อมรรตยะ เสน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เขียนบทความลงสื่ออังกฤษ ยกย่องหลักประกันสุขภาพไทย ชี้เป็นตัวอย่างว่า ไม่ต้องเป็นประเทศร่ำรวย แต่ก็สามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนได้สำเร็จ มีผลลัพธ์ที่ดี อัตราตายทารกแรกเกิดลดลง ประชากรมีอายุขัยเพิ่มขึ้น เครื่องมือลดความยากจน ลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ยกไทยเป็นตัวอย่างส่งเสริมบริการสุขภาพปฐมภูมิ ป้องกันก่อนป่วยหนัก
ศ.อมรรตยะ เสน (ภาพจาก www.theguardian.com)
11 ม.ค.58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.อมรรตยะ เสน (Amartya Kumar Sen) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ได้เขียนบทความเรื่อง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า: ฝันที่สามารถจ่ายได้ (Universal healthcare: the affordable dream) เผยแพร่ในเว็บไซต์ของนสพ.เดอะการ์เดียน (ดูที่นี่) ซึ่งเป็นนสพ.ชั้นนำของประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 ยกย่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคว่า เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศร่ำรวย ก็สามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ โดยยกตัวอย่างความสำเร็จของประเทศไทย ร่วมกับอีก 2 ประเทศ คือ ประเทศรวันดา และประเทศบังคลาเทศ โดยระบุจุดเด่นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยว่า
ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของประเทศที่สามารถทำเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้สำเร็จในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งเป็นผลพวงมาจากให้คำมั่นสัญญาจากฝ่ายการเมือง และผลสำเร็จของหลักประกันสุขภาพไทยก็ได้แสดงให้เห็นว่าปัญหาเรื่องความยากจนลงจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้ลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงตัวชี้วัดสุขภาพของประชากรก็ดีขึ้นและลดความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนรวยกับคนจน โดยวัดจากอัตราการตายในทารกแรกเกิด และอัตราตายของเด็กลดลง โดยอัตราการตายของทารกแรกเกิดลดต่ำลงถึง 11 คน ต่อ 1,000 คน อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของประชากรเพิ่มสูงขึ้นเป็นมากกว่า 74 ปี นี่คือสิ่งที่ประเทศยากจนทำได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ซึ่งถือได้ว่าเป็นการลบประวัติศาตร์ของความแตกต่างในอัตราการตายของทารกระหว่างกลุ่มคนจนกับคนรวยภายในประเทศไทย
นอกจากนั้น ยังได้ยกตัวอย่างให้เห็นถึงความพยายามในการส่งเสริมระบบสุขภาพแบบปฐมภูมิ ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นยังมีข้อได้เปรียบอีกอย่างก็คือ เป็นระบบบริการสุขภาพที่มุ่งเน้นไปยังสิ่งที่จำเป็นแต่มักจะถูกละเลยนั่นก็คือบริการระดับปฐมภูมิ ซึ่งถือว่าเป็นบริการขั้นพื้นฐานที่เป็นบริการแบบผู้ป่วยนอกที่มีค่าใช้จ่ายไม่มากนัก เป็นการดูและรักษาตั้งแต่ระยะแรกของการเกิดโรค ในกรณีที่ไม่มีการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยส่วนใหญ่แล้วการดำเนินของโรคมักจะถูกปล่อยให้มีการลุกลามหรือมีการพัฒนาของโรคไปในขั้นที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้มีค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นตามไปด้วย
และได้ระบุว่า ประเทศไทยได้ตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับเรื่องนี้ กล่าวคือ เมื่อมีการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และมีการดำเนินนโยบายส่งเสริมป้องกันโรคก่อนที่จะป่วย ความต้องการการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงได้ลดลงอย่างมาก
- 15 views