ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น โรงพยาบาลเป็นสถานที่บำบัดโรคซึ่งเป็นลักษณะสถาบันทางการแพทย์แบบตะวันตกแบบแรกที่ได้จัดตั้งขึ้นในต้นรัชกาลที่ 5 และนำไปสู่การจัดตั้งกรมพยาบาลเพื่อรับผิดชอบงานด้านการรักษาความเจ็บป่วยต่อไป จึงกล่าวได้ว่า การจัดตั้งโรงพยาบาลเป็นจุดเริ่มต้นในการปรับปรุงงานด้านการแพทย์ในรัชกาลที่ 5 โรงพยาบาลที่ตั้งขึ้นนี้ นอกจากโรงพยาบาลในสังกัดกรมพยาบาลแล้ว หน่วยราชการอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นที่จะให้การรักษาพยาบาลในหน่วยงานของตน ก็จัดตั้งโรงพยาบาลของตนขึ้นเป็นเอกเทศ เช่น โรงพยาบาลของกรมกองตระเวนและโรงพยาบาลของกรมทหารบก เป็นต้น ระยะแรกโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่จัดตั้งนี้ ส่วนใหญ่มุ่งที่จะให้ประชาชนหรือข้าราชการในหน่วยงานของตนได้มีสถานที่รักษาพยาบาลเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงว่าจะต้องใช้วิธีการรักษาพยาบาลตามแบบแผนไทยโบราณหรือตามแบบแผนตะวันตก
ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลแห่งแรก
ศิริราชพยาบาลเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่ตั้งขึ้น โดนมีมูลเหตุมาจากการเกิดอหิวาตกโรคระบาดครั้งใหญ่ในพ.ศ. 2424 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯขอแรงพระบรมวงษานุวงศ์และข้าราชการให้จัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นในที่ต่าง ๆ ชั่วคราว โรงพยาบาลเหล่านั้นได้จัดตั้งขึ้นในที่ชุมนุมชนถึง 48 แห่ง เมื่ออหิวาตกโรคสงบแล้ว ทรงมีพระราชปรารภที่จะให้มีโรงพยาบาลประจำท้องที่อย่างถาวรขึ้นต่อไป จึงโปรดเกล้าให้ตั้งคณะกรรมการจัดตั้งโรงพยาบาลขึ้น เรียกว่า “กอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล” ในระหว่างนั้น คณะกรรมการได้ปรึกษากันเห็นว่าการตั้งโรงพยาบาลเป็นเรื่องใหม่ที่พึ่งจะมีขึ้นเป็นครั้งแรก จึงควรตั้งเพียงแห่งเดียวเพื่อจัดการรักษาพยาบาลให้คนทั่วไปมองเห็นคุณประโยชน์เสียก่อน ศิริราชพยาบาลจึงเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกและแห่งเดียวที่ตั้งขึ้นในเวลานั้นพ.ศ. 2430 เริ่มจากสร้างเรือนคนไข้ 4 หลัง รับคนไข้ได้ประมาณ 50 คน เรือนผสมยา 1 หลัง เรือนผู้จัดการ 1 หลัง และโรงครัวอีก 1 หลัง บนที่ดินวังหลังข้างตอนใต้ ฝั่งธนบุรี ในปีเดียวกันได้ขยายการสร้างอาคารและมีตึกหลักแรกในโรงพยาบาลชื่อว่าตึก “วิคตอเรีย” ตามพระนามของพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งประเทศอังกฤษซึ่งเป็นปีของการฉลองครบรอบ 50 ปี การครองราชย์ของพระนาง ต่อมาพระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ทรงบริจาคทรัพย์สร้างตึกคนไข้อีกหลังนามว่าตึก “เสาวภาคย์นารีรัตน์”
เรือนคนไข้เมื่อแรกตั้งศิริราชพยาบาล ขอบคุณภาพจาก MGRonline
โรงพยาบาลริมป้อมมหาไชย
ภายหลังการเปิดโรงพยาบาลศิริราช เมื่อเห็นว่ามีคนนิยมบ้างแล้ว กอมมิตตีจัดการโรงพยาบาลจึงได้จัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่บ้าน จีนดา นายอากร ริมคลองคูพระนครตรงหน้าวังบูรพาภิรมย์ เรียกชื่อในระยะต้นว่าโรงพยาบาลริมป้อมมหาไชย ต่อมาเรียกชื่อว่า “บูรพาพยาบาล” เปิดรับรักษาคนไข้ตั้งแต่เดือน 12 ปีชวด สัมฤทธิศก
