อุตสาหกรรมด้านสุขภาพของไต้หวัน เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาเพียงหนึ่งทศวรรษให้หลัง โดย “เทคโนโลยีด้านสุขภาพ” หรือ Medtech เป็นภาคส่วนที่มีการเติบโตเร็วที่สุด
คาดการณ์ว่าภายในปี 2024 ภาคส่วนเทคโนโลยีด้านสุขภาพของไต้หวันจะทำเม็ดเงินมากกว่า 595,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 18 ล้านล้านบาท) นอกจากนี้ ไต้หวันยังเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของชาวต่างชาติ ผู้ต้องการเสาะหาบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและราคาไม่แพงนัก
ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในไต้หวัน ใช่ว่าจะเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ แต่เกิดจากการวางแผนอย่างดี โดยผู้เล่นสำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล บริษัทเอกชน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย เพื่อส่งเสริมการบริการทางการแพทย์และพัฒนาเทคโนโลยีด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
ทั้งหมดนั้น มุ่งหวังว่าจะสร้าง “อัศจรรย์การแพทย์แห่งไต้หวัน (Taiwan Medical Miracle)” ในทศวรรษที่ 21 อย่างที่ไต้หวันสร้าง “อัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ” เมื่อ 40 ปีก่อนหน้านี้ จนทำให้ไต้หวันขึ้นแท่นผู้นำด้านเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพของโลก
ดัน “อุตสาหกรรมสุขภาพไต้หวัน” สู่ตลาดโลก
ในช่วงทศวรรษ 1950-1980 ไต้หวันได้รับสมญานาม “สี่เสือแห่งเอเชีย” จากการสร้างปรากฏการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในภาคการส่งออกที่มีอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นหัวเรือหลัก
อย่างไรก็ดี ไต้หวันต้องพบกับคู่แข่งจากประเทศตลาดเกิดใหม่ภายหลังทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เช่น จีนและเวียดนาม ซึ่งมีต้นทุนการผลิตและค่าแรงที่ถูกกว่า ขณะที่ค่าแรงและความสามารถในการแข่งขันของประชากรชาวไต้หวันก็เพิ่มสูงขึ้น อันเป็นผลพวงจากการพัฒนาเศรษฐกิจ และการทำนโยบายกระจายการศึกษาและสวัสดิการถ้วนหน้าของรัฐ การพึ่งพาอุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้นจึงมิใช่ทางออกอีกต่อไป
รัฐบาลไต้หวันจึงหันมาส่งเสริมภาคการเงิน ภาคบริการ นวัตกรรมและการวิจัย โดยควบรวมภาคสุขภาพ อันมีผู้เล่นเดิมที่มีความเข้มแข็งและความเชี่ยวชาญ ได้แก่ หนึ่ง หนึ่ง คือ โรงพยาบาลรัฐและเอกชน มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศมาอย่างยาวนาน มีจำนวนโรงพยาบาลเอกชนเทียบเป็นสัดส่วนส่วนร้อยละ 70 ของโรงพยาบาลทั้งหมด
สอง คือ มหาวิทยาลัยและสถาบันด้านการวิจัย มีทรัพยากรบุคลากรที่ผลิตงานศึกษาและการทดลองด้านการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง และสาม คือ ภาคเอกชนรายใหญ่ถึงรายเล็ก มีเงินทุนและความเชี่ยวชาญด้านการผลิตนวัตกรรม โดยรัฐบาลทำหน้าที่เป็นตัวกลางสนับสนุนด้านนโยบายและงบประมาณการวิจัย แต่ก็กำหนดจุดยืนชัดเจนว่ามิได้เข้าข้างกลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่ง หรือสถาบันใดสถาบันหนึ่ง
