วันที่ 1 พ.ค.62 ที่ผ่านมา พ.ร.บ.สถาบันการอุดมศึกษา 2562 มีผลบังคับใช้ ท่ามกลางความกังวลของสภาวิชาชีพด้านสาธารณสุข ถึงกรณีที่กฎหมายดังกล่าวจะมีผลต่อการลดบทบาทของสภาวิชาชีพในการกำกับและดูแลมาตรฐานการเรียนการสอนในหลักสูตรด้านสุขภาพ

วงการทันตแพทย์ กลายเป็นกลุ่มวิชาชีพที่ถูกจับตามองมากที่สุดในตอนนี้ เมื่อมหาวิทยาลัย 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยเนชั่น พากันเปิดหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ระดับปริญญาตรีในปีนี้ พร้อมประกาศเปิดรับนักศึกษาใหม่ โดยไม่ต้องผ่านการรับรองหลักสูตรจากทันตแพทยสภาเช่นในอดีต

แต่เดิมนั้น หลักสูตรการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาต้องได้รับรองจากสภาวิชาชีพก่อน จึงจะรับนักศึกษาได้ แต่ พ.ร.บ.การอุดมศึกษาฉบับใหม่ ได้ปลดล็อคให้สภามหาวิทยาลัยสามารถยื่นขอเปิดหลักสูตรการศึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยไม่ต้องผ่านการรับรองจากสภาวิชาชีพ ก็สามารถเปิดรับนักศึกษาได้เช่นกัน โดยการวัดผลคุณภาพการศึกษาเมื่อเรียนจบคือต้องมาสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากสภาวิชาชีพ

นำมาสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นไปได้ ที่จะเกิดช่องว่างในการควบคุมคุณภาพมาตรฐานของหลักสูตรและการเรียนการสอน โดยเฉพาะเมื่อสภาวิชาชีพด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจการประกอบวิชาชีพมากที่สุด กลับต้องกลายเป็นผู้มีบทบาทน้อยที่สุดในการสร้างผู้ประกอบวิชาชีพหน้าใหม่

แห่เปิดหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์

ในปี 2562 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้จัด 10 ลำดับอาชีพในอนาคตที่มีโอกาสประสบ “ความสำเร็จอย่างสูง” ในไทย โดยหนึ่งในนั้นคืออาชีพทันตแพทย์ ซึ่งเข้าข่ายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับความสวยความงาม

นั่นสะท้อนสถานะของหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ ว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นที่นิยมในกลุ่มนักเรียนไทยในปัจจุบันและอนาคต

นักเรียนในคณะทันตแพทยศาสตร์ระดับปริญญาตรีจำนวนหนึ่งเล่าให้ Hfocus ฟังว่า รุ่นน้องที่เข้ามาเรียนในหลักสูตรต่างให้เหตุผลในการสอบเข้าคณะที่คล้ายคลึงกันว่า “ทันตแพทย์คืออาชีพที่มีอนาคต” และยังเป็นอาชีพที่มีแนวโน้มสร้างรายได้มั่นคง

เมื่อมีอุปสงค์ ก็ย่อมมีอุปทาน

ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยหลายแห่งพากันเปิดหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ในระดับปริญญาตรี ด้วยความคาดหวังว่าจะดึงดูดนักศึกษาใหม่ในช่วง “ขาลง” ของมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับผลกระทบจากจำนวนนักศึกษาไทยที่ลดลง รวมทั้งความสนใจของเด็กรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไป จนมหาวิทยาลัยต้องทยอยปิดบางหลักสูตรที่มีผู้สมัครน้อย

สำหรับมหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และ มหาวิทยาลัยเนชั่น

หรือเฉลี่ยแล้วมีมหาวิทยาลัย 1 แห่ง เปิดหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ในทุก 1 ปี ซึ่งถือว่ามีความถี่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับหลักสูตรในสาขาวิชาชีพอื่น

ลดบทบาทสภาวิชาชีพ

ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มผู้บริหารและคณาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีการเปิดรับนักศึกษาคณะทันตแพทยศาสตร์ 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และมหาวิทยาลัยเนชั่น ทั้งๆที่หลักสูตรการศึกษายังไม่ผ่านการรับรองของทันตแพทยสภา และยังไม่ผ่านการพิจารณาความสอดคล้องของหลักสูตรระดับอุดมศึกษา (CHE Curriculum Online : CHECO) จากคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.การอุดมศึกษาฉบับใหม่ เงื่อนไขเหล่านี้มิใช่อุปสรรคในการเปิดหลักสูตรใหม่อีกต่อไป

มาตรา 15 ของ พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ให้อิสระสถาบันอุดมศึกษาในการจัดการเรียนการสอน ขณะที่มาตรา 16 ระบุว่า “สภาวิชาชีพจะออกข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์เพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพ โดยมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษามิได้”

ขณะที่การเปิดหลักสูตรนั้น ในมาตรา 55 ระบุว่าสถาบันอุดมศึกษาสามารถเปิดสอนหลักสูตรได้ เมื่อสภาสถาบันอุดมศึกษาอนุมัติหลักสูตร และแจ้งหลักสูตรการศึกษาต่อสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาเข้ามาตรวจสอบหลักสูตรการศึกษาภายหลังได้ หากเห็นว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน สามารถสั่งให้สถาบันอุดมศึกษาแก้ไขปรับปรุงหลักสูตรให้แล้วเสร็จ ก่อนที่ผู้เรียนรุ่นแรกจะสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรการศึกษานั้น

ในมาตรา 61 ระบุว่าเมื่อคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาให้การรับรองหลักสูตรแล้ว จึงแจ้งเรื่องให้สภาวิชาชีพ “เพื่อทราบ”

หรือกล่าวโดยสรุปคือ มหาวิทยาลัยสามารถเปิดหลักสูตรใหม่ได้ โดยไม่ต้องผ่านการรับรองจากสภาวิชาชีพ และหากไม่ได้มาตรฐาน คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาให้เวลาปรับปรุงหลักสูตรนานถึง 4-6 ปี ในขณะที่สอนนักศึกษาไปพร้อมกันได้

ศ.ดร.ทพ.สิทธิชัย ขุนทองแก้ว คณบดีทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยืนยันในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับ Walailak Channel สื่อวิทยุโทรทัศน์บนอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ว่า “หลักสูตรทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ ม.วลัยลักษณ์ มีคุณภาพ” และทางผู้จัดหลักสูตร “ดำเนินการถูกต้องตามกระบวนการตามกฎหมายทั้งสิ้น”

พร้อมยืนยันสิทธิของมหาวิทยาลัยในการจัดการการเรียนการสอน ตามมาตรา 15 และ 16 ของ พ.ร.บ.สถาบันการอุดมศึกษา แต่ก็จะให้ความร่วมมือกับทันตแพทยสภาในการมาตรวจเยี่ยมการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความมั่นใจ แม้ว่าสภาวิชาชีพจะถูกลดบทบาทลงก็ตาม

ขณะที่หลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี สามารถเปิดรับนักศึกษาได้ แม้อยู่ในสถานะ “หลักสูตรที่ส่งมาพิจารณา” และสมัครใจให้ทันตแพทยสภาตรวจสอบหลักสูตร โดยประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยว่าได้รับการรับรองจากทันตแพทยสภาเป็นที่เรียบร้อยร้อยแล้ว ในวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา โดย “ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของทันตแพทยสภาทุกตัวