(1)

1 เม.ย. ที่ผ่านมา ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน ประกาศพร้อมช่วยประเทศอื่นทั่วโลก ต่อสู้กับโควิด – 19 ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคหน้ากากอนามัย 10 ล้านชิ้น ให้กับประเทศใดก็แล้วแต่ที่ต้องการ การเพิ่มสายพานการผลิตยาต้านโรคมาลาเรีย เพื่อส่งออก และ การให้ Know How เทคโนโลยีสำหรับการตรวจเชื้อ ไปจนถึงการทำ Contact Tracing หรือสืบหาเส้นทางการระบาดของโรค

ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน

หากประเมินจากตัวเลขผู้ติดเชื้อในวันเดียวกัน ซึ่งอยู่ที่ 329 ราย นั่นหมายความอีกนัยหนึ่งว่า ไต้หวัน สามารถจัดการโควิด – 19 ได้เรียบร้อยแล้ว และกลายเป็นพื้นที่แรกๆ นอกจีน ที่ไม่ต้องกังวลกับปัญหานี้อีกต่อไป ในขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยทั่วโลก กำลังเพิ่มอยู่ในระยะทวีคูณ

คำถามสำคัญก็คือไต้หวัน ดินแดนที่ถูกจีนกีดกัน ไม่ให้แม้แต่สถานะสมาชิกขององค์การอนามัยโลก ทำได้อย่างไร... เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

(2)

กลางเดือน ธ.ค. ไม่กี่วันก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน หน่วยงานควบคุมโรค ภายใต้สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ “มอนิเตอร์” ข่าวเล็กๆ ว่ามีโรคลึกลับเกิดขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน พื้นที่ที่มีชาวไต้หวันทำงานอยู่นับแสนคน และในทางตรงกันข้าม ก็มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เดินทางจากอู่ฮั่น เข้ามายังไทเป และเกาสง เมืองหลักของไต้หวัน ผ่านไฟลท์บินตรงเช่นเดียวกัน

ในช่วงนั้น ยังไม่มีใครรู้ว่าโรคนี้สามารถติดจาก “คนสู่คน” และจะสร้างความเสียหายได้มากขนาดไหน เพียงแต่ไต้หวันนั้นรู้ล่วงหน้าว่า อะไรก็แล้วแต่ที่เกิดขึ้นในจีน ย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะอันตรายกว่าปกติ จากประสบการณ์เดิมที่เคยเผชิญหน้ากับ “โรคซาร์ส” มาแล้วเมื่อปี 17 ปีก่อน

คราวนั้น จีนปิดข่าวเรื่องการระบาดในมณฑลกวางตุ้ง ก่อนโรคซาร์สจะระบาดข้ามไปยังฮ่องกง และข้ามมายังไต้หวัน จนทำให้ทั่วเกาะไต้หวัน มีคนติดเชื้อไปมากกว่า 343 คน มีคนเสียชีวิตไปมากกว่า 73 คน คิดเป็นอัตรากว่า 21% สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

บทเรียนที่เจ็บปวด นำมาซึ่งการปรับปรุงระบบ “ควบคุมโรคติดต่อ” ที่เข้มข้น หน่วยงานด้านสุขภาพของไต้หวันส่งเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขเป็น “สปาย” เข้าไปในอู่ฮั่นตั้งแต่ก่อนที่ทั่วโลกจะรู้ข่าว พร้อมกับยืนยันข้อมูลว่าโรคนี้ น่าจะมีความไม่ชอบมาพากล จากการพยายามปกปิดข้อมูลของเจ้าหน้าที่ในมณฑลหูเป่ย