Ming-Yen Wu เลขาธิการสมาคมโรงพยาบาลและคลีนิคเอกชนแห่งไต้หวัน (Taiwan Nongovernmental Hospitals and Clinics Association) เล่าว่า นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านสุขภาพเริ่มต้นอย่างจริงจังในปี 2007 โดยรัฐบาลคลอดแผนปฏิบัติการในปี 2010 ตามด้วยการตั้งพื้นที่ “เขตเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมด้านสุขภาพนานาชาติ” ในอีก 3 ปีถัดมา
นอกจากนี้ รัฐบาลไต้หวันยังริเริ่ม “นโยบายมุ่งสู่ใต้ใหม่ (New Southbound Policy)” ในปี 2016 เน้นสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ครอบคลุมด้านการค้า การลงทุน และวัฒนธรรมหลากหลายมิติ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือด้านการแพทย์ระหว่างโรงพยาบาลและผู้ประกอบการข้ามพรมแดนและยังส่งเสริมให้ชาวต่างชาติหันมาใช้บริการด้านการแพทย์ในไต้หวัน
การพัฒนานาอุตสาหกรรมด้านสุขภาพของรัฐบาลไต้หวันยังคงรักษาอัตลักษณ์ของ “สูตรการพัฒนา” ที่เคยสร้างอัศจรรย์ไว้เมื่อ 4 ทศวรรษก่อน นั่นคือ การเชื่อมโยงเครือข่ายจากทุกภาคส่วน แล้วส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนทรัพยากรและถ่ายเทความรู้ระหว่างกัน การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านสุขภาพจึงเป็นไปอย่างรวดเร็วและตรงเป้าหมาย
เป็นรูปแบบที่เรียกกันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ว่า “โมเดลแบ่งสรรการเติบโต (Shared Growth Model)” คือรูปแบบการพัฒนาเน้นหลักการ 3 ข้อ คือ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รักษาเสถียรภาพทางการเงิน และการกระจายรายได้สู่ประชาชนและผู้ประกอบการรายเล็ก
ความสำเร็จด้านอุตสาหกรรรมสุขภาพ สะท้อนผ่านการจัดลำดับประเทศที่มีระบบสุขภาพดีที่สุดของนิตยสารด้านธุรกิจ CEOWORLD ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ไต้หวันขึ้นแท่นอันดับ 1 จาก 89 ประเทศที่ โดยได้รับคะแนนสูงสุดในด้านความพร้อมของรัฐบาลในการทำนโยบายสุขภาพ โครงสร้างพื้นฐานที่ครบครัน และราคาบริการที่มีเหตุมีผล ขณะที่การลำดับของ HSBC Expat Explore 2014 ยกให้ไต้หวันยืนหนึ่งในเรื่องระบบสุขภาพ โดยเฉพาะในด้านคุณภาพและราคาบริการ
สูตรการพัฒนาดังกล่าวยังสะท้อนผ่านการจัดงานแสดง Healthcare Expo Taiwan 2019 ระหว่างวันที่ 5-8 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยองคาพยพด้านสายงานสุขภาพต่างเข็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางด้านสุขภาพของตนเองมาจัดแสดงในใจกลางกรุงไทเป ล้วนแล้วเป็นผลงานที่พัฒนาโดยโรงพยาบาล บริษัทเอกชนและสถาบันวิจัยสัญชาติไต้หวัน นอกจากนี้ งานแสดงยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างเครือข่ายเพื่อการพัฒนาทางการแพทย์ระหว่างภาคเอกชนและสถาบันวิจัยในอนาคตข้างหน้า
ชูอุตสาหกรรมไอซีที “หัวหอก” ขับเคลื่อนเทคโนโลยีสุขภาพ
รายงาน Global Competitiveness Report 2019 จัดทำโดย World Economic Forum ยกย่องให้ไต้หวันเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจเป็นอันดับ 1 ของโลก และมีศักยภาพด้านการผลิตนวัตกรรมเป็นอันดับ 4
