บรรพบุรุษของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวิถีชีวิต และการดำรงชีพ จากยุคเก็บของป่าล่าสัตว์มาสู่ยุคการเกษตร จุดเปลี่ยนสำคัญดังกล่าวนอกจากจะทำให้สังคมมนุษย์มีความมั่นคงด้านอาหาร มีประชากรเพิ่มขึ้น ผู้คนอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านเป็นชุมชนและไม่เคลื่อนย้ายเร่รอน แต่หลักฐานด้านโบราณชีววิทยาจากการศึกษาโครงกระดูกของมนุษย์โบราณในบางพื้นที่ของโลก ยังพบว่าผู้คนมีสุขภาพอนามัยไม่ค่อยดีนัก มีโรคภัยไข้เจ็บและอัตราการตายสูง ผลที่ตามมาในที่สุดที่เห็นได้ชัดในสมัยหลังๆก็คือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและประชากรนำไปสู่ภาวะประชากรแออัด สุขภาพเสื่อมโทรม ทุพโภชนาการและความเป็นอยู่แย่ลงซึ่งยังคงพบเห็นได้ในปัจจุบัน กลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบหรือทุกข์ทรมานมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมคือสตรีและเด็ก

วิถีชีวิตการดำรงชีพด้วยการเกษตรมีผลต่อสุขภาพ

การศึกษาเรื่องสุขอนามัยของผู้คนยุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยช่วงสมัยที่มีการเกษตรอย่างเข้มข้น โดยเป็นการศึกษาด้านโบราณชีววิทยา (bio archaeology) หรือการศึกษาผู้คนจากซากร่างกายที่พบในแหล่งโบราณคดี เพื่อศึกษาว่าวิถีชีวิตการดำรงชีพด้วยการเกษตรมีผลต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างไร โดย ดร. ฌาน ฮาลโครว์ ศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และดร. ธนิก เลิศชาญฤทธ์ ศึกษาในภาคกลาง ได้ค้นพบหลักฐานว่ามนุษย์ตอบสนองและปรับตัวในสังคมเกษตรกรรมค่อนข้างซับซ้อนและแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิภาค ตัวอย่างเช่น จากการศึกษาด้านโบราณชีววิทยาพบว่าทารกและเด็กยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็กในสังคมเกษตรกรรมในดินแดนที่ราบสูงโคราชมีความตึงเครียดทางสรีรวิทยาและเชื้อโรคมากขึ้น หรือการศึกษาวิจัยด้านโบราณชีววิทยาเมื่อไม่นานมานี้ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำมูลตอนบนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยพบว่าในช่วงสมัยเหล็ก (ประมาณ 2,350 ปีมาแล้วจนถึงเมื่อประมาณ 1,500 ปีมาแล้ว) ทารกและเด็กมีอัตราการตายสูงและมีสุขภาพอนามัยค่อนข้างเสื่อมโทรม เด็กเป็นโรคติดเชื้อมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ที่แหล่งโบราณคดีเนินอุโลก แหล่งโบราณคดีโนนบ้านจาก และแหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด พบว่าอัตราการตายของทารกสูงกว่าในสมัยสำริด และยังพบว่าทารกเสียชีวิตในครรภ์มารดาหรือเสียชีวิตก่อนคลอดอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังพบว่าทารกและเด็กที่พบในแหล่งโบราณคดีเมืองเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา มีปัญหาโรคกระดูกพรุนและกะโหลกบางด้วย ส่วนผู้ใหญ่บางคนที่พบในแหล่งโบราณคดีเนินอุโลก อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา มีโรคติดเชื้อด้วย (สันนิษฐานว่าเป็นวัณโรคและโรคเรื้อน)

เชื้อโรคและโรคติดเชื้อจากการทำนาและการค้าข้าว

ปัญหาสุขภาพอนามัยของผู้คนในสมัยเหล็กที่กล่าวมาข้างต้นสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคมครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งการเพาะปลูกข้าวนาดำแบบเข้มข้นและการจัดการน้ำ (เช่น การขุดคูน้ำ การสร้างคันดินเพื่อกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร) สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดเชื้อโรคและโรคติดเชื้อซึ่งมีแหล่งที่มาจากน้ำขัง

หลักฐานโบราณคดีในพื้นที่แถบลุ่มน้ำมูลตอนบนซึ่งสภาพภูมิอากาศค่อนข้างแห้งแล้งบ่งชี้ว่าประชากรในสมัยเหล็กมีมากขึ้นและผู้คนตั้งถิ่นฐานกระจายขยายเป็นวงกว้างในพื้นที่ต่างๆ อย่างไม่เคยพบมาก่อน และดังนั้นจำเป็นต้องปรับตัวในการทำนาดำ เพื่อผลิตอาหารเลี้ยงประชากรให้เพียงพอดังจะเห็นได้จากการขุดคูน้ำและสร้างคันดินขนาดใหญ่บ้าง เล็กบ้าง บางชุมชนมีคูน้ำและคันดิน 2-3 ชั้นเพื่อกักเก็บน้ำสำหรับอุปโภค การเพาะปลูกข้าวอาจจะได้ผลผลิตมากจนมีส่วนเหลือกินเหลือใช้สำหรับนำไปแลกเปลี่ยนสิ่งของอื่นๆ จากชุมชนที่อยู่ห่างไกล จนเกิดเครือข่ายการค้าข้ามภูมิภาค ทำให้เกิดการติดต่อระหว่างกลุ่มประชากร รวมทั้งการอพยพหรือไปมาหาสู่กัน ซึ่งอาจเป็นพาหะนำเชื้อโรคบางอย่างเข้าสู่ชุมชน นอกจากนี้ การสร้างคูน้ำ–คันดิน มีน้ำขัง ก็ทำให้มีเชื้อโรคที่เกิดจากแหล่งน้ำ เช่น พยาธิ ไข้มาลาเรียจากยุงที่วางไข่ในน้ำ สิ่งเหล่านี้มีผลต่อสุขภาพอนามัยของผู้คนในภาพรวม

(ภาพกะโหลกของเด็กที่มีร่องรอยโรคโลหิตจาง สังเกตจากรอยกระดูกพรุนตรงเพดานด้านบนในเบ้าตา จากแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหินใหม่ อายุประมาณ 3,500 ปีมาแล้ว)

เก็บความจาก

ฌาน ฮาลโครว์, ธนิก เลิศชาญฤทธ์. สุขภาพของคนโบราณ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ พฤษภาคม 2560.