จะบอกให้ว่า วารสารวิชาการในเครือระดับโลกอย่าง Nature และวารสารวิชาการระดับชั้นนำอื่น ๆ ได้มีการตีพิมพ์งานวิจัยมากมายเกี่ยวกับเกษตรปราศจากสารเคมี หรือเกษตรอินทรีย์ โดยมีทั้งด้านบวกและลบ

อย่างไรก็ตาม สังคมเรากำลังถูกปั่นหัวด้วยข้อมูลลวง ไม่รอบด้าน รวมถึงการบิดเบือน จนทำให้คนในสังคมเริ่มแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย เชื่องมงายกับอวิชชา ดังที่เราได้เห็นในเรื่องสารเคมีการเกษตร รวมถึงเรื่องอื่นเช่น สรรพคุณรักษาโรคเว่อร์วังของยาเสพติดบางชนิด

คนที่ดีต้องสู้กันด้วยความจริงและวิชาการที่พิสูจน์ได้

ไม่ตีข่าวหากระแสสังคมมากดดันตามแนวถนัด ปั่นด้วยกิเลส ความกลัว และความโกรธ ป้ายสีคนที่เห็นต่างว่าเป็นคนเลว คอรัปชั่น เป็นพวกนายทุน โดยปราศจากหลักฐานที่พิสูจน์ได้

ความรู้ต่าง ๆ รวมถึงวิชาการด้านการเกษตรมีความก้าวหน้าไปมาก มีข้อมูลที่ชัดเจน

มาลองดูเรื่องปริมาณผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์กันว่า เค้าเคยทำการศึกษาทั่วโลกแล้วสรุปว่าเป็นอย่างไร

ผลดีของการทำเกษตรปราศจากสารเคมีนั้นคือ การช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการสัมผัสสารเคมีทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ตลอดไปจนถึงเรื่องอื่น ๆ เช่น การธำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ และคุณภาพของดินในบริเวณที่ทำเกษตร

อย่างไรก็ตาม หากโฆษณาแต่ข้อดี แต่ปิดบังข้อเสีย ไม่กล่าวถึงผลกระทบทางลบ ก็ไม่ใช่วิสัยที่ควรทำสำหรับคนที่ดีจริง

งานวิจัยทบทวนองค์ความรู้เรื่องนี้ ตีพิมพ์ใน Nature Plants เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016 พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วผลผลิตจากการทำเกษตรอินทรีย์จะน้อยกว่าการทำเกษตรตามระบบปกติราวร้อยละ 8-25

แปลง่าย ๆ คือ บางชนิดจะลดลงราว 1 ใน 10 บางชนิดอาจลดลงถึง 1 ใน 4 ของผลผลิตเดิม

นอกจากนี้จากสถิติการผลิตที่ดีที่สุดเท่าที่พบ ผลผลิตอย่างข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลืองนั้น ปริมาณผลผลิตที่ได้มากที่สุดจากเกษตรอินทรีย์ก็จะลดลงกว่าแบบปกติราวร้อยละ 6-11 ในขณะที่พวกผลไม้ และข้าวสาลีจะลดลงถึงร้อยละ 28 และร้อยละ 27 ตามลำดับ ส่วนพวกพืชผักจะมีปริมาณผลผลิตลดลงกว่าเดิมร้อยละ 33

ยิ่งไปกว่านั้น เราคงเคยได้ยินการปั่นข่าวว่า ทำเกษตรอินทรีย์ ปราศจากสารเคมีแล้วจะกำไรดี เป็นที่ต้องการของทั่วโลก ทำเอาตาลุกวาวกัน จนหารู้ไม่ว่า โลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้เป็นดังโลกในนิยาย

งานศึกษาวิจัยพบว่า การทำเกษตรอินทรีย์จะทำให้ต้นทุนต่อผู้ผลิตหรือเกษตรกรเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 23-27 ซึ่งหากจะทำให้เกิดกำไร ก็คงต้องเลือกว่า ราคาผลผลิตต้องตั้งไว้ในระดับสูงเพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคแบกรับภาระไป หรือรัฐจะต้องหามาตรการช่วยเหลือภาระนี้แก่เกษตรกรและผู้บริโภค

แปลง่าย ๆ ว่า หากบ้าจี้ไร้สารเคมีกันทั้งแผ่นดิน นั่นคือราคาค่างวดของของกินและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องก็ต้องขึ้นไปราวอีกร้อยละ 30 เพื่อให้ผู้ผลิตอย่างเกษตรกรอยู่ได้ดีมีกำไร แต่ใครจะรับภาระเรื่องนี้ก็ว่ากันมา

ถ้าไม่ขึ้นราคาดังที่กล่าวมา ก็แน่นอนว่า เกษตรกรจะขาดทุนแน่นอนหากขายในราคาที่อิงตามระบบการผลิตแบบเดิม

เราจึงไม่แปลกใจ หากกระแสจี้ให้แบนสารเคมีจึงถูกทักท้วง ถามถึงเหตุผล ถามถึงทางเลือก ถามถึงความพร้อมของทุกฝ่าย และถามถึงข้อมูลประเมินผลกระทบที่รอบด้าน

ไม่ใช่แค่อ้างเรื่องสุขภาพที่เป็นผลกระทบจากการใช้สารเคมีอย่างไม่เหมาะสม ใช้สารเคมีแบบโลภมาก ใช้สารเคมีโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนมาตรฐาน ขาดการตรวจสอบกำกับที่ดี

จะแก้ปัญหา ต้องแก้ให้ถูกที่คัน

ไม่ใช่เจอปัญหา ก็หลีกไปสู่ปัญหาใหม่ที่อาจร้ายกว่าเดิม

เห็นอนาคตอันโหดร้ายไหม หากบ้าจี้ตามที่มายุให้แบนสารเคมีให้หมดจากแผ่นดินโดยไม่พิจารณาให้รอบด้าน ไม่มีทางเลือกที่ดีและมีประสิทธิภาพเพียงพอ ไม่สนใจว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นเกิดกับทั้งเกษตรกรและทุกคนในฐานะผู้บริโภคด้วย

Adequate and Safe ต้องพิจารณาควบคู่กันไป และต้องดูด้วยว่าจะเพ้อเจ้อเอาใสสะอาดบริสุทธิ์น่ะมันทำได้จริงไหม หรือทำแล้วคนได้ประโยชน์มีเพียงหยิบมือ แต่คนลำบากกันค่อนแผ่นดิน ขืนทำแบบที่เพ้อเจ้อก็จะยิ่งขยายความเหลื่อมล้ำของสังคมไปเป็นเท่าทวีคูณ และยากที่จะหาทางควบคุมป้องกันและแก้ไข

ขอสนับสนุนคนที่คิดดี ทำดี และไม่มีประโยชน์แอบแฝง

ชีวิตควรตั้งอยู่บนความสมดุล รู้จักคิด รู้จักใช้ และไม่หลงตามกิเลส ความกลัว ความโกรธ ความเชื่องมงาย

ในภาวะสังคมปัจจุบัน เราต้องระวังให้ดี

ด้วยรักต่อทุกคน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ้างอิง

Reganold JP et al. Organic agriculture in the twenty-first century. Nature Plants. 3 February 2016. DOI: 10.1038/NPLANTS.2015.221