ย้ำชุมชนคือพลังสำคัญในการดูแลประชากรผู้สูงอายุที่มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามโครงสร้างประชากร และต้องการการดูแลทุกด้านในระยะยาว ไจก้าชมไทยมีความเข้มแข็งด้านบทบาทชุมชน มี อสม.1 ล้านคนพร้อมฝึกเป็นผู้ดูแลคนแก่ในท้องถิ่น
ชินทาโร นากามูระ และนาโอยูกิ โกบายาชิ
วันที่ 28 ม.ค. 2563 ที่การประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ.2563 มีการจัดประชุมหัวข้อย่อย เรื่อง “ผู้สูงอายุและการดูแล: ประสบการณ์จากประเทศในเอเซีย และลาตินอเมริกา” โดยมีตัวแทนหน่วยงานด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ และองค์กรที่ทำงานด้านการดูแลประชากรสูงวัย จาก ประเทศไทย ญี่ปุ่น ศรีลังกา เม็กซิโก และชิลี ร่วมนำเสนอสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุในประเทศ บทเรียนที่ผ่านมาในการพัฒนาการงานด้านดูแลผู้สูงวัย สิ่งท้าทายที่กำลังเผชิญ และเป้าหมายในอนาคต ทั้งนี้ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ ไจก้า ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในการส่งเสริมการพัฒนาระบบดูและประชากรผู้สูงอายุในประเทศเหล่านี้ โดยถอดบทเรียนจากประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าร่วมให้ทัศนะด้วย
“ปัญหาเรื่องประชากรสูงอายุ ไม่ใช่ปรากฎการณ์ที่มักจะเกิดกับประเทศที่มีรายได้สูงเท่านั้นอีกต่อไปแล้ว ดังจะเห็นได้จากแนวโน้มที่ว่าภูมิภาคเอเซีย และลาตินอเมริกากำลังกำลังเป็นกลุ่มประเทศที่มีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเร็วกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ในโลก” นายนาโอยูกิ โกบายาชิ ผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโส แผนกการพัฒนามนุษย์ ไจก้า กล่าว
อีกทั้งการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในเบื้องต้นเพียงอย่างเดียวก็จะไม่เพียงพอในระยะยาว ดังจะเห็นได้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในที่สุดแล้วก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการบูรณาการระบบการดูแลสุขภาพ กับระบบการดูแลทางสังคมเข้าด้วยกันเป็นระบบการดูแลประชากรสูงวัยที่ยั่งยืนในระยะยาว
ด้าน นายชินทาโร นากามูระ ที่ปรึกษาอาวุโส ด้านประกันสังคม ไจก้า กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ ญี่ปุ่นได้เข้าสู่สภาวะ “สุดยอดสังคมสูงวัย” แล้ว ทำให้ต้องเดินเครื่องระบบดูแลสุขภาพระยะยาวที่มีชุมชนเป็นแกนหลักอย่างเต็มสูบ ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็มีอีกภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การถ่ายทอดประสบการณ์ตัวเองไปสู่อีกหลายประเทศที่กำลังเริ่มเผชิญปัญหาสังคมผู้สูงอายุ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนให้ประเทศเหล่านั้นพัฒนาระบบที่เข้ากับบริบทของตัวเอง
สำหรับประสบการณ์ที่ผ่านมาของประเทศญี่ปุ่นเองนั้นกว่าจะมาถึงจุดปัจจุบันนี้ได้ ก็ผ่านประสบการณ์ที่ขมขื่นมาก่อนเช่นกัน กล่าวคือในช่วงที่ประเทศมีประชากรผู้สูงอายุพุ่งขึ้นสูง 2 เท่าตัวในระหว่าง พ.ศ.2513 ถึง พ.ศ.2533 มีประชากรผู้สูงวัยในญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก ที่ขาดการดูแล ทำให้ต้องอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน ทั้งที่จริง ๆ แล้วโรงพยาบาลก็ไม่ใช่สถานที่ที่มีความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุแต่อย่างใดเลย เนื่องจากไม่มีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมเรื่องการดูแลผู้สูงอายุมาโดยเฉพาะ สุดท้ายผู้สูงอายุเหล่านั้นก็ตกอยู่ในสภาพเป็นผู้ป่วยนอนติดเตียงในโรงพยาบาลไป
“ผู้สูงอายุไม่ได้ต้องการแค่การดูแลสุขภาพพื้นฐาน คนเหล่านั้นยังต้องการสังคม บางครั้งหลงทางหายไป ก็จำเป็นต้องมีคนตามหา” นาย ชินทาโร
จากที่ไจก้าร่วมทำงานร่วมกับประเทศไทยด้านผู้สูงอายุมาหลายปี พบว่าประเทศไทยมีความเข้มแข็งเรื่องกำลังหนุนจากชุมชนมาก ดังจะเห็นได้จากที่มีจำนวน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีมากถึง 1 ล้านคนทั่วประเทศ และปัจจุบันนี้ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวให้ครบวงจรมากขึ้น และให้มีการสอดรับกันระหว่างหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมากขึ้นด้วย