ไต้หวันเริ่มกระบวนการคัดกรองนักเดินทางทุกคนจากอู่ฮั่น ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. วันเดียวกับที่จีน รายงานว่ามีผู้ป่วย 27 รายด้วยโรคนี้ หลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ถัดมา หน่วยงานควบคุมโรคไต้หวัน ยกระดับไปอีกขั้นด้วยการติดตามย้อนหลังผู้ที่เดินทางมาจากอู่ฮั่นในรอบ 2 สัปดาห์อย่างใกล้ชิด ว่ามีใครมีอาการไข้ หรือไอบ้าง โดยยึดจากอาการของโคโรนาไวรัสข้างเคียงอย่าง ซาร์ส หรือ เมอร์ส เป็นหลัก

เพราะระบบฐานข้อมูลไต้หวันนั้นเชื่อมโยงระหว่างสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงาน NIH ซึ่งจัดการเรื่องสุขภาพโดยตรง เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องยากอะไรสำหรับการมอนิเตอร์

(3)

บทเรียนจากซาร์สอีกเรื่องก็คือ ไต้หวัน มีกฎหมายให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียม “เวชภัณฑ์” จำเป็นสำหรับโรคติดต่อ สเกลเดียวกับ “ซาร์ส” ไว้ล่วงหน้า 30 วัน เพื่อเป็นหลักประกันว่า หากเกิดเหตุสุดวิสัยใดๆ โรงพยาบาลจะสามารถให้บริการ ตรวจผู้ป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจพร้อมกันจำนวนมากได้อย่างเต็มที่

เพราะฉะนั้น โรงพยาบาล จึงไม่มีปัญหาขาดแคลนหน้ากาก ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือต้องรับบริจาคเพิ่มเติม..

ถึงวันที่ 20 ม.ค. วันเดียวกับที่จีนว่าโรคนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ ไต้หวัน ก็ประกาศตั้งศูนย์ Single Command โดยยกระดับให้สามารถเบิกงบฉุกเฉิน มาจัดการกับโรคระบาดนี้ได้เต็มที่ พร้อมทั้งสั่งให้หน่วยงานทหารทั้งหมดเริ่มต้นผลิตหน้ากากอนามัย และวางแผนในการจัดการหน้ากากอนามัย ด้วยรู้ดีว่า หากเกิดการระบาด หน้ากากอนามัยจะขาดแคลนแน่นอน และตามมาด้วยการประกาศยุติการ “ส่งออก” หน้ากากทั้งหมด ภายใน 5 วันถัดมา

พร้อมกับสั่งให้โรงงานผลิตเพิ่มจาก 7 ล้านชิ้น เป็น 8 ล้านชิ้นต่อวัน ประชาชนจะซื้อหน้ากากได้ ต้องมีบัตรประกันสุขภาพเท่านั้น โดย 1 สัปดาห์จะซื้อได้คนละ 3 ชิ้น และสามารถเช็คผ่านแอพพลิเคชันได้ว่า ควรจะไปซื้อที่ไหน กลายเป็นชาติที่ประสบปัญหาการขาดแคลนหน้ากากน้อยมาก..

หลังจากไต้หวัน เริ่มพบผู้ติดเชื้อคนแรกในวันที่ 21 ม.ค. สิ่งที่ไต้หวันทำทันที คือ “แบน” ไม่ให้คนจากอู่ฮั่น เข้าประเทศ ในวันที่ 23 ม.ค. และในช่วงเทศกาลตรุษจีน ไต้หวันก็ประกาศห้ามบริษัททัวร์ พาคนไต้หวันเดินทางเข้าไปยังจีนทันที พร้อมกับบล็อกไม่ให้คนจากจีน เดินทางเข้ามาในไต้หวัน ตั้งแต่ 6 ก.พ. เป็นต้นไป ทั้งที่ “องค์การอนามัยโลก” ประกาศว่า “ไม่เห็นด้วย” กับการจำกัดการเดินทาง และทั้งที่ไต้หวัน ยังมีกิจการจำนวนมาก มีโรงงานอีกหลายแห่งที่ลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่

