สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ และ โรงพยาบาลคูเมือง นำร่องปักหมุดบุรีรัมย์โมเดล บุกเบิกน้ำมันกัญชาเพื่อการแพทย์เตรียมต่อยอดวิสาหกิจชุมชน
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 62 คณะอนุกรรมการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการแจ้งว่า ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ มอบหมายให้โรงพยาบาลคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ในการยื่นขออนุญาตเพื่อปลูกและผลิตกัญชา ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ต่อคณะอนุกรรมการ ผลดำเนินการผ่านการเห็นชอบเรียบร้อย โดยเป็นต้นแบบของโรงพยาบาลชุมชน ระดับอำเภอ ที่จับมือร่วมกับวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ เพื่อที่จะยื่นขออนุญาตในการปลูกกัญชาและสกัด ซึ่งจะเป็นการปลูกให้กับ รพ. เป้าหมายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้ป่วย โดยโรงพยาบาลคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ถือเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องและดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐอย่างชัดเจน โดยการร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชน ปักหมุดบุรีรัมย์โมเดล โดยครั้งนี้เป็นการขอในระยะที่ 1 คือ ขออนุญาตปลูกเพื่อใช้สกัดและวิเคราะห์หาสารสำคัญในกัญชาแต่ละสายพันธุ์ เพื่อสกัดหาวิธีการที่เหมาะสมและศึกษาความคงตัวของผลิตภัณฑ์ หลังจากเสร็จสิ้นแล้ว จึงจะดำเนินการใน ระยะที่ 2 ต่อไป ซึ่งผลิตเพื่อใช้กับผู้ป่วย
นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า โรงพยาบาลคูเมือง เป็นโรงพยาบาลชุมชนที่มีศักยภาพ สามารถผลิตยาสมุนไพร โดยได้รับมาตรฐาน WHO GMP คือ มาตรฐานการผลิต ผลิตภัณฑ์ เป็นเกณฑ์ควบคุมการผลิต (Good Manufacturing Practice) โดยตลอดกระบวนการควบคุมเป็นไปตามข้อปฏิบัติและข้อกำหนดผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ ปลอดภัย ถือว่าเป็นโรงพยาบาลที่ได้รับความเชื่อมั่นในมาตรฐานยาสมุนไพรแห่งหนึ่ง จึงได้มอบหมายให้สกัดน้ำมันกัญชา โดยมีเป้าหมายผลิตเพื่อสนับสนุนยาให้กับโรงพยาบาลต่างๆในจังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 9 นครชัยบุรินทร์
นายแพทย์กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ในฐานะเป็นโรงพยาบาลที่มีความพร้อมด้านการผลิตยาสมุนไพรและการตอบรับนโยบายของรัฐบาล นโยบายของจังหวัดบุรีรัมย์โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เห็นควรในการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ ในทางการแพทย์ โรงพยาบาลคูเมือง ก็มีศักยภาพในการผลิตยาสมุนไพรอยู่แล้ว และได้รับมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) สามารถที่จะผลิตยาที่มีคุณภาพให้กับประชาชนได้ ซึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์มีโรงพยาบาลคูเมืองเพียงแห่งเดียวที่ได้รับมาตรฐาน GMP มองเห็นว่าเมื่อเป็นนโยบายระดับประเทศ ระดับจังหวัด และเราเองก็เป็นจุดศูนย์กลางของการผลิตสมุนไพรอยู่แล้ว เราจึงพร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบาย และสานต่อการเป็นบุรีรัมย์โมเดลในเรื่องของกัญชาเพื่อการแพทย์
ความสำคัญหลักๆ ของการดำเนินนโยบายการนำกัญชามาใช้รักษาเพื่อการแพทย์ เราจะเห็นได้ว่า มีข่าวว่า สารปนเปื้อน สารเคมี ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก ความแตกต่างปริมาณสารสำคัญที่เรียกว่า THC หรือ CBD ไปตามสายพันธุ์ ยังรวมถึงการไม่ทราบขนาดหรือความเข้มข้นของยาที่ใช้กันอยู่ ซึ่งอาจจะมีผลต่อการรักษา โดย ในจุดนี้เราจึงต้องเริ่มลุกขึ้นมาทำ เพื่อการรองรับการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ นอกเหนือจากโรงพยาบาลภาครัฐ หรือองค์การเภสัชกรรม ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบ อาจจะไม่เพียงพอ ต่อความต้องการในต่อไปในระดับประเทศ
