สธ.ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และกรุงเทพมหานคร เปิดตัว “บางกอกน้อยโมเดล” ต้นแบบการคัดกรอง ค้นหาผู้ป่วยวัณโรคและผู้สัมผัส สู่การรักษาที่รวดเร็ว
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562 ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กรุงเทพฯ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อม นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พญ.เอมอร สิริพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และ พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการกองวัณโรค กรมควบคุมโรค ร่วมเปิดตัวโครงการบางกอกน้อยปลอดวัณโรค “บางกอกน้อยโมเดล” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดกรองและค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรคในเขตบางกอกน้อย ให้ผู้ป่วยวัณโรคเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็ว ลดการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในชุมชน เฝ้าระวังและติดตามการติดเชื้อและการป่วยวัณโรคในกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มโครงการบางกอกน้อยโมเดลขึ้นในปี 2558 เพื่อร่วมกับเครือข่ายชุมชนบางกอกน้อย พัฒนาต้นแบบระบบการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพของชุมชนบางกอกน้อย มุ่งหวังให้ชาวบางกอกน้อยมีสุขภาพดีขึ้น โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการเพื่อเร่งรัดยุติวัณโรคและวัณโรคดื้อยาของประเทศไทย ร่วมกับกรมควบคุมโรคเพื่อร่วมขับเคลื่อน ป้องกัน ดูแล รักษา และควบคุมวัณโรคตามแผนปฏิบัติการวัณโรคระดับชาติ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค
ซึ่งเป็นที่มาของการร่วมมือกันในโครงการบางกอกน้อยปลอดวัณโรค “บางกอกน้อยโมเดล” ในครั้งนี้ เพื่อร่วมสนับสนุนและช่วยเหลือกัน ระหว่างกองวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในการดูแลประชาชนเขตบางกอกน้อยประมาณแสนกว่าคน เร่งรัดค้นหาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยวัณโรคให้ครอบคลุมด้วยการคัดกรองในกลุ่มเสี่ยง
ด้าน นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เป็นปัญหาสำคัญทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยและทั่วโลก โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้กำหนดยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค โดยมีเป้าหมายสำคัญคือลดอุบัติการณ์วัณโรคให้ต่ำกว่า 10 ต่อประชากรแสนคนภายในปี 2578 ทั้งนี้ประเทศไทยได้กำหนดแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค พ.ศ.2560-2564 มีเป้าประสงค์เพื่อลดอุบัติการณ์วัณโรคให้เหลือ 88 ต่อประชากรแสนคน เมื่อสิ้นปี 2564 ทั้งนี้ โดยมุ่งเน้น “ค้นให้พบ จบด้วยหาย พัฒนาระบบเครือข่าย นโยบายมุ่งมั่น สร้างสรรค์นวัตกรรม”
สำหรับการดำเนินโครงการบางกอกน้อยปลอดวัณโรค “บางกอกน้อยโมเดล” ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือ พัฒนาให้เขตบางกอกน้อยเป็นต้นแบบในการค้นหาคัดกรอง การรักษา ลดการแพร่กระจาย เฝ้าระวัง ติดตามการติดเชื้อและการป่วยวัณโรค โดยเน้นกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค เป็นการเร่งรัดดำเนินการหยุดยั้งเพื่อบรรลุตามเป้าหมายในการยุติปัญหาวัณโรคของประเทศ ซึ่งภายในงานวันนี้ มีกิจกรรมตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ป่วยวัณโรค โดยการจัดบริการ X-RAY ปอดฟรี แก่ผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค บริการตรวจเสมหะโดยวิธี Xpert MTB/RIF ในรายที่ผล X-RAY ปอดผิดปกติ รวมถึงบูธนิทรรศการและการให้ความรู้เรื่องวัณโรค
พญ.เอมอร สิริพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำนักอนามัย มีศูนย์บริการสาธารณสุขที่ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีแพทย์ พยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุข และผู้ให้การดูแลผู้ป่วยที่เราเรียกว่า care giver ที่ผ่านการฝึกอบรม จึงมีความพร้อมในการให้บริการแบบ “ใกล้บ้าน ใกล้ใจ” แก่ผู้ป่วยทุกระดับ ทั้งนี้ สำนักอนามัย มีนโยบายเร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคให้ครอบคลุมมากที่สุด เน้นให้กลุ่มเสี่ยงวัณโรคได้เข้าถึงระบบบริการ มีการคัดกรองและวินิจฉัยวัณโรคได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการควบคุมป้องกันวัณโรคจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างเข้มแข็งของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อค้นหาผู้ป่วยวัณโรคและนำเข้าสู่ระบบการรักษาที่มีประสิทธิภาพโดยเร็ว เป็นการตัดวงจรการแพร่กระจายเชื้อในชุมชน ต่อไป
- 53 views