สสส.ร่วม ศวส. ภาคีเครือข่าย จัดเสวนาพฤติกรรมดื่มหนักดื่มเร็ว พร้อมส่งพลังใจให้ครอบครัว “ลัลลาเบล” องค์กรผู้หญิงชี้ทุกอาชีพต้องได้รับเกียรติ ไม่มีใครมีสิทธิล่วงละเมิด
เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมแมนดาริน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) เครือข่ายองค์กรงดเหล้า มูลนิธิธีรนารถ กาญจนอักษร มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงทางสังคม จัดเวทีเสวนา “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับพฤติกรรมดื่มหนักดื่มเร็ว และการคุกคามทางเพศ” โดยถอดบทเรียนจากกรณีการเสียชีวิตของพริตตี้สาว พบข้อมูลการดื่มหนัก ดื่มเร็ว ที่อาจมีการจูงใจบังคับดื่มหรือแข่งดื่ม ทั้งนี้ภายในงานมีกิจกรรมตัวแทนเครือข่ายเยาวชนและผู้เข้าร่วม ช่วยกันพับนกกระดาษ อ่านบทกวี และยืนสงบนิ่งเป็นการให้เกียรติและไว้อาลัยผู้วายชนม์
โดย นางสาวเอ (นามสมมติ) อดีตสาวเชียร์เบียร์ที่คลุกคลีกับวงการพริตตี้สายเอ็น กล่าวว่าจากที่ได้เข้าไปสัมผัสโดยตรงและคนรอบข้าง พบว่าวงการนี้มีความเสี่ยงและผลประโยชน์อย่างมาก เป็นอาชีพที่ทำเงินได้ง่าย แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกลวนลามคุกคามทางเพศ แม้ปัจจุบันตัวเองจะห่างจากอาชีพนี้มาระยะหนึ่งแล้ว แต่รู้สถานการณ์ว่าเด็กเอ็นเป็นงานที่มีความเสี่ยงสูงที่จะโดน คุกคามทางเพศ มีบางคนยินยอมพร้อมใจไปจบกันบนเตียง แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดจะเป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้สังคมมองคนทำอาชีพนี้แบบเหมารวม พวกเขาก็มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ในทุกๆ อาชีพไม่ควรมีใครถูกล่วงละเมิด ถูกมอมเหล้า มอมยาเพื่อบังคับข่มขืนทั้งร่างกายและจิตใจ ส่วนตัวเชื่อว่ามีจำนวนมากเลยที่ถูกล่วงละเมิด ไปจนถึงถูกข่มขืนแต่ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาบอกความจริง และนึกไม่ออกว่าใครจะช่วยได้ จึงทำให้ผู้ก่อเหตุเกิดภาวะย่ามใจและกระทำซ้ำกับคนอื่นๆ อีก กลายเป็นวงจรที่ไม่จบสิ้น
“บางคนมีวิธีการเอาตัวรอดในการรับงาน เช่น ไม่ดื่มเหล้าแก้วคนอื่น มือไม่ห่างแก้วเหล้าตัวเอง มีการประมาณตัวเองว่าดื่มได้แค่ไหน แต่ละคนจะมีเทคนิคการดื่มที่ไม่เหมือนกัน เพราะ พริตตี้สายเอ็นต้องดื่มเป็นประจำอยู่แล้ว มีใครบ้างที่รู้ว่ามีน้องๆ จำนวนมากที่ต้องทำเพื่อหาเงินเลี้ยงดูแลพ่อแม่ ดูแลครอบครัว ส่งน้องเรียน หรือแม้แต่ส่งตัวเองเรียน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อยู่ในวงการนี้กันนาน เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็ต้องมีงานอื่นทำ มีครอบครัว ที่พูดนี่ไม่ได้สนับสนุนให้ใครเข้ามาเดินทางสายนี้ เพราะถึงที่สุดแล้วที่เราคิดว่าเอาตัวรอดได้ เวลาอยู่ในสถานการณ์คับขันมันยากมากที่จะรอดได้” นางสาวเอ กล่าว
นางสาวนัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร กล่าวว่า สังคมไทยยังมีมายาคติเกี่ยวกับการดื่มที่แตกต่างกันระหว่างเพศ ความคิดเหล่านี้มันเป็นความคิดในเชิงอำนาจที่ถูกสะสมมาเป็นเวลานาน ผู้ชายสามารถดื่มเหล้าได้เวลาทำผิดจะมีข้ออ้างที่ไม่รุนแรง แต่ถ้าเป็นผู้หญิงดื่มจนเมาจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่ดี การถูกละเมิดทางเพศก็เป็นเพราะตัวเอง สำหรับคดีการเสียชีวิตของน้องลัลลาเบล มีนัยยะที่สำคัญต่อสังคมรวมทั้งโลกโซเซียล ต่างเรียกร้องให้หาความจริง ดังนั้นผู้บริหารหรือผู้ที่มีอำนาจในบ้านเมืองจะต้องเข้ามาจัดการ ออกกฎหมายคุ้มครองทุกอาชีพ เพื่อให้ผู้หญิงที่มีอาชีพต่างๆ เช่น พริตตี้ ได้มีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต นอกจากจะให้ภาครัฐเขามาดูแลแล้ว ผู้ประกอบอาชีพอย่างพริตตี้ควรจะมีพื้นที่และเครือข่ายเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรอง เหมือนกับสหภาพแรงงานต่างๆ และในส่วนของครอบครัว ควรสั่งสอนลูกหลานที่เป็นผู้ชายว่าคุณไม่มีสิทธิ์ที่จะไปทำร้ายร่างกายใคร ไม่มีสิทธิที่จะล่วงละเมิดใคร การให้เกียรติเคารพในเนื้อตัวร่างกายคนอื่นเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญของมนุษย์
นพ.ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเสี่ยงต่อการเกิดแอลกอฮอล์เป็นพิษ หากดื่มเกินปริมาณส่งผลต่อประสาท การเคลื่อนไหว เสี่ยงต่อการหยุดหายใจ ซึ่งหากพบเห็นใครที่มีอาการเหล่านี้ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ช่วยเหลือเบื้องต้นได้โดยการจัดท่านอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก รักษาระดับศีรษะและคอให้เท่าๆ กัน ค่อยๆ พลิกตัวให้นอนหงาย เรียกชื่อดังๆ ให้ลืมตากว้าง ลองจิ้มที่ตัวเพื่อดูปฏิกิริยาตอบสนอง มองที่อกหรือท้องเพื่อดูจังหวะการหายใจ หายใจช้าลงหรือติดขัด ร่างกายไม่ตอบสนองให้ทำซีพีอาร์ แล้วเรียกรถพยาบาลหรือนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ซึ่งการใช้แอลกอฮอล์ร่วมกับสารเสพติด จะส่งผลให้เกิดอาการเมาหมดสติและเสียชีวิตได้ง่ายขึ้นด้วย โดยเฉพาะสารเสพติดในกลุ่มยานอนหลับ
นพ.พงศ์ธร ชาติพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รูปแบบการดื่มในปัจจุบันค่อนข้างเปลี่ยนไปมาก หากเป็นลักษณะจัดแข่งขันดื่มกันเองที่บ้าน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ไม่สามารถเอาผิดได้ แต่หากเป็นการดื่มในร้าน มีการเชียร์ให้ดื่ม แข่งดื่ม จัดโปรโมชั่น ส่งเสริมการขาย อันนี้ ผิดมาตรา30 และ มาตรา32 แน่นอน ส่วนกรณีนี้มีโทษทางอาญาร่วมด้วย เพราะทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
“กฎหมายเน้นเอาผิดการขาย มากกว่าเอาผิดการดื่ม ซึ่งไม่ควบคุมในเรื่องปริมาณการดื่ม แต่จะกำหนดช่วงเวลาการขายสุรา และกำหนดเพียงบางสถานที่ห้ามขายเท่านั้น เช่น วัดโรงเรียน หน่วยงานราชการ ดังนั้นจึงต้องออกอนุบัญญัติเพิ่มเติม เบื้องต้นจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทวงสาธารณะสุขเป็นประธาน เพื่อเสนอให้มีการปรับเพิ่มอนุบัญญัติให้สอดรับกับสถานการณ์การดื่มที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้อยากฝากเตือนว่า การแข่งกันดื่มสุรา บังคับดื่ม ดื่มหนักดื่มให้หมดในเวลารวดเร็ว มันไม่คุ้มที่จะเอาชีวิตมาเสี่ยง” นพ.พงศ์ธร กล่าว
- 106 views