ปตท. – กรมการแพทย์ร่วมพัฒนานวัตกรรมแผ่นปิดแผลชนิดไบโอเซลลูโลสสำหรับผู้ป่วยโรคผิวหนังเพื่อการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ยกไทยเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีการแพทย์
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนานวัตกรรมสำหรับผู้ป่วยโรคผิวหนังเพื่อการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยมุ่งพัฒนาความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยโรคผิวหนัง ผ่านโครงการนำร่อง “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัสดุปิดแผลชนิดไบโอเซลลูโลสเพื่อการจำหน่ายเชิงพาณิชย์” สร้างโอกาสสำหรับผู้ป่วยให้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของคนไทยที่มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากลในราคาที่เหมาะสมตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมงานวิจัยที่สร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ใหม่ไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ที่สามารถต่อยอด New Business S-Curve เพื่อเป็นการตอบสนองให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยสถาบันนวัตกรรม ปตท.ได้พัฒนาไบโอเซลลูโลส ที่มีส่วนประกอบหลักจากเส้นใยเซลลูโลสบริสุทธิ์ที่ผลิตจากจุลินทรีย์ขนาดนาโนเมตรโดยประกอบด้วยรูพรุนขนาดเล็กจำนวนมากทำให้ดูดซึมน้ำได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับใช้เป็นวัสดุปิดแผลเนื่องจากสามารถควบคุมสภาวะที่เหมาะสมในการรักษาบาดแผลของร่างกาย ส่งผลให้บาดแผลหายเร็วขึ้นและไม่ต้องพึ่งสารเคมีจากภายนอก โดยได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาวัสดุไบโอเซลลูโลสตลอดห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่การคัดเลือกพันธ์จุลินทรีย์ที่มีความเหมาะสมในการผลิต การพัฒนากระบวนการผลิตตลอดจนการคัดเลือกเทคโนโลยีสำหรับกระบวนการฆ่าเชื้อของเวชภัณฑ์ทางการแพทย์อย่างครบวงจร เพื่อพัฒนาและผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านเวชภัณฑ์ทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคผิวหนังที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าระดับสากล อีกทั้งยังได้รับรางวัลเหรียญทองในงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ในเวทีระดับนานาชาติครั้งที่ 45th (International Exhibition of Inventions Geneva 2017) ถือเป็นเครื่องการันตีคุณภาพ และความพร้อมในการนำไปต่อยอดจำหน่ายเชิงพาณิชย์
“ความร่วมมือในวันนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญของการร่วมสร้างผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้าน Life Science เพื่อส่งมอบงานวิจัยและนวัตกรรมส่งเสริมเศรษฐกิจฐานชีวภาพอย่างต่อเนื่องลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีการแพทย์และสาธารณสุขตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยและเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” นายวิทวัส กล่าว
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง มีบทบาทหน้าที่ ในการดูแล บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคผิวหนังทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลระดับตติยภูมิไปจนถึงระดับ Super Tertiary Care การพัฒนาบริการ ในระดับ Super Tertiary Care สถาบันโรคผิวหนัง มีคลินิกเฉพาะทางด้านผิวหนังคอยรองรับความต้องการแลเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาเพื่อสุขภาพผิวหนังที่ดีแก่ผู้ป่วย เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการของวงการแพทย์ผิวหนังไทยและนานาชาติ รวมถึงสร้างมาตรฐานการบริการที่ดีให้แก่ประชาชนและมีการพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาลโดยคิดค้นและพัฒนา นวัตกรรมทางด้านวัสดุ อุปกรณ์ การรักษาทางการแพทย์ เพื่อการรักษาที่มีคุณภาพ ประชาชนเข้าถึงบริการ วัสดุ อุปกรณ์ ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพระดับมาตรฐานสากล ดังเช่น วัสดุปิดแผลชนิดไบโอเซลลูโลส ที่ทางกรมการแพทย์ได้ร่วมมือคิดค้นและพัฒนากับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
- 446 views