เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา ร้องผู้ว่าอัศวิน ในฐานะประธานคุมน้ำเมา กทม. เอาผิดป้ายโฆษณาเหล้าเบียร์ผิดกฎหมาย พร้อมมอบหลักฐาน ภาพถ่าย พิกัดร้านเหล้า คำพิพากษาศาลยันป้ายโฆษณารูปแบบที่ผิดกฎหมาย วอน กทม. ทำงานเชิงรุกจัดการบริษัทผู้ผลิตและนำเข้าขั้นเด็ดขาด พร้อมตัดพ้อ ผู้ว่าปัจจุบันให้ความสำคัญกับปัญหาน้ำเมาน้อยเกินไป
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 เวลา 10.00น. ที่ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา (Alcohol Watch) พร้อมด้วย และแกนนำเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้ติดป้ายที่ปรากฏสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ป้ายโฆษณา ป้ายไวนิล ป้ายตู้ไฟฯลฯ ) ซึ่งผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ทั้งนี้เครือข่ายฯได้นำสำเนาคำพิพากษาของศาลซึ่งตัดสินแล้วว่า ป้ายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รูปแบบใด มีความผิด ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการ เจ้าของร้านค้า ที่ติดป้ายในลักษณะดังกล่าวต้องจ่ายเงินเพื่อเปรียบเทียบปรับในอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยมี นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย เป็นผู้รับเรื่องแทน
นายคำรณ กล่าวว่า เครือข่ายฯ ได้ลงพื้นที่สุ่มสำรวจป้ายที่มีโลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกรุงเทพฯ พบว่า ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ป้ายไวนิล ป้ายตู้ไฟหน้าร้านอาหาร หน้าร้านเหล้า มีความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551มาตรา32อย่างชัดเจน ทั้งยังมีคำพิพากษาที่สร้างบรรทัดฐานมาแล้วหลายคดี จากการดำเนินการฟ้องคดีในข้อหาป้ายที่โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากหน่วยงานภาครัฐ และจิตอาสาภาคประชาสังคม มีคดีที่ศาลตัดสินพิพากษาแล้วว่ามีความผิด ทำให้ผู้ประกอบการ เจ้าของร้านค้า ที่ติดป้ายในลักษณะดังกล่าวต้องจ่ายเงินเพื่อเปรียบเทียบปรับในอัตราที่กำหนดตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551มาตรา32และมาตรา43
ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวด้วยว่า เครือข่ายฯ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร มีหน้าที่หลักต้องรับผิดชอบตรวจสอบ ดังนี้ 1.ขอให้ตรวจสอบ ป้ายโฆษณาดังกล่าว รวมทั้งป้ายอื่นๆที่มีโลโก้ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบความผิดลักษณะที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว ให้เร่งดำเนินการตามกฎหมายอย่างเร่งด่วน 2.ในความผิดที่เกิดขึ้นเรื่องป้ายโฆษณา เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าบริษัทผู้ผลิตและนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือผู้ที่จัดทำป้ายโฆษณาต่างๆมาให้กับผู้ประกอบการ โดยกำหนดเงื่อนไขผูกพันเอาไว้กับทางร้าน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการกับบริษัทเหล่านี้ด้วย เพราะเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการค้า ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ตัวการสำคัญลอยตัวบนความเดือดร้อนของผู้ประกอบการร้านเหล้าผับบาร์ ซึ่งเป็นแค่ปลายน้ำที่ต้องรับกรรมจากการตลาดน้ำเมา และ3.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและผู้ประกอบการต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯได้รับทราบถึงความผิดตามกฎหมาย เพราะเป็นคดีอาญามีโทษทั้งจำและปรับ เพื่อไม่ให้ประชาชนและผู้ประกอบการต่างๆตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการทำการตลาดและต้องกลายเป็นผู้ทำผิดกฎหมายในที่สุดโดยเร่งรัดให้ทุกสำนักงานเขตจัดประชุมเพื่อทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ
“เครือข่ายได้พยายามร้องเรียนกับ กทม. มาหลายครั้งในยุคของผู้ว่าอัศวิน แต่เราไม่เคยได้มีโอกาสได้พบเพื่อนำเสนอปัญหา มีเพียงการมอบหมายให้หน่วยงานเล็กๆใน กทม.ลงมารับหนังสือ ทำให้ในเชิงนโยบายไม่มีความชัดเจนว่าจะจัดการอย่างไร ฝ่ายการเมืองซึ่งเป็นฝ่ายบริหารควรให้ความสำคัญกับประชาชนให้มากกว่านี้ เครือข่ายทำหน้าที่คอยช่วยเฝ้าระวังเพื่อส่งสัญญาณให้ กทม. ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ให้เกิดการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะสุดท้ายแล้วคนที่ได้ประโยชน์คือกลุ่มธุรกิจร้านเหล้าผับบาร์ทั้งหลาย เพราะจะโฆษณาหรือจะทำอะไรก็ได้ในพื้นที่ กทม. แบบนี้มันเป็นการท้าทายกฎหมายบ้านเมืองกันเกินไป ภาคประชาชนยังหวังว่าข้อมูลที่ส่งมาในครั้งนี้จะมีผลในทางปฏิบัติในเร็ววัน อีกทั้ง กทม.ก็มีกลไกคณะกรรมากรควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กทม. อยู่แล้ว แต่ยังไม่เห็นว่าผู้ว่าคนปัจจุบันจะให้ความสำคัญแต่อย่างใด มีการประชุมกันไปเพียงปีละครั้งซึ่งไม่ทันกับสถานการณ์ปัญหา เราจึงอยากเห็น กทม.ทำงานเชิงรุกให้มากกว่านี้ ฝ่ายบริหารต้องมีความชัดเจน” นายคำรณ กล่าว
- 136 views