวนมาก งดใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น วัดไข้ทุกวัน ไม่ใช่ของร่วมกับผู้อื่น ไม่ใช้ขนส่งสาธารณะ หากอาการไม่ดีขึ้นให้ใส่หน้ากากอนามัยและรีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง หรือ โทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
4. สถานศึกษา ควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่หรือครูอนามัยเพื่อประสานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่
5. สถานศึกษาต้องจัดให้มีอุปกรณ์สำหรับการล้างมือและแอลกอฮอล์เจลอย่างเพียงพอ สำหรับนักเรียน นักศึกษา บุคลากร
3.ข้อแนะนำประจำวันในการป้องกันตนเองจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำ และสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็นสวมหน้ากากอนามัยแบบผ้าที่สะอาดเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก ผู้ป่วยและผู้ที่มีอาการ ไอ จาม ควรใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ สำหรับหน้ากากอนามัยประเภท N95 จะใช้ในเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรักษาใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- 14 views