ป.ป.ส. จับมือ สสส. สำนักงานศาลยุติธรรม และภาคีเครือข่าย MOU ขับเคลื่อนงานให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาคดียาเสพติดในระบบศาล มุ่งขยายคลินิกจิตสังคม 75 ศาลทั่วประเทศ ภายในปี 2565 คาดช่วยลดกระทำผิดซ้ำ-แก้ปัญหานักโทษล้นคุก
วันที่ 30 มกราคม 2563 ที่สำนักงานศาลยุติธรรม อาคารศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการดำเนินงานให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดียาเสพติดในระบบศาล โดยมี นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และนายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน
นายสมศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า คลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาคดียาเสพติด เป็นแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้กระทำความผิดในคดีที่มีโทษไม่ร้ายแรง ให้ได้รับคำปรึกษาด้านจิตสังคมและเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูสภาพจิตใจภายใต้การกำกับของศาล โดยไม่ถูกส่งตัวเข้าไปในเรือนจำ เป็นการให้โอกาสแก่จำเลยได้ดำเนินชีวิตอยู่กับครอบครัว และประกอบอาชีพได้อย่างปกติ พร้อมขยายความช่วยเหลือไปยังครอบครัว ส่งเสริมให้ไม่กลับไปกระทำความผิดซ้ำ และอาจส่งผลต่อการแก้ปัญหานักโทษล้นคุกได้อย่างยั่งยืน
"คลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมนี้ เป็นการปรับนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดแนวใหม่ตามแนวทางของสหประชาชาติ ที่ใช้มาตรการทดแทนสำหรับผู้กระทำผิดโดยไม่ถูกส่งตัวเข้าไปในเรือนจำ หรือที่เรียกว่า Diversion ซึ่งนอกจากจะเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติแล้ว ยังเป็นการลดงบประมาณการดำเนินงานราชทัณฑ์ รวมถึงเป็นการลดปัญหาคนล้นคุกอีกด้วย" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว
ทั้งนี้ ในการดำเนินการระยะแรก ปี 2557-2562 พบการกระทำผิดซ้ำของผู้เข้ารับการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาล เฉลี่ยเพียงร้อยละ 1.3 และในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า (2563-2565) สำนักงาน ป.ป.ส. และสำนักงานศาลยุติธรรม ตั้งเป้าขยายการดำเนินงานคลินิกจิตสังคมไปยังศาล 75 แห่งทั่วประเทศ โดยคาดว่าในปี 2565 จะสามารถดำเนินการกับผู้ต้องหาคดียาเสพติดไม่น้อยกว่า 75,000 ราย
- 90 views