ในส่วนที่สอง การทำอย่างไรให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยของการใช้กัญชา อันนี้เป็นหน้าที่โดยตรงของโรงพยาบาลเราอยู่แล้ว ในด้านการผลิตยาสมุนไพร เพื่อให้ออกมามีคุณภาพ มีการระบุปริมาณอย่างชัดเจน เพื่อให้แพทย์แผนปัจจุบันได้มีการนำไปใช้รักษาคนไข้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับคนไข้ในแต่ละราย ซึ่งส่วนของบุคลากร เช่นแพทย์ เภสัช และพยาบาล ก็ได้รับความรู้ในเรื่องของการให้คุณและโทษของกัญชา เพื่อให้สมดุลกันทั้งสองอย่าง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดคลินิกกัญชาเพื่อรักษาคนไข้ ที่ครบวงจรทั้งด้านการปลูกและการผลิตน้ำมันสกัดและนำไปใช้กับผู้ป่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นายแพทย์กิตติ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในด้านของการปลูกเพาะสายพันธุ์ต้นกัญชา ซึ่งในประเทศไทยถือว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมและอุดมสมบูรณ์ โดยก่อนหน้านี้จากที่เราได้ทำการปลูกสมุนไพรมา เราคิดว่าการปลูกสมุนไพร อย่างไรให้ปราศจากสารปนเปื้อน หรือการปลูกแบบออแกนิกค์ โจทย์ข้อนึงที่ยากสำหรับการปลูกกัญชา เราต้องคิดแล้วว่า จะทำอย่างไรให้การปลูกกัญชาให้ปราศจากสารปนเปื้อนบวกกับความปลอดภัย เพราะเป็นยาเสพติด ฉะนั้นเป็นการยากมากที่จะต้องมีสถานที่รองรับ ทั้งสองอย่างได้ในเวลาเดียวกันซึ่งทางโรงพยาบาลก็ต้องมีการดูแลและกำกับทุกขั้นตอน ตั้งแต่การหาเมล็ด การหาสายพันธ์ การเจริญเติบโต รวมถึงการเก็บเกี่ยวชั่งน้ำหนัก และส่งโรงพยาบาล ต้องมีการตรวจสอบทุกอย่าง ซึ่งเมื่อเพิ่มเรื่องความปลอดภัยเข้าไป เราจะต้องมีการป้องการ การสูญหาย การเอาไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม
ในด้านความพร้อมของสถานที่ ต้องบอกว่า ในทุกวันนี้เราไม่ได้มองว่าจะปลูกกัญชาหรือจะผลิตกัญชา อย่างเดียว แต่เราคิดว่าจะทำอย่างไรให้ต้นทุนต่ำที่สุดเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ ตั้งแต่วิธีการปลูก จนกระทั่งการสกัดสารออกมาก ซึ่งในหลายๆ ที่ มีปลูกแบบตะวันตก ซึ่งต้นทุนค่อนข้างสูงมาก และอีกข้อที่สำคัญการต้องการเป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกกัญชาให้กับวิสาหกิจชุมชนอื่นๆอีกด้วย เนื่องจากทุกวันนี้ ต้นทุนด้านราคาการผลิตเรายังไม่สามารถรู้ได้ ไม่มีราคากลาง เราจึงต้องหาหน่วยงานที่มีความพร้อม และพร้อมที่จะรับความเสี่ยงไปด้วยกัน โดยโรงพยาบาลได้รับความร่วมมือกับภาคส่วนของศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมทั้งด้านกายภาพในเรื่องสถานที่ใกล้กับกับโรงพยาบาล ซึ่งสะดวกต่อการกำกับดูแลและเราจึงได้ทำ MOU กับทางศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน
นอกจากนี้เรายังได้ความร่วมในการดูแลด้านความปลอดภัยจาก ส่วนราชการระดับอำเภอ เช่นที่ว่าการอำเภอคูเมือง สถานีตำรวจภูธรอำเภอคูเมือง ฯลฯ การดำเนินงานการขออนุญาตและการให้องค์ความรู้ต่างๆ ในการปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ ได้รับการสนับสนุนและร่วมมืออย่างดี จากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศ รวมถึงการขอใบอนุญาตและต้นพันธุ์ สายพันธุ์ตะนาวศรี ที่จะนำมามอบให้ปลูกในรอบแรกนี้ ในวันที่ 25 สิงหาคม 2562 ที่ศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ สำหรับหน่วยงานวิสาหกิจชุมชนที่สนใจ สามารถเข้าติดต่อดูงานด้านการปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ สามารถติดต่อได้ที่ ทางศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน
ในระยะต่อไปโรงพยาบาลจะเดินหน้าเข้าสู่การผลิตเพื่อผู้ป่วย ในระยะที่ 2 โดยต้องเริ่มจากได้จำนวนผู้ป่วยที่จะใช้ยาแล้วคำนวณไปสู่การปลูก ซึ่งโรงพยาบาลจะผลิตออกมาสนับสนุน ทั้งน้ำมันกัญชาในแพทย์แผนปัจจุบัน รวมถึงยากัญชาในแพทย์แผนไทยที่ได้ทำข้อตกลงร่วมกับกรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกไว้แล้ว รวมถึงการเสนอ Model ขยายไปสู่วิสาหกิจชุมชนอื่นๆ ต่อไป นอกจากนี้ยังวางแผนที่ขอปรับขยายส่วนที่ทำในระยะที่ 1 ในการปลูกหลากหลายรูปแบบ เช่น โรงเรือนแบบ Evap , แบบ 6 ต้น เพื่อนำไปสู่การเปรียบเทียบวิธีปลูกและสารตัวยาสำคัญ รวมวิธีการปลูกต่างๆ เพื่อเป้าหมายต้นทุนที่มีราคาถูกและสร้างให้บุรีรัมย์เป็นแหล่งเรียนรู้ของการปลูกกัญชา และในท้ายที่สุดเพื่อการเป็นแหล่งเรียนรู้ กำลังประสานกับมหาวิทยาลัยต่างๆ มาร่วมวิจัยตลอดสายของการใช้กัญชาทางการแพทย์ตั้งแต่การปลูก จนถึงผู้ป่วยที่ได้รับยา
- 330 views