กรมอนามัย เผยวัยทำงานป่วยเบาหวาน ความดัน พุ่ง ชูแนวคิดขยับร่างกาย พร้อม ผุด “อาหาร SML” ทางเลือกกินให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย แถมช่วยลดขยะเปียกจากอาหารเหลือทิ้ง นำร่องโรงอาหารกรมอนามัยเป็นต้นแบบมาตรฐานอาหาร 3 ไซส์ S M L
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562 ที่กรมอนามัย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันของกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ทุกหน่วยงานร่วมกันขับเคลื่อนให้ประชาชนสุขภาพดี ในส่วนกรมอนามัยจึงมาต่อยอดสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อ 2 ด้าน คือ 1. ส่งเสริมให้คนออกกำลังกาย มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ และ 2. อาหาร โดยการส่งเสริมให้ประชาชนได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในสัดส่วนที่พอเหมาะกับความต้องการของร่างกาย โดยเริ่มโครงการ Healthy Canteen ที่จัดแบ่งปริมาณอาหารออกเป็นขนาด S M L จัดให้มีเมนูสุขภาพ มีผักผลไม้เป็นทางเลือก มีป้ายแจ้งปริมาณสารอาหารต่าง ๆ และจะมีคิวอาร์โค๊ดเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลสุขภาพได้อีกด้วย โดยโครงการดังกล่าว เริ่มต้นที่โรงอาหารของกรมอนามัยก่อน แล้วค่อย ๆ ขยายไปยังโรงอาหารของกรมต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และทั่วประเทศต่อไป
เมื่อถามถึงการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารเกินความต้องการ โดยเห็นได้จากการรับประทานบุฟเฟ่ต์ ที่ต้องกินให้คุ้ม พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อว่า การรับประทานบุฟเฟ่ต์ก็สามารถทานได้ นาน ๆ ครั้ง แต่เชื่อว่าหากคนได้รับทราบข้อมูลสุขภาพของตัวเองแล้วจะมีการปรับพฤติกรรมของตัวเองได้ เพื่อให้มีสุขภาพดีได้ ทั้งนี้ การส่งเสริมให้คนไทยได้รับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการแล้ว ประโยชน์อีกอย่างที่จะได้จากโครงการนี้ คือการช่วยลดปริมาณขยะเปียกที่เกิดจากอาหารเหลือรับประทานได้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันเราพบว่ามีขณะเปียกจากอาหารเหลือรับประทานมากถึงร้อยละ 70-80 ถือว่าไม่น้อย หากลดตรงนี้ได้จะช่วยลดต้นทุนการประกอบอาหาร และการบริหารจัดการขยะด้วย
ด้าน พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า ประชากรวัยทำงานมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และเป็นเสาหลักของครอบครัว ซึ่งจากข้อมูลทางทะเบียนของกระทรวงมหาดไทย ปี 2561 พบว่ามีคนทำงานอายุ 15-59 ปี 43 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 65 ของประชากรทั้งหมด ส่วนข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขปี 2558 -2562 พบว่าคนอายุ 30-40 ปีมีค่าดัชนีมวลกายปกติร้อยละ 52.5 , 51.4,51.8, 52.8 และ 51.9 ตามลำดับ และข้อมูลสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2557-2558 พบคนไทยอายุ 15 ปี ขึ้นไป มีความชุกของภาวะอ้วน หรือดัชนีมวลกายเกิน 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ร้อยละ 37.5 และพบโรคเบาหวานร้อยละ 8.9 ความดันโลหิตสูง ร้อยละ 24.7 ซึ่งเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม ดังนั้นสำนักโภชนาการจึงขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพวัยทำงานจึงทำอาหาร S M L ขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสมที่เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของตัวเอง
พญ.สายพิณ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ อาหารไซส์ S 1 จานให้พลังงาน 300-400 กิโลแคลอรี่ เหมาะสำหรับผู้ที่มีดัชนีมวลกาย 23.0 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ควรได้รับพลังงาน 1,200-1,400 กิโลแคลอรี่ต่อวัน อาหารไซส์ M 1 จาน ให้พลังงาน 401-500 กิโลแคลอรี่ เหมาะสำหรับผู้ที่มีดัชนีมวลกาย 18.5-22.9 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ควรได้รับพลังงาน 1,600-2,000 กิโลแคลอรี่ต่อวัน ส่วนอาหารไซส์ L 1 จานให้พลังงาน 501-600 กิโลแคลอรี่ เหมาะสำหรับคนผอมที่มีดัชนีมวลกายน้อยกว่า 18.5 กิโลกรัมต่อตารางเมตร เหมาะสำหรับผู้ที่ใช้แรงงานมาก ๆ ที่มีค่าดัชนีมวลกายปกติ 18.5-22.9 กิโลกรัมต่อตารางเมตร เช่น นักกีฬา ควรได้รับพลังงาน 2,500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน
- 68 views