สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดฯ เปิดข้อมูลปี 2561 พบคนติดเหล้าเข้าบำบัดสูงเป็นอันดับ 2 เพศชายสูงสุด ส่วนใหญ่อายุ 40-44 ปี เผยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายจะดูดซึมกระจายทั่วใน 5 นาที ยิ่งดื่มมากๆ ในระยะเวลาสั้น เสี่ยงภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงปี 2561 พบผู้เข้ารับการบำบัดรักษาอาการติดสุราของสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี มากเป็นอันดับที่ 2 ของประเภทยาเสพติดที่ใช้เสพ โดยมีจำนวน 1,050 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 16.94 ของผู้ป่วยทั้งหมด แบ่งเป็นเพศชาย 937 คน คิดเป็นร้อยละ 89.24 และเพศหญิง113 คน คิดเป็นร้อยละ 10.76 ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 40 – 44 ปี คิดเป็นร้อยละ18.29 รองลงมาได้แก่ช่วงอายุระหว่าง 45 – 49 ปี คิดเป็นร้อยละ 16.67 และช่วงอายุระหว่าง 35 -39 ปี คิดเป็นร้อยละ 16.57
เมื่อดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย จะถูกดูดซึมและกระจายไปทุกส่วนของร่างกายภายในเวลา 5 นาที จะออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง มีผลต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย การดื่มแอลกอฮอล์ช่วงแรก จะทำให้ร่างกายมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ที่ประมาณ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมื่อมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะทำให้ผู้ดื่มเกิดอาการสับสน มากกว่า 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ทำให้เกิดอาการง่วง สับสน ซึม มึนงง และถ้ามากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป อาจทำให้สลบ ซึ่งปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่สูงในระดับนี้ สามารถกดสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ การรู้สึกตัวของผู้ที่ดื่มและทำให้เสียชีวิตได้
นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากในระยะเวลาสั้นๆ อาจทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งอาจมีสัญญานบ่งบอกและอาการเตือนภาวะสุราเป็นพิษ เช่น เกิดอาการสับสน พูดไม่ชัดหรือพูดไม่รู้เรื่องอย่างหนัก อาเจียน จังหวะการหายใจผิดปกติหรือหายใจช้าลง ตัวเย็นผิดปกติ ผิวหนังซีดหรือกลายเป็นสีม่วง หมดสติ ไม่รู้สึกตัว หรือรู้สึกตัวแต่ไม่สามารถตอบสนองการรับรู้ได้ ในกรณีที่ภาวะสุราเป็นพิษรุนแรงอาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการโคม่า สมองถูกทำลาย และอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด
ขอเตือนกลุ่มนักเที่ยวกลางคืน หากพบเพื่อนหรือบุคคลอื่นๆ มีอาการอาการดังกล่าวให้รีบโทรแจ้ง 191 หรือ 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ หรือนำส่งโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์อย่างเร่งด่วน และสามารถให้การดูแลเบื้องต้นโดยการพยายามปลุกให้ตื่นและพยุงให้อยู่ในท่านั่ง ให้ดื่มน้ำเปล่าในกรณีที่สามารถดื่มได้ พยายามทำให้ร่างกายอบอุ่น หากผู้ป่วยเป็นลมหมดสติ ให้จัดนอนในท่านอนตะแคง คอยสังเกตอาการจนกว่ารถพยาบาลจะมารับ
- 249 views