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวว่า อสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องถิ่นมีความสำคัญต่อระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงวัยในชุมชนที่ประเทศไทยกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาก จึงจัดมีการพัฒนาศักยภาพคนเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง กล่าวคือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องถิ่นได้รับการพัฒนาศักยภาพให้เป็นผู้จัดการการดูแลประชากรสูงอายุในตัว ขณะที่ อสม.มีการพัฒนาศักยภาพให้เป็นผู้ให้การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเป็นหลัก มีการแก้ไขระเบียบทางการเงินการคลังเพื่อให้เบิกจ่ายค่าตอบแทนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้เหมาะสมมากขึ้น
เมื่อปี พ.ศ.2559 ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีปัญหาในกลุ่มโรคความจำเสื่อมอยู่ประมาณ 617,000 คน ทั้งนี้คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2580 จำนวนผู้ป่วยโรคความจำเสื่อม จะเพิ่มมากขึ้นไปอีกเท่าตัว
แพทย์หญิงชิโรมิ มาดูวากี ที่ปรึกษาด้านเวชศาสตร์ชุมชนและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข หน่วยเยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ กระทรวงสาธารณสุข ประเทศศรีลังกา เล่าถึงสถานการณ์ประชากรผู้สูงอายุในประเทศว่า ด้วยเพราะประชากรผู้สูงอายุศรีลังมากถึง 79% อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล จึงนับเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากในการที่จะทำให้คนเหล่านี้เข้าถึงระบบการดูแลอย่างถ้วนหน้า ทั้งนี้หัวใจสำคัญในการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุในศรีลังกา ประการหนึ่งที่ทำแล้วประสบความสำเร็จด้วยดีคือ การพัฒนาระบบฝึกอบรมผู้ให้การดูแลผู้สูงอายุในระดับอาชีวศึกษาในระดับชาติ ซึ่งช่วยให้มั่นใจได้ว่าผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมมีคุณภาพเพียงพอที่จำไปทำงานในท้องถิ่นได้
ก้าวต่อไปของศรีลังกาในงานด้านนี้คือ การสนับสนุนบทบาทของผู้ดูแลผู้สูงอายุที่ไม่จำเป็นต้องรับการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการ หรือในอีกนัยหนึ่งคือคนที่อยู่ร่วมในชุมชนเดียวกันนั่นเอง ซึ่งศรีลังกามองว่าคนในชุมชนเดียวกันนี่เองจะเป็นกลไกหลักในการสร้างความยั่งยืนให้กับระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง
นายแพทย์หลุยส์ มิเกล กูเทียเรซ โรเบลโด ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุแห่งชาติ ประเทศเม็กซิโก กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้สูงอายุในประเทศเพียงแค่ไม่ถึง 1% ที่อยู่ในการดูแลของสถาบันเฉพาะด้าน ที่เหลือไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม ทำให้ราว 60% ของผู้สูงอายุที่ขาดการดูแลเหล่านี้ ตกอยู่ในสภาพพิการอย่างหนัก ทำให้ตอนนี้ เม็กซิโกกำลังผลักดันให้มีการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุแห่งชาติขึ้น ซึ่งอยู่ในระหว่างหาแรงหนุนและแนวร่วมจากฝ่ายการเมืองในการขับเคลื่อนแนวทางนี้ ระบบที่ว่านี้จะมีลักษณะเป็นการบูรณาการเอาระบบการดูแลสุขภาพและระบบบริการทางสังคมเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว
ด้าน กลาดิส กอนซาเลส อัลวาเรซ ผู้อำนวยการแผนกบริการสังคม สำนักงานบริการแห่งชาติเพื่อผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและครอบครัว ประเทศชิลี เปิดเผยถึงข้อมูลที่น่าเศร้าเกี่ยวกับสภาพปัญหาประชากรผู้สูงอายุในชิลีว่า ผู้สูงอายุชิลีมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในทุกกลุ่มอายุประชากร กล่าวคือ 13.6 คนต่อทุก 100,000 ประชากร และปัจจัยหลักเชื่อว่ามาจากเรื่องความรู้สึกเดียวดายและขาดการสนับสนุนทางสังคม ปัจจุบันสำนักบริการแห่งชาติเพื่อผู้สูงอายุ ชิลี จึงมุ่งเน้นในการส่งเสริมให้คนสูงวัยเหล่านี้ สามารถดูแลตัวเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมให้มากขึ้นด้วย
- 132 views