รางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ปี 2019 นี้ เป็นของทีมนักวิทยาศาสตร์ 3 คน ชาวอังกฤษและอเมริกัน ด้วยผลงานวิจัยถึงการทำงานของเซลล์ในร่างกายมนุษย์ที่รับรู้และปรับตัวให้เข้ากับระดับก๊าซออกซิเจนที่มีอยู่
เซอร์ปีเตอร์ เจ แรตคลิฟ (Sir Peter J. Ratcliffe) จากสถาบันฟรานซิส คริก และมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ในอังกฤษ และ วิลเลียม จี แคลิน (William G. Kaelin Jr) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ เกรก แอล เซเมนซา (Gregg L. Semenza) จากมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ ในสหรัฐฯ คือ ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ประจำปี 2019 ไปครองร่วมกัน ด้วยผลงานวิจัยที่กล่าวถึงกลไกระดับโมเลกุลซึ่งควบคุมกิจกรรมของยีนให้สอดรับกับระดับออกซิเจนที่ต่างกัน
สัตว์จำเป็นต้องใช้ออกซิเจนเพื่อเปลี่ยนอาหารให้กลายเป็นพลังงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ แม้ความสำคัญของออกซิเจนนั้นเป็นที่เข้าใจมาเนิ่นนานแล้ว แต่กระบวนการปรับตัวของเซลล์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับออกซิเจนก็ยังคงเป็นปริศนามาตลอด
นักวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 ท่านได้ค้นพบกระบวนการปรับตัวตามระดับออกซิเจนของเซลล์ และได้ระบุกลไกระดับโมเลกุลซึ่งควบคุมกิจกรรมของยีนให้สอดรับกับระดับออกซิเจนที่ต่างกัน
ความสำเร็จของผู้ได้รับรางวัลโนเบลประจำปีนี้เผยให้เห็นกลไกการปรับตัวที่สำคัญที่สุดของสิ่งมีชีวิต ทั้ง 3 ท่านได้วางรากฐานความเข้าใจเกี่ยวกับผลของระดับออกซิเจนต่อกระบวนการเมตาบอลิสมของเซลล์และการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย อันเป็นการปูทางไปสู่แนวทางใหม่สำหรับการรักษาโรคเลือดจาง มะเร็ง และโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นานัปการ
วิลเลียม จี แคลิน (William G. Kaelin, Jr.) เกิดเมื่อปี 2500 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เขาสำเร็จการศึกษาสาขาแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยดุ๊กที่เมืองเดแรม สำเร็จการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาอายุรศาสตร์และมะเร็งวิทยาจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ที่เมืองบัลติมอร์และสถาบันมะเร็งดานา-ฟาร์เบอร์ที่นครบอสตัน เขาก่อตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยของตนเองที่สถาบันมะเร็งดานา-ฟาร์เบอร์และรับตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ดเมื่อปี 2545 นอกจากนี้ยังปฏิบัติหน้าที่เป็นนักวิจัยประจำสถาบันการแพทย์ฮาเวิร์ด ฮิวส์มาตั้งแต่ปี 2541
เซอร์ปีเตอร์ เจ แรตคลิฟ (Sir Peter J. Ratcliffe) เกิดเมื่อปี 2497 ที่เมืองแลงคาเชียร์ สหราชอาณาจักร สำเร็จการศึกษาสาขาแพทยศาสตร์จากวิทยาลัยกอนวิลและเคอุสที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และสำเร็จการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาอายุรศาสตร์โรคไตจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เขาก่อตั้งคณะวิจัยอิสระที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เมื่อปี 2539 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการด้านการวิจัยทางคลินิกประจำสถาบันฟรานซิสชิคที่กรุงลอนดอน ผู้อำนวยการสถาบันค้นคว้าเป้าหมายการรักษาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และสมาชิกของสถาบันลุดวิกเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง
เกรก แอล เซเมนซา (Gregg L. Semenza) เกิดเมื่อปี 2499 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่นครบอสตัน สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเพนซิลแวเนียที่นครฟิลาเดลเฟียเมื่อปี 2527 และสำเร็จการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขากุมารเวชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยดุ๊กที่เมืองเดอแรม เขาผ่านการฝึกอบรมระดับหลังปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ที่เมืองบัลติมอร์ซึ่งเขายังได้ก่อตั้งคณะวิจัยอิสระ เซเมนซาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์เมื่อปี 2542 และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการวิจัยหลอดเลือดของสถาบันจอนส์ฮอปกินส์เพื่อวิศวกรรมเซลล์มานับตั้งแต่ปี 2546
ทั้งนี้ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณามอบรางวัลโนเบลได้ประกาศผลผู้ได้รับรางวัลประจำปีนี้ครบทั้ง 6 สาขา โดยในปีนี้มีนักวิทยาศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ และนักเขียน "ผู้สร้างคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ต่อมวลมนุษยชาติ" ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 15 คนใน 6 สาขา คือ
1.รางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์
2.รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์
3.รางวัลโนเบลสาขาเคมี
4.รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม
5.รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
6.รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์
แปลและเรียบเรียงจาก
The Nobel Prize in Physiology or Medicine 2019
THE NOBEL PRIZE IN PHYSIOLOGY OR MEDICITHE NOBEL PRIZE IN PHYSIOLOGY OR MEDICINENE
- 116 views