“ระบบสุขภาพของเราใช้ประโยชน์จาก Big data ในการพัฒนาระบบบริการ เรามีโครงสร้างพื้นฐานพร้อม มีศักยภาพด้านวิจัยสูง นอกจากนี้ เรายังมีภาคอุตสาหกรรมไอซีที (Information and Communication Technology : ICT) ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพ ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาล ทำให้เราพัฒนาเทคโนโลยีเอไอ (ปัญญาประดิษฐ์) ที่เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา” Pan Chyr-Yang คณบดีวิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน กล่าวระหว่างเวทีเปิดงาน Healthcare Expo Taiwan 2019
“ที่ผ่านมา ไต้หวันมีความสามารถด้านการผลิตเทคโนโลยี เช่น Semiconductor (สารกึ่งตัวนำใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์) ผลิตได้ร้อยละ 20-25 ของการผลิตระดับโลก และ Sequencing chips (เทคโนโลยีการตรวจหายีน) ผลิตได้ร้อยละ 20 การพัฒนาเทคโนโลยี นี่เป็นอานิสงค์จากภาคธุรกิจที่ทำให้เทคโนโลยีมีราคาถูกลง สามารถเข้าถึงได้โดยคนทั่วไป ดังนั้น รัฐบาลควรทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน และกำหนดระเบียบข้อปฏิบัติสำหรับภาคอุตสาหกรรมอย่างเหมาะสม”
ในระยะหลัง บริษัทด้านไอซีทีสัญชาติไต้หวันเริ่มขยับขยายธุรกิจเข้ามาในตลาดสุขภาพ เช่น บริษัท Acer, Asus, Foxconn และ Compal หันมาพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์สุขภาพเคลื่อนที่ เช่น เครื่องมือสื่อสารการแพทย์ทางไกล อุปกรณ์ด้านสุขภาพที่เชื่อมโยงอินเตอร์เน็ต (เช่น แอปพลิเคชันจัดการดูแลสุขภาพและบริการผู้ป่วย) และอุปกรณ์ไอทีสวมใส่ (เช่น นาฬิกาตรวจจับข้อมูลการออกกำลังกาย)
ขณะที่บริษัทอย่าง BenQ, Qisda, RITEK และ Delta เริ่มวิจัยและทดลองผลิตเครื่องมือทางการแพทย์และชิ้นส่วนประกอบ บริษัท Wistron ซึ่งเป็นผู้รับประกอบมือถือ iPhone ก็กระโดดเข้ามาเล่นในตลาดสุขภาพเช่นกัน โดยนำเสนอเทคโนโลยีไอซีทีและเอไอที่ใช้ตรวจโรคและจัดการข้อมูลในโรงพยาบาล
“อุตสาหกรรมไอซีทีเป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสุขภาพของไต้หวัน” Pan Chyr-Yang ย้ำ
เขายังเสนอว่าไต้หวันมีศักยภาพที่จะพัฒนาตลาดกลุ่ม “สุขภาพเจาะจง (Precision Health)” คือบริการและเทคโนโลยีที่เน้นส่งเสริมและป้องกันโรคเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเจ็บป่วยในอนาคต บริษัทเอกชนจำนวนหนึ่งในไต้หวันเริ่มเข้ามาจับตลาดด้านนี้ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีใช้ตรวจสุขภาพ สามารถทำนายโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตบางบริษัทเน้นทำผลิตภัณฑ์อาหารเสริม หรือทำธุรกิจด้านความงามและการดูแลสุขภาพ
สำหรับตลาดหลักของกลุ่มสุขภาพเจาะจง คือประเทศกลุ่มโออีซีดี (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) ซึ่งใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้า บริการ และเทคโนโลยีด้านนี้สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยคาดว่าจะทำเม็ดเงิน 8.7 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 หรือเทียบเท่า 264 ล้านล้านบาท
R&D “หัวใจ” สู่ความสำเร็จ
หัวใจของนโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ คือ การเพิ่มศักยภาพด้านการทำวิจัยและการพัฒนา (Research and Development : R&D) ของโรงพยาบาลและสถาบันวิจัยสัญชาติไต้หวัน
ในปี 1999 กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการแห่งไต้หวัน ร่วมกับกลุ่มสมาคมด้านการแพทย์และโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน ได้ก่อตั้งคณะกรรมมาธิการร่วมแห่งไต้หวัน (Joint Commission of Taiwan : JCT) เพื่อทำหน้าที่รับรองคุณภาพโรงพยาบาล และยังเป็นพื้นที่กลางเชื่อมเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับสายงานสุขภาพในการแลกเปลี่ยนความรู้และทรัพยากร โดยในช่วงหลัง ได้หันมาส่งเสริมงานวิจัยเทคโนโลยี “Smart Health”
คณะกรรมาธิการฯ ยังจัดการแข่งขันคิดค้นเทคโนโลยีโดยให้พื้นที่กับนักวิจัยจากสถาบันขนาดเล็กในการส่งผลงานเข้าประกวด มีผลงานวิจัยที่ได้รับความสนใจเมื่อเร็ว ๆ นี้ เช่น ซอฟต์แวร์จำลองสถานการสำหรับนักศึกษาแพทย์ ที่จะได้ฝึกหัดการตัดสินใจให้การรักษาผู้ป่วยในกรณีที่แตกต่างกันไป ซอฟต์แวร์ดังกล่าวคิดค้นขึ้นโดยสถาบันแลนด์ซีด (LANDSEED Asia Academy)
อีกผลงานที่ถูกกล่าวถึง คือ แอปพลิเคชันบนมือถือชื่อว่า AiGiA คิดค้นโดยนักวิจัยในมหาวิทยาลัยแห่งชาติหยางหมิง (National Yang-Ming University) เพื่อแก้ปัญหาการทิ้งยาโดยไม่จำเป็น โดยผู้ใช้แอปพลิเคชันที่มียาเหลือใช้ แต่ไม่สามารถระบุสรรพคุณของยา อาจเพราะเก็บยาไว้นานจนลืม หรือทำฉลากยาหาย สามารถถ่ายรูปยา แล้วส่งให้ผู้เชี่ยวชาญบ่งชี้สรรพคุณผ่านแอปพลิเคชัน
ทางด้านโรงพยาบาลรัฐเองก็กระโดดลงแข่งขันกับโรงพยาบาลเอกชนในตลาดด้านสุขภาพเช่นกัน โดยเน้นที่การผลิตงานวิจัยและพัฒนาวิธีการรักษา รวมทั้งเปิดกว้างที่จะรับผู้ป่วยชาวต่างชาติเข้ามาไว้ในการดูแล
“ในด้านงบประมาณ เราได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลในการทำวิจัย แต่เราก็สามารถหารายได้เองจากผู้ป่วยที่ต้องการบริการเพิ่มเติม หรือผู้ป่วยชาวต่างชาติ” Cheng Shu-Meng อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ และรองผู้อำนวยการโรงพยาบาล Tri Service General Hospital กล่าวกับ Hfocus
“งบประมาณที่เราหาได้เองก็นำมาสนับสนุนให้พนักงานทำงานวิจัยเช่นกัน พนักงานสามารถเสนอโครงการวิจัยมาที่ผู้บริหารโรงพยาบาล ดังนั้น งบประมาณไม่ใช่ปัญหาสำหรับเรา พนักงานต่างหากที่สำคัญกว่า เราจะทำยังไงให้เขาอยู่กับเราไปนาน ๆ เพื่อที่เขาจะได้พัฒนาตัวเอง มีเส้นทางอาชีพที่ก้าวหน้า เราจึงสนับสนุนให้พวกเขาให้คิดค้นงานวิจัยใหม่ ๆ”
Tri Service General Hospital เป็นโรงพยาบาลรัฐในกรุงไทเป ก่อตั้งขึ้นในปี 1946 เดิมทีมีจุดประสงค์เพื่อรักษาพยาบาลข้าราชการทหาร เมื่อเงื่อนไขทางการเมืองและสังคมเปลี่ยนแปลงไป โรงพยาบาลจึงหันมาเน้นการรักษาพลเมืองเป็นหลัก มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคด้านรักษาโรคหัวใจ การตัดเนื้อมะเร็งออกจากช่องท้องด้วยการส่องกล้อง รวมทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 3D printing ในการผลิตชิ้นส่วนอวัยวะเทียม นอกจากนี้ แพทย์ยังสามารถผลิตงานวิจัยออกมามากกว่า 600 ชิ้น
