แรงงานชาวอเมริกันตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในที่ทำงานราวปีละ 2 ล้านคน จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีมาตรการเพื่อยกระดับความปลอดภัยของลูกจ้าง fiercehealthcare.com เสนอมาตรการ 10 ข้อเพื่อปกป้องผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ และญาติผู้ป่วยจากความรุนแรงในที่ทำงาน
fiercehealthcare.com รายงานข่าว ผลการศึกษาโดยสถาบันความเครียดอเมริกัน American Institute of Stress ชี้ว่าพนักงานราวร้อยละ 25 มีความรู้สึกเครียดจนอยากกรีดร้อง ขณะที่ร้อยละ 10 กังวลว่าเพื่อนร่วมงานอาจก่อเหตุรุนแรง
ความหวาดกลัวต่อเหตุรุนแรงใช่ว่าจะเกิดขึ้นโดยไม่มีที่มา และในแวดวงการรักษาพยาบาลด้วยแล้วเหตุรุนแรงอาจไม่ได้เกิดจากเพื่อนร่วมงานเท่านั้น
เมื่อปี 2557 ที่รัฐมิเนโซตามีกรณีผู้ป่วยวัย 68 ปีหวดเจ้าหน้าที่พยาบาลด้วยราวกันตก และที่ชิคาโกเมื่อปีก่อนเกิดเหตุยิงกันในโรงพยาบาลทำให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ถูกลูกหลงเสียชีวิตไปด้วยและยิ่งทวีความหวาดกลัวต่อเหตุรุนแรงในสถานพยาบาลมากขึ้นไปอีก
ข้อมูลทางสถิติชี้ว่าแรงงานชาวอเมริกันร้อยละ 9 รู้ว่ามีการประทุษร้ายหรือพฤติกรรมรุนแรงในที่ทำงานของตน และร้อยละ 18 เคยโดนข่มขู่หรือคุกคามเมื่อปีก่อน
อย่างไรก็ดีการศึกษาเมื่อปี 2559 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine รายงานว่าร้อยละ 80 ของเจ้าหน้าที่แผนกฉุกเฉินล้วนเคยพานพบกับเหตุรุนแรงจากการปฏิบัติงาน พยาบาลประจำห้องฉุกเฉินทั้งหมดรายงานว่าถูกประทุษร้ายด้วยวาจาเมื่อปีก่อน และร้อยละ 82.1 โดนประทุษร้ายทางกาย และเมื่อดูสถิติระหว่างปี 2545-2556 สถิติการเกิดเหตุรุนแรงในที่ทำงานในภาคการรักษาพยาบาลนั้นสูงกว่าภาคธุรกิจอื่นถึงสี่เท่า
เหตุรุนแรงในที่ทำงานหมายถึง “การกระทำหรือการคุมคามด้วยความรุนแรง ประทุษร้าย ข่มขู่ หรือพฤติกรรมคุมคามซึ่งเกิดขึ้นในที่ทำงาน”
จากสถิติซึ่งชี้ว่าแรงงานชาวอเมริกันตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในที่ทำงานราวปีละ 2 ล้านคน จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีมาตรการเพื่อยกระดับความปลอดภัยของลูกจ้าง บทความนี้ได้เสนอมาตรการ 10 ข้อเพื่อปกป้องผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ และญาติผู้ป่วยจากความรุนแรงในที่ทำงาน ดังต่อไปนี้
1. ฝ่ายบริหารต้องเป็นผู้นำ โครงการความปลอดภัยในที่ทำงานต้องเริ่มต้นจากระดับบนขององค์กร เมื่อฝ่ายบริหารเป็นผู้นำก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ระดับล่างดำเนินรอยตาม ผู้บริหารจะต้องไม่เพียงสนับสนุนงบประมาณโครงการแต่จะต้องพบปะกับทีมเจ้าหน้าที่และปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติของโครงการอย่างเคร่งครัด (เช่น ติดป้ายชื่อในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน)
คณะกรรมาธิการร่วมได้สรุปปัจจัยหลัก 6 ข้อที่เป็นสาเหตุนำไปสู่เหตุรุนแรงในสถานพยาบาลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยชี้ว่าร้อยละ 62 ของเหตุรุนแรงมีส่วนเกี่ยวข้องกับจุดยืนของฝ่ายบริหาร
