การประชุมวิชาการประจำปีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ปี 2562 มอบโล่สมาชิกกิตติมศักดิ์ของราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทยแก่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จากการผลักดันนโยบายงานเวชศาสตร์ครอบครัวและปฐมภูมิเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เผยครบรอบ 20 ปีสร้างแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวกว่า 8,000 คน ดูแลประชาชนระบบปฐมภูมิร่วมทีมสหวิชาชีพ
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ที่โรงแรมอัลมีรอซ กทม. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานประชุมวิชาการ National Conference of Family Medicine ประจำปี 2562 จัดโดยราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย และองค์กรภาคี เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเผยแพร่ผลงานวิชาการของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีมสหวิชาชีพในงานบริการปฐมภูมิ พร้อมมอบหนังสืออนุมัติและวุฒิบัตร สาขาเวชศาสตร์ครอบครัวและประกาศนียบัตรแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดีเด่น
โดยในปีนี้ นพ.สุขุม ได้รับเกียรติเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์และรับมอบโล่สมาชิกกิตติมศักดิ์ของราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย จากการผลักดันนโยบายงานเวชศาสตร์ครอบครัวและปฐมภูมิ ให้ความสำคัญการพัฒนาระบบสุขภาพและกำลังคนปฐมภูมิ เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
นพ.สุขุม กล่าวว่า ตลอด 20 ปีที่ได้มีการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว จนถึงขณะนี้มีแพทย์เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวและแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมได้รับหนังสืออนุมัติแล้วกว่า 8,000 คน กระจายไปดูแลประชาชนทั่วประเทศ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ วิถีชีวิตสังคมยุคใหม่ ความเร่งรีบในการใช้ชีวิตแบบสังคมเมือง ปัญหาสุขภาพที่เปลี่ยนจากโรคติดต่อเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญการดูแลปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิแบบองค์รวม ทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ เป็น “คณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ” ยึดผู้ป่วยและประชาชนเป็นศูนย์กลาง เชื่อมโยงมิติทางการแพทย์และชีวิตของคนไข้เข้าด้วยกัน บูรณาการทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การรักษา และการฟื้นฟูสุขภาพ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจและความฉลาดทางสุขภาพแก่ประชาชน จัดระบบการดูแลต่อเนื่องระยะยาวและการดูแลแบบประคับประคองในระยะสุดท้ายของชีวิตในชุมชน
“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม และพัฒนาต่อมาเป็นพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ ทำให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิและแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบบริการสุขภาพไทยมีคุณภาพ” นพ.สุขุม กล่าว
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2541 เริ่มมีหลักสูตรการอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine: FM) อย่างเป็นทางการในประเทศไทยโดยแพทยสภาอนุมัติ แทนการอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชปฏิบัติทั่วไป (General Practitioners: GP) เพื่อช่วยลดช่องว่างบริการแพทย์เฉพาะทางที่เจาะลึก ให้มีแพทย์เชี่ยวชาญในด้านกว้างแทนด้านลึก จนถึงปี 2561 มีแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมเป็นแพทย์เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว ได้รับวุฒิบัตรแล้ว 774 คน และแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมได้รับหนังสืออนุมัติ 6,351 คน รวมทั้งสิ้น 7,898 คน รุ่นล่าสุดในปี 2562 มีผู้จบการฝึกอบรม 199 คน และมีสถาบันการฝึกอบรมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวทั้งสิ้น 38 แห่ง
- 177 views