ในเดือน ธ.ค. 2018 เมื่อรัฐบาลไต้หวันออกกฎหมายรับรองการรักษาด้วยวิธีเซลล์บำบัด โรงพยาบาลไม่รีรอที่จะเปิดศูนย์เซลล์บำบัดเป็นแห่งแรกในไต้หวัน เพื่อเปิดประตูสู่ตลาดสุขภาพนานาชาติ โดยในหลายประเทศยังขาดแคลนงานวิจัยด้านเซลล์บำบัดและไม่มีบริการด้านนี้
“ผมเห็นว่าโรงพยาบาลเป็นพื้นที่สำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี โดยที่ผ่านมา แต่ละโรงพยาบาลได้ทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี” Jin-Pyng Wang ผู้ก่อตั้ง Institute for Biotechnology and Medicine industry และนักการเมืองแห่งพรรคก๊กมินตั๋ง กล่าวบนเวทีเปิดงาน Healthcare Expo Taiwan 2019
“โรงพยาบาลยังทำงานวิจัยร่วมกับโรงเรียนแพทย์และบริษัทเอกชน เช่น บริษัท Quanta, Foxconn และ Acer ผมยังอยากขอให้รัฐบาลสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เราสามารถดึงทรัพยากรที่พวกเขามีมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพในไต้หวันให้ดียิ่งขึ้น”
พัฒนาระบบสุขภาพ ทั้ง “ห่วงโซ่การผลิต”
คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดข้อถกเถียงว่า การทำนโยบายชูอุตสาหกรรมสุขภาพจะกระทบกับประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลของพลเมืองชาวไต้หวันหรือไม่ เมื่อทรัพยากรส่วนหนึ่งต้องถูกขนถ่ายมาผลิตเทคโนโลยีเพื่อรองรับตลาดโลก และรองรับผู้ป่วยชาวต่างชาติ
ข้อมูลจากสมาคมโรงพยาบาลและคลีนิคเอกชนแห่งไต้หวัน ระบุว่าในระหว่างปี 2008-2018 โรงพยาบาลในไต้หวันรับชาวต่างชาติในแผนกผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจาก 63,388 คน เป็น 323,156 คน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2,030 ล้านดอลลาร์ไต้หวันใหม่ (ประมาณ 2,018 ล้านบาท) เพิ่มเป็น 17,140 ล้านดอลลาร์ไต้หวันใหม่ (ประมาณ 17,000 ล้านบาท)
ผู้ป่วยมาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 37.40 ของผู้ป่วยชาวต่างชาติทั้งหมด รองลงมาคือจีนแผ่นดินใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 32.24
ในมุมของผู้บริหารโรงพยาบาล สัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติยังถือว่าไม่สูงนัก หากเทียบกับประชากรของไต้หวันทั้งประเทศที่มีมากกว่า 23 ล้านคน ซึ่งส่วนมากอยู่ภายใต้ภายใต้ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Insurance) จึงเชื่อมั่นว่ายังสามารถผลักดันอุตสาหกรรมด้านสุขภาพโดยที่ไม่กระทบกับพลเมือง
Shin Kong Wu Ho-Su Memorial Hospital เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเอกชนในกรุงไทเป ที่กระโจนเข้าสู่ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical tourism) โดยมีชาวต่างชาติมาใช้บริการที่โรงพยาบาลประมาณ 3,000 คน/ปี
อย่างไรก็ดี ยังสามารถเห็นพลเมืองชาวไต้หวัน รวมทั้งคนจน เดินเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐ โดยโรงพยาบาลจัดแบ่งสัดส่วนพื้นที่สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องการเสียเงินค่ารักษาเอง กับผู้ป่วยที่มารักษาด้วยสวัสดิการแห่งรัฐ โดยคุณภาพการรักษาและเครื่องมือการแพทย์ของทั้ง 2 พื้นที่มิได้แตกต่างกันมากนัก