2. จัดตั้งทีมรับมือเหตุวิกฤติสถานพยาบาลจะต้องพร้อมรับมือกับเหตุรุนแรง โดยจัดตั้งทีมเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำหรือเป็นผู้นำในเหตุวิกฤติ โดยควรเป็นทีมสหวิชาชีพประกอบด้วยผู้บริหาร แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรม เจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคล ตัวแทนพนักงาน และเจ้าหน้าที่ความมั่นคงท้องถิ่น ทีมควรได้รับการฝึกอบรมเพื่อทำความเข้าใจ ประเมิน และให้คำแนะนำสำหรับเหตุรุนแรง การกลั่นแกล้ง การประทุษร้าย เหตุกราดยิง ฯลฯ
3. จัดทำแผนแจ้งเตือน สำคัญอย่างยิ่งที่บุคลากรจะต้องตระหนักถึงโครงการลดความรุนแรงในสถานพยาบาลและแนวทางปฏิบัติ เมื่อใดก็ตามที่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นจะต้องไม่รีรอที่จะแจ้งให้บุคลากรทราบสถานการณ์ปัจจุบัน และหากทำได้ก็ควรสรุปสิ่งที่บุคลากรควรทำระหว่างเกิดเหตุโดยเฉพาะกรณีที่จะต้องปกป้องตัวเองในเสี้ยววินาที การแจ้งเตือนจะต้องใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายและหากทำได้ก็ควรจะแจ้งเตือนหลายภาษาเพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในสถานพยาบาลทราบว่าเกิดอะไรขึ้นและรู้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเกิดเหตุรุนแรงฉุกเฉิน
มีความเข้าใจผิดว่าภาษาที่ตรงไปตรงมาอาจทำให้เกิดการตื่นตระหนก ข้อมูลจากการศึกษาล้วนชี้ตรงกันว่าในช่วงที่เกิดเหตุฉุกเฉินนั้นประชาชนไม่ได้ตระหนกเพราะเนื้อหาข้อความ หากแต่หวาดกลัวที่ไม่รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นและควรทำอย่างไรต่อไประหว่างเกิดเหตุ
4. กำหนดให้แผนรับมือเหตุรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งในแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน แผนปฏิบัติการณ์เหตุฉุกเฉินควรมีแผนงานสำหรับรับมือกับอันตรายทั้งหมดซึ่งรวมถึงการสื่อสาร ทรัพยากรและทรัพย์สิน ความปลอดภัยและความมั่นคง บุคลากรผู้รับผิดชอบ รวมถึงกิจกรรมและเครื่องมือเพื่อสนับสนุนผู้ป่วย แม้เหตุรุนแรงในที่ทำงานส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องอาศัยศูนย์สั่งการประจำโรงพยาบาล แต่ในกรณีที่เกิดเหตุการมีศูนย์สั่งการก็จะช่วยให้ประสานงานกับทีมบริหารสถานการณ์ได้อย่างราบรื่น
5. ฝึกอบรมบุคลากร การมีบุคลากรเพียงหยิบมือที่ผ่านการฝึกอบรมรับมือสถานการณ์รุนแรงเป็นข้อบกพร่องที่มักพบจากโครงการรับมือเหตุรุนแรง ต้องไม่ลืมว่าผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยมีปฏิสัมพันธ์กับบุคลากรหลายแผนกของโรงพยาบาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่เพียงสามารถระบุและรายงานแนวโน้มที่จะเกิดเหตุรุนแรงเท่านั้น แต่ยังแน่ใจได้ว่าจะไม่กระพือให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น โรงพยาบาลควรมีการฝึกอบรมตั้งแต่ขั้นตระหนักถึงเหตุรุนแรงไปจนถึงขั้นการรับมือกับเหตุรุนแรง ตลอดจนตรวจสอบศักยภาพของบุคลากรเป็นประจำทุกปี
6. ใช้คำที่ชัดเจน บุคลากรอาจสับสนกับความหมายของ ‘ปิดการเข้าออก’ ‘หลบอยู่ในที่ตั้ง’ และ ‘กีดขวาง’ เมื่อพบอยู่ในแผนเดียวกัน ‘ปิดการเข้าออก’ หมายถึงไม่มีผู้ใดสามารถผ่านเข้าออกอาคารได้ โรงพยาบาลส่วนใหญ่มักมีอาคารหลายหลัง โดยข้อมูลสถิติรายงานว่าเหตุยิงกันในโรงพยาบาลราวร้อยละ 40 มักเกิดขึ้นนอกอาคาร
