‘หมอธีระวัฒน์’ วิเคราะห์ 6 ข้อกังวลไวรัสอู่ฮั่น ชี้ไวรัสปรับเปลี่ยนรหัสพันธุกรรม มีวิวัฒนาการ ตอนแรกเกิดจากสัตว์สู่คน ต่อมาสามารถติดต่อจากคนสู่คน ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติ ต้องระวังให้มาก และรายงานผู้ป่วยอาจมีมากกว่าที่เห็นตามข่าว เนื่องจากคนที่ออกไปประเทศอื่นอาจไม่มีอาการมาก และไม่ได้รับการตรวจ

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่พบในหลายประเทศ ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นพบว่าเชื้อไวรัสโคโรนาออกมาจากอู่ฮั่น และไปเมืองอื่น ๆ ของจีน และยังไปประเทศอื่น ๆ อีก ดังนั้น วิเคราะห์ได้ว่า

1.รายงานผู้ป่วยอาจมีมากกว่าที่เห็นตามข่าว เนื่องจากคนที่ออกไปประเทศอื่นอาจไม่มีอาการมากและไม่ได้รับการตรวจ ดังนั้น ขณะนี้ก็อาจไปทั่วโลกแล้ว

2.เป็นการติดเชื้อจากคนสู่คน

3.ความยากลำบาก อยู่ที่ระยะฟักตัว ตั้งแต่รับเชื้อจนถึงมีอาการระยะเวลา 2-10 วัน ไม่มีทางทราบว่า จะมีช่วงเวลานานเท่าไหร่ที่สามารถปล่อยเชื้อได้ก่อนมีอาการ

4.การคัดกรองที่ด่านเข้าประเทศ ถึงแม้จะทำอย่างรัดกุม แต่ก็ต้องยอมรับว่า ระยะฟักตัวเป็นไปได้นาน ดังนั้น ที่ด่านอาจไม่มีอาการ แต่มาแสดงอาการตอนเข้าประเทศแล้วก็ได้ เมื่อมีอาการไอจามร่วมอยู่ด้วยก็เป็นช่วงที่แพร่เชื้อได้มาก

5.ต้องรอเวลาว่า เมื่อไหร่จะพบคนไทยที่มีการติดเชื้อและมีอาการโดยไม่ได้ไปต่างประเทศ หรือไม่ได้ไปสัมผัสกับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งขณะนั้นเชื้อตั้งตัวในคนไทยได้แล้ว ส่วนกรณีหญิงคนไทยอายุ 73 ปีที่อยู่นครปฐม ไปที่อู่ฮั่น แต่ไม่พบการสัมผัสสัตว์ จึงเป็นไปได้ว่าจะติดจากคนสู่คน อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันยังไม่พบการระบาดในไทย แต่ก็ไม่ใช่ว่า เป็นไปไม่ได้

“ปัจจุบันสัดส่วนของคนที่มีอาการหนัก ซึ่งแบ่งเป็นระดับธรรมดา ระดับรุนแรง และระดับวิกฤต เทียบกับอาการธรรมดา เรายังไม่ทราบจำนวนแน่นอน เพราะฉะนั้น ข้อมูลที่เราได้จากประเทศจีน จึงดูค่อนข้างจำกัด อย่าง 2 วันที่แล้วมีผู้เสียชีวิต 9 ราย แต่ล่าสุดเช้าวันนี้มีผู้เสียชีวิต 17 ราย เราจึงบอกไม่ได้เลยว่า สัดส่วนตรงนี้เป็นอย่างไร และ 6. ไวรัสตัวนี้ยังพบว่ามีการปรับเปลี่ยนรหัสพันธุกรรม มีวิวัฒนาการได้ด้วย จึงจำเป็นต้องตรวจสอบไวรัสที่พบในคนระยะเริ่มแรกของการระบาดที่อาการไม่มาก เพื่อนำมาเทียบกับไวรัสที่ทำให้มีอาการมาก พร้อมกันนั้น ก็ต้องดูปัจจัยว่า คนที่มีอาการมาก ตกอยู่ในกลุ่มอะไร เช่น เด็ก อายุมาก หรือมีโรคประจำตัวอย่างอื่น ซึ่งข้อมูลเท่าที่ทราบกลุ่มที่มีอาการหลังรับเชื้อได้ตั้งแต่อายุ 3 ขวบไปจนถึงอายุมาก” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

เมื่อถามว่าการเปรียบเทียบความรุนแรงของตัวเชื้อจะนำมาตรวจสอบอย่างไร ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันเราเอามาตรวจไม่ได้ เพราะอยู่ที่จีน แต่หากมีระบาดในไทยเราก็ต้องดำเนินการอย่างที่บอกไป ซึ่งเราเตรียมพร้อมแล้ว โดยการจะเปรียบเทียบได้นั้น ต้องเปรียบเทียบช่วงต้นของการระบาดกับช่วงหลังจากนั้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่ระบาด เพียงแต่เราต้องเตรียมพร้อมไว้ก่อน การที่เราต้องเตรียมความพร้อมเพราะเชื่อว่าเป็นไปได้ที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งอาจมาจากประเทศไหนก็ได้

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ตอนแรกเกิดจากสัตว์สู่คน ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่ามาจากหนู หรืองู แต่ต้นตอมาจากค้างคาว หลังจากนั้นก็เข้าสู่คนสู่คน จริง ๆ เรื่องนี้ไม่ปกติ เพราะอยู่ ๆ มาถึงคนสู่คน ไวรัสเก่งมากขึ้น ต้องระวังให้มาก ที่สำคัญต้องระวังอาการอื่นด้วย ที่ไม่ใช่แค่ทางเดินหายใจ เช่น อาการทางระบบประสาทโดยอาจมีอาการได้ตั้งแต่ชัก ไม่รู้สึกตัว จากความผิดปกติในเนื้อสมอง กลไกที่เกิดขึ้น อาจอธิบายจากการอักเสบที่เกิดจากไวรัสกระตุ้นและการอักเสบส่งผลทำให้มีความผิดปกติของผนังหลอดเลือดสมองและเซลล์สมองเอง แม้กระทั่งเกิดการอักเสบของเนื้อสมอง

ขอบคุณที่มาจาก PPTV HD36  “6 ข้อกังวลโคโรนาไวรัส” กับความเสี่ยงระบาดไทย?