Nestralda Jorgensen ผู้ป่วยโรคมะเร็งจากประเทศพาเลา หมู่เกาะในมหาสมุทรเอเชียแปซิฟิค เล่ากับ Hfocus ว่า เธอถูกส่งต่อจากโรงพยาบาลท้องถิ่นในพาเลา มารักษาที่โรงพยาบาล Shin Kong นานกว่า 6 เดือน โดยรัฐบาลพาเลาเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเกือบทั้งหมด นี่เป็นอานิสงค์จากข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไต้หวันและพาเลาภายใต้นโยบายการฑูตของไต้หวัน ที่ให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์กับประเทศกำลังพัฒนา
“การรักษาที่นี่มีคุณภาพมาก ในฐานะคนป่วย ฉันบอกได้เลยว่าฉันรู้สึกโชคดีมากที่ไต้หวันเปิดพื้นที่การรักษาให้คนนอกอย่างฉัน โรงพยาบาลที่ประเทศของฉันยังขาดเครื่องมือและแพทย์ที่มีความสามารถในการรักษาโรคยาก ๆ หากฉันยังอยู่ที่นั่น ฉันคงได้แต่นอนรอความตาย”Nestralda เล่า
“ที่สำคัญคือไต้หวันมีความปลอดภัยสูง ฉันสามารถรักษาโรคไปพร้อมกับออกไปเที่ยวข้างนอกได้อย่างไม่ต้องกังวล สภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเยียวยาผู้ป่วย”
“ฉันเชื่อว่าในภาพรวม รัฐบาลยังจัดการได้” Yueh-Ping Liu ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ ให้ความเห็นต่อคำถามถึงสมดุลระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพและการดูแลพลเมือง “ในทางนโยบาย เมื่อเราพูดถึงระบบสุขภาพ เราหมายถึงห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด”
ระบบสุขภาพมิได้หมายถึงแค่การพัฒนาระบบประกันสุขภาพของพลเมืองเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการจัดการห่วงโซ่อุปทานของผู้ประกอบการ ให้สามารถลดต้นทุนการผลิต ทำให้พลเมืองสามารถเข้าถึงการรักษาและเทคโนโลยีที่ราคาไม่แพงมากนัก และยังเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
“ปัจจุบัน เครื่องมือทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ยังต้องนำเข้าจากตะวันตก ซึ่งมีราคาสูงมาก เราจึงพยายามสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพราะเราอยากมีเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เราผลิตเอง ในระยะหลังมีสัญญาณที่ดีจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่เริ่มหันมาใช้สินค้าด้านการแพทย์ที่ผลิตโดยผู้ประกอบการไต้หวัน แต่ยังมีความท้าทาย เพราะบางคนยังมีข้อสงสัยกับคุณภาพของสินค้าเหล่านั้น” Yueh-Ping Liu ให้ความเห็น
อาจกล่าวได้ว่า เส้นทางสู่การสร้างอัศจรรย์ทางการแพทย์ของไต้หวัน วางอยู่บนกรอบโลกาภิวัตน์ที่ไต้หวันเล็งเห็นบทบาทของตนเองในฐานะผู้ดูแลสุขภาพให้กับพลเมืองโลก ในขณะเดียวกัน ก็มุ่งสู่ความเป็นหนึ่งด้านการแพทย์ด้วยสูตรการพัฒนาที่มีลักษณะเฉพาะตัว และเพิ่มโอกาสการอยู่รอดชีวิตให้กับผู้คนโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ
ผู้เขียน : ปริตตา หวังเกียรติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไต้หวันดัน Medical Tourism สุดตัว เปิด รพ.รัฐอ้าแขนรับคนไข้ต่างชาติ
NHI ไต้หวัน ชูการแข่งขันระหว่างโรงพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญแนะใช้ระบบไอซีทีลดการรักษาซ้ำซ้อน
- 515 views