นอกจากนี้ ‘มือปืน’ ยังหมายถึงบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งมีอาวุธปืนและพยายามก่อเหตุสังหารหมู่ อันเป็นคนละความหมายกับ ‘บุคคลต้องสงสัย’ (บุคคลที่มีอาวุธอื่นหรือวัตถุต้องสงสัย) ซึ่งมีวิธีการรับมือที่แตกต่างกัน ดังนั้นการกำหนดนิยมที่ชัดเจนจึงมีนัยสำคัญต่อการสื่อสารสถานการณ์
7. ฝึกฝนทักษะ จำเป็นอย่างยิ่งที่โรงพยาบาลจะต้องฝึกฝนทักษะบรรเทาและควบคุมเหตุรุนแรง รวมถึงกระบวนการสร้างสิ่งกีดขวางและการหลบหนี/อพยพเป็นประจำ กรณีที่เกิดเหตุร้ายแรงที่สุด (เช่น เหตุกราดยิง) บุคลากรในจุดเกิดเหตุจะต้องอพยพออกโดยทันทีและมุ่งหน้าไปยังบริเวณที่ปลอดภัยหรือจุดรวมพล การฝึกฝนให้บุคลากรคุ้นเคยกับเส้นทางหลบหนีสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้
8. จัดตั้งความร่วมมือในท้องถิ่น โรงพยาบาลควรประสานงานกับสถานพยาบาลอื่นและหน่วยงานความมั่นคงในท้องถิ่นระหว่างเกิดเหตุรุนแรง โดยแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ของศูนย์สั่งการ บุคคลที่ติดต่อได้ และแผนที่โรงพยาบาล การจัดเตรียมข้อมูลไว้เป็นชุดเดียวกันจะช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุรุนแรงและช่วยให้ทีมเหตุฉุกเฉินรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีในห้วงเวลาที่ทุกวินาทีมีความสำคัญอย่างยิ่ง
9. ประเมินประสิทธิภาพ รวบรวมข้อมูลทั้งจำนวนและประเภทของเหตุรุนแรงในโรงพยาบาล ประเภทของการบาดเจ็บ และผลลัพธ์เพื่อประเมินความสำเร็จ (หรือล้มเหลว) ของโครงการ บุคลากรจะต้องสามารถรายงานเหตุทั้งหมดรวมถึงกรณีที่เกือบจะเกิดเหตุรุนแรง และจะต้องมีการทบทวนเหตุรุนแรงแต่ละครั้งเพื่อประเมินประสิทธิภาพของแผนปัจจุบันทั้งในแง่ความสำเร็จ อุปสรรค การลดจำนวนเหตุรุนแรงและการบาดเจ็บ
ทีมบริหารเหตุวิกฤติของโรงพยาบาลควรประเมินแผนรับมือเหตุรุนแรงและปรับปรุงแก้ไขตามที่จำเป็นเพื่อให้แผนมีประสิทธิภาพดีขึ้นและยังคงคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก
10. ทำอย่างต่อเนื่อง การฝึกอบรม ทบทวนเหตุรุนแรง และรับฟังความเห็นจากบุคลากรจะช่วยให้โครงการรับมือเหตุรุนแรงประสบความสำเร็จและเดินหน้าต่อไป
การฝึกอบรมไม่ควรจำกัดอยู่ในแบบเดียว การฝึกอบรมในรูปแบบต่างๆ ทั้งการบรรรยาย ดูวิดิโอ จดหมายข่าว และการฝึกฝนจะช่วยผู้เข้าร่วมการอบรมจะต้องตระหนักในบทบาทและความคาดหวังของตน ทีมรับมือเหตุวิกฤติควรจัดการประชุมเดือนละครั้งเพื่อทบทวนเหตุรุนแรงและปรับแผนตามความจำเป็น
การวางแผนและกำหนดกระบวนการที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับบริบทเป็นพื้นฐานสำคัญของการลดเหตุรุนแรงในที่ทำงานและความรุนแรงต่อบุคลากรสาธารณสุข ขณะเดียวกันก็ช่วยให้แน่ใจได้ว่ามีแนวทางรับมือสถานการณ์วิกฤติได้อย่างเหมาะสม การปกป้องผู้ป่วย บุคลากร และญาติผู้ป่วยจากเหตุรุนแรงนั้นทำได้ยากแต่ก็สามารถบรรลุผลได้หากทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกัน
แปลและเรียบเรียงจาก
Industry Voices -10 steps to reduce workplace violence in healthcare [www.fiercehealthcare.com]
- 63 views