โรงพยาบาลคนเสียจริต
หลังจากการจัดตั้งโรงพยาบาลศิริราช กรมพยาบาลได้ดำริที่จะจัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นอีก ประกอบกับได้มีสาเหตุเร่งเร้าให้ต้องเร่งจัดตั้งโรงพยาบาล กล่าวคือ ได้มีผู้ขอส่งคนป่วย “เสียจริต” ไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชอยู่เสมอ จึงมีการก่อสร้างโรงพยาบาลคนเสียจริต โดยได้บ้านเจ้าพยาภักดีภัทรากร(เจ้าสัวเกงซัว)ที่ปากคลองสาน ฝั่งธนบุรีตั้งเป็นโรงพยาบาลเปิดทำการรับคนไข้เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2432 การจัดตั้งโรงพยาบาลในระยะแรกเป็นแต่เพียงนำคนเสียจริตจากที่ต่างๆ คือคนป่วยที่ชาวบ้านนำตัวมาฝากรักษา จากพลตระเวรหรือหัวเมืองหรือกระทรวงมหาดไทยนำมาฝาก หรือคนเสียจริตจากกองมหันตโทษ กองลหุโทษและศาลยุติธรรมนำมาฝากรักษา โรงพยาบาลทำได้เพียงนำคนเสียจริตเหล่านี้ขังไว้ในห้องซึ่งมีลูกกรง คนที่คลั่งอาละวาดก็ถูกต่อยให้สลบแล้วนำกลับไปขังไว้ บางคนก็ถูกล่ามโซ่ตรวน เนื่องจากสภาพการรักษาเช่นนี้ในเวลานั้นเป็นวิธีการปฏิบัติทั่วไป
ภาพถ่ายโรงพยาบาลคนเสียจริตแรกก่อตั้ง ขอบคุณภาพจาก www.somdet.go.th
โรงพยาบาลบางรัก
เกิดจากการที่มีเรือกลไฟอเมริกันเข้ามาจอดที่ท่าน้ำในกรุงเทพฯจำนวนมาก ชาวอเมริกันเหล่านี้รู้สึกว่าควรจะมีสถานที่รักษาความเจ็บป่วยของพวกกลาสีเรือ และชาวต่างประเทศในท้องถิ่น มีโรงพยาบาลตั้งขึ้นเพื่อรักษากลุ่มตนโดยเฉพาะ ดังนั้นหมอเฮย์จึงได้ขออนุญาตใช้บ้านที่ปากถนนสีลมต่อกับถนนเจริญกรุงใกล้ๆกับตลาดบางรักตั้งเป็นโรงพยาบาลขึ้นในลักษณะโรงพยาบาลส่วนตัวมีจุดมุ่งหมายเพื่อรับรักษาชาวต่างประเทศ ต่อมากรมพยาบาลได้โอนมาจัดการเองเรียกว่าโรงพยาบาลบางรัก และหมอเฮย์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหมอประจำโรงพยาบาลเช่นเดิม ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลเลิศสิน
โรงพยาบาลเทพศิรินทร์
ตั้งอยู่ที่ปากถนนหลวง ตรงข้ามวัดเทพศิรินทราวาส โดยอาศัยเรือนไม้สองชั้นที่ได้รับพระราชทานจากงานพระเมรุสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์สำหรับปลุกเป็นที่ทำการและเรือนคนไข้ โรงพยาบาลเทพศิรินทร์ปิดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2445 กรมพยาบาลได้ใช้สถานที่เป็นที่จำหน่ายยาฝรั่งของรัฐบาล ได้โอนเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปให้กับโรงพยาบาลสามเสนซึ่งตั้งขึ้นใหม่ในปีนั้น
โรงพยาบาลสามเสน
เป็นโรงพยาบาลโรงสุดท้ายที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นในกรุงเทพฯ ในพ.ศ. 2445 โดยโอนอุปกรณ์เครื่องใช้ทางการแพทย์จากโรงพยาบาลเทพศิรินทร์ โรงพยาบาลสามเสนตั้งอยู่ระหว่างถนนดวงเดือนนอกตรงปากถนนดาวข่างข้าม โรงพยาบาลนี้นภายหลังก็ได้ยกเลิกไป
กล่าวได้ว่า การดำเนินงานของโรงพยาบาลในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 เจริญเป็นปึกแผ่น ได้มีการขยายจัดตั้งโรงพยาบาลออกไปอีกนอกเหนือจากที่กล่าวถึงข้างต้น เช่น โรงพยาบาลเลี้ยงเด็ก โรงเลี้ยงคนชรา และโรงเรียนหัดวิชาแพทย์ เป็นต้น
เก็บความจาก
ยุวดี ตปนียากร. (2522). วิวัฒนาการของการแพทย์ไทยตั้งแต่สมัยเริ่มต้นจนถึงสิ้นสุดรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- 16351 views