กระทรวงสาธารณสุข-สสส.- เครือข่ายหมออนามัย ติดตามผลงานชวนคนเลิกบุหรี่ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เผยขณะนี้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ สะสมแล้วกว่า 1.7 ล้านคน เลิกบุหรี่ได้ 6 เดือน 7 หมื่นกว่าคน ชี้ 3 อันดับแรกเขตสุขภาพผลงานยอดเยี่ยม ได้แก่ เขต 7,12 และ 9 ส่วนจังหวัดผู้เลิกบุหรี่ได้ 6 เดือนขึ้นไปสูงสุด คือ มหาสารคาม บุรีรัมย์และอุดรธานี
เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 62 ที่ จ.บุรีรัมย์ นพ.ณรงค์ สายวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 เป็นประธานประชุมโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน ปีที่ 3 โดย นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวต้อนรับ และนายมงคล เงินแจ้ง นายกสมาคมหมออนามัย กล่าววัตถุประสงค์การประชุม พร้อมด้วยนายธาดา วรรธนปิยกุล ประธานมูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย แกนนำสาธารณสุขอำเภอ และผู้รับผิดชอบงานควบคุมการบริโภคยาสูบจังหวัด เพื่อติดตามสนับสนุนการดำเนินงานและพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย การขับเคลื่อนโครงการฯ
นพ.ณรงค์ สายวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2562 กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายขับเคลื่อนโครงการ 3 ล้าน 3 ปีเลิกบุหรี่ทั่วไทยเทิดไท้องค์ราชัน มีเป้าหมายให้คนไทยเลิกบุหรี่ได้จำนวน 3 ล้านคน และขอให้ อสม. 1คน เชิญชวนคนเลิกสูบบุหรี่อย่างน้อย 3 คน และช่วยรณรงค์การเลิกบุหรี่ในชุมชน ทังนี้จากการประเมินสถานการณ์การดำเนินงานคัดกรองและบำบัดติดตามผู้สูบบุหรี่ทั่วประเทศ จากระบบฐานข้อมูล 43 แฟ้มของศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีและสารสนเทศของกระทรวงสาธารณสุข (Health Data Center: HDC) HDC (สะสมรายเดือน) สรุปโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ณ วันที่ 4 มกราคม 2562 พบว่ามีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการฯ สะสม 1,769,803 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 58.99 ของจำนวนเป้าหมายรวม โดยผู้ที่เลิกบุหรี่ได้ 6 เดือนขึ้นไปจำนวน 78,291 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 4.42 ของจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด
ทั้งนี้พบว่าผลการดำเนินงาน เขตที่มีจำนนวนผู้เข้าร่วมโครงการฯ สูงสุด 3 อันดับแรกคือ เขต 7, 12 และ 9 เขตที่มีอัตราผู้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ 6 เดือนขึ้นไปต่อจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการฯ สูงสุด 3 อันดับแรก คือเขต 7, 6 และ 11 ส่วนจังหวัดที่จำนวนผู้เลิกบุหรี่ได้ 6 เดือนขึ้นไปสูงสุด 10 จังหวัดแรก คือ มหาสารคาม (21,342) บุรีรัมย์ (4,449) อุดรธานี (4,395) ร้อยเอ็ด (2,938) นครพนม (2,744) สงขลา (2,547) เชียงราย(2,393) เชียงใหม่ (2,273) ฉะเชิงเทรา(1,734) และ ลำปาง (1,714) ซึ่งผลงานที่ได้คือเป้าหมายในการพัฒนางานสาธารณสุข ประจำปี 2562 (Performance Agreement : PA) ของกระทรวงสาธารณสุข ที่มุ่งหวังให้มีผู้เข้าร่วมโครงการและเลิกบุหรี่ได้มากที่สุด สำหรับเขตสุขภาพที่ 9 เป้าหมายคนร่วมโครงการ 387960 คน ได้รับการบำบัด 241505 คน คิดเป็นร้อยละ 62.25 เลิกได้ 6 เดือน จำนวน 6955 คน คิดเป็นร้อยละ 2.88 เขต 10 เป้าหมายคนร่วมโครงการ 259,962 คน ได้รับการบบำบัด 123,928 คน คิดเป็นร้อยละ 47.67 ได้รับการบำบัด 3,370 คน คิดเป็นร้อยละ 2.72
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ขอให้เน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 3 อ. (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์) และ 2 ส. (ลดการดื่มเหล้า งดการสูบบุหรี่) ควบคู่กับป้องกันนักสูบหน้าใหม่ คนที่สูบบุหรี่แล้วเลิกบุหรี่และเฝ้าระวังควันบุหรี่มือสอง รวมทั้งเร่งการสื่อสารประชาสัมพันธ์แก่ประชาขน รณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ การค้นหาบุคคลต้นแบบ บุคคลที่มีชื่อเสียงเลิกเป็นตัวอย่าง รวมถึงสร้างมาตรการทางสังคมป้องกัน การจัดสภาพแวดล้อมไม่ให้เอื้อต่อการสูบ การสร้างเสริมกำลังใจ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า จังหวัดบุรีรัมย์ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งพิษภัยบุหรี่มีผลต่อปัญหาสุขภาพอย่างมาก จึงเน้นเฝ้าระวัง 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มนักสูบหน้าใหม่ กลุ่มเจ้าหน้าที่ อสม. และกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ที่เสี่ยงต่อพิษภัยบุหรี่ สำหรับมาตรการป้องกันได้เข้าไปสื่อสารประชาสัมพันธ์และพูดคุยกับกลุ่มเสี่ยง จากนั้นสร้างความคุ้นเคย ความสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจ เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งการที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้นั้น ต้องอาศัยความรักและความกลัว ดังนั้นคนทำงานจึงต้องมีความรู้ มีความเข้าใจ ในแต่ละบุคคล นำความรักและความกลัวมาใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อนำไปสู่การเลิกบุหรี่ ซึ่งจะทำให้การทำงานชวนคนเลิกบุหรี่ได้สำเร็จในที่สุด ทั้งนี้จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ร่วมโครงการมากอันดับต้นๆของประเทศ ซึ่งจากนี้ต้องหาวิธีทำให้คนเลิกบุหรี่ได้ใน 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และเลิกได้ตลอดชีวิตให้ได้มากที่สุด
- 5 views