เดินหน้าแผนแม่บทพัฒนาสมุนไพรแห่งชาติ ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่า 360,000 ล้าน ร่วมมือคิงเพาเวอร์นำผลิตภัณฑ์สมุนไพรวางขายนทท.ต่างชาติ ส่วน พร้อมจับมือซีพีออล์เน้นกลุ่มคนไทย
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงนโยบายการพัฒนาสมุนไพรไทยสร้างเศรษฐกิจของรัฐบาล ในโครงการสมุนไพรไทยคุณภาพสู่ตลาดโลก (Thailand Kiss the Wold) ว่า ตั้งแต่ตนได้รับมอบหมายให้ดูแลกรมการแพทย์แผนไทยฯ พบว่า เมื่อ 10 กว่าปีก่อน มาวันนี้สมุนไพรไทยมีการพัฒนาไปมากแทบจำของเดิมไม่ได้ มีการวางจำหน่ายอยู่ทุกประเทศทั่วโลก และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ จาก 180,000 ล้านบาทในปี 2559 เป็น 280,168 ล้านบาทในปี 2561 และถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสมุนไพรเป็นอันดับ 8 ของโลก
นายอนุทิน กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ตามแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2560-2564) ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการใช้สมุนไพรให้ได้ 360,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติม ซึ่งสิ่งสำคัญที่ตนได้กำชับไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในเรื่องการพิจารณาขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว หากตรวจสอบพบว่าปลอดภัยไม่มีสารพิษต้องอนุมัติภายใน 1 วัน แต่หากเจอสิ่งที่เป็นพิษก็ต้องเอาผิดภายใน 1 ชั่วโมงเช่นกัน เรื่องนี้ต้องทำให้เร็ว เป็นอีโคโนมี สปีด เพื่อให้สามารถแข่งขันทางการตลาดกับประเทศอื่นๆ ได้ และจ่ายภาษีนำเม็ดเงินเข้าประเทศ ซึ่งวันนี้มีความร่วมมือกับทางคิงเพาเวอร์ วางผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติซื้อ
“ประเทศไทยมีของดีเยอะ การจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศดี อยากให้คนไทยเลิกเห่อของนอก บ้าแบรนด์เนม ทั้งๆ ที่ของก็เหมือนๆ กัน แต่ทำไมต้องไปจ่ายเพิ่มเป็น 10 เท่า หันมาใช้ของไทย เมดอินไทยแลนด์ เงินหมุนเวียนภายในประเทศ เศรษฐกิจก็เดินหน้า แต่สิ่งที่ต้องพัฒนาคือการจะตีตลาดโลกได้ต้องจัดทำบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามน่าเชื่อถือ น่าซื้อไปเป็นของฝาก เพราะต้องยอมรับว่าบรรจุภัณฑ์ที่ดี ก็สามารถเพิ่มมูลค่าเพิ่มได้ ของเราดีก็สามารถตั้งราคาสูงได้ และต้องไม่ทิ้งเรื่องคุณภาพ” นายอนุทิน กล่าว
ด้าน ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล ผอ.กองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ กรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า ตอนนี้เราเริ่มจับมือกับบริษัทกระจายผลิตภัณฑ์สมุนไพรรายใหญ่ 2 เจ้า คือคิงเพาเวอร์ และซีพีออล์ ซึ่งมีบริษัทผู้ผลิตสมุนไพรไทยผ่านเกณฑ์ส่งสินค้ามาจำหน่าย 11 แห่ง แต่ต้องปรับปรุงตัวเองเพื่อให้สอดรับกับตลาดก่อน อย่างการวางจำหน่ายที่คิงเพาเวอร์เน้นในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยเครื่องบิน ตรงนี้ก็ต้องปรับขนาดผลิตภัณฑ์ให้สวยงาม ปริมาณที่สามารถหิ้วขึ้นเครื่องได้ คือไม่เกิน 100 ซีซี ส่วนที่วางขายในซีพีออล์นั้นจะเน้นกลุ่มคนไทย ก็จะปรับรูปแบบขนาดเล็ก ราคาจับต้องได้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังจะสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยด้วยการออกบูธตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ จริงๆ แล้วประเทศไทยมีผู้ผลิตสมุนไพรที่มีคุณภาพจำนวนมาก แต่ไม่เป็นที่รู้จัก ขนาดคนไทยเองยังไม่รู้ และไม่กล้าใช้ ดังนั้นเรื่องนี้ต้องสร้างการรับรู้ให้มาก ส่วนบริษัทผู้ผลิตสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์มาให้ที่กรมฯ พิจารณาได้ เพื่อจะได้ขับเคลื่อนไปในรูปแบบเดียวกับ 11 บริษัทนี้
- 10 views