แต่ในฐานะประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก WHO ไต้หวัน ไม่จำเป็นต้องสนใจคำเตือนใดๆ และในฐานะที่ผ่าน “ซาร์ส” มา ไต้หวันรู้ดีว่า ไม่มีทางเลือกอื่นนอกเหนือไปจากการแบนทุกช่องทางที่เชื่อมต่อกับจีนแล้ว

(4)

กลับมาที่ในประเทศ หลังจากเริ่มมีการติดเชื้อรายแรก และรายต่อๆ มา สิ่งที่รัฐบาลไต้หวันทำคือการติดตามเส้นทางการระบาดอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเปิดเผยในรูปของแผนที่ ให้ประชาชนเข้าไปสืบค้นต้นตอ เส้นทางของโรคแบบ Real Time ด้วยการเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุด ก่อนจะส่งทีมลงไประดมตรวจประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสโรคใกล้ชิด

เพราะจุดเด่นของประเทศนี้ คือมีระบบ Big Data ที่จัดการได้อย่างแม่นยำ และฐานข้อมูลเชื่อมโยงกันทั้งหมด ซึ่งในเวลาต่อมา ไต้หวันก็นำระบบนี้ไปใช้ประโยชน์ในการติดตามตัวผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และขยายต่อมาเป็นผู้ที่เดินทางจาก “ทุกประเทศ” ทั่วโลก

ไต้หวัน เรียกระบบนี้ว่าเป็น “รั้วไฟฟ้า” โดยรัฐบาลจะมอนิเตอร์สัญญาณมือถือของผู้ที่กลับมาจากต่างประเทศ และต้องถูกกักตัวอย่างใกล้ชิดในระยะเวลา 14 วัน หากมีการออกนอกเคหะสถาน ก็จะมี “เสียงเตือน” ส่งตรงไปยังตำรวจ หรือหน่วยงานในท้องที่ ซึ่งรับผิดชอบผู้ที่กักตัวโดยตรงทันที

ทั้งหมดนี้ เป็นนโยบายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนไต้หวันจะ ประกาศปิดเกาะ “แบน” การเดินทางนักท่องเที่ยวทั่วโลก เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ซึ่งนับจากวันนั้น ให้เข้าประเทศได้เพียงชาวไต้หวัน ที่พำนักในประเทศอื่น

แน่นอน หากเข้ามาแล้ว ต้องอยู่ภายใต้ “รั้วไฟฟ้า” อย่างเข้มงวด ไม่มีทางที่จะออกไปใช้ชีวิตร่วมกับคนปกติได้

(5)

ประธานาธิบดีไช่ บอกว่า การรับมือของไต้หวัน เป็นตัวอย่างที่ดีของ “ความยืดหยุ่น” ในการพร้อมรับกับสถานการณ์โรคระบาด และใช้จุดแข็งในการจัดการไวรัสอย่างเต็มที่

ไม่ใช่การบริหารจัดการแบบเดิม แต่เป็นการผสมผสานทั้งเรื่องระบบ “เฝ้าระวัง” โรคติดต่อที่ทันสถานการณ์ ระบบสาธารณสุขที่แข็งแรง เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ บวกกับการบริหารจัดการทรัพยากร โดยยึดเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง เปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุด และไม่เปิดช่องโหว่ ให้ไวรัสเข้ามาโจมตี

ไต้หวัน เกาะเล็กๆ เกาะนี้ ที่ไม่มีแม้กระทั่งสถานะเป็นสมาชิกของ WHO จึงเป็นตัวอย่างให้โลกได้เห็นว่า การบริหารจัดการที่ดี และปัจจัยของความสำเร็จนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

ขอเพียงเตรียมความพร้อม ตั้งการ์ดตลอดเวลา และประเมินถึงสิ่งที่เลวร้ายที่สุดเสมอ ก็จะผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้...

โดย สุภชาติ เล็บนาค

ภาพจาก https://gisanddata.maps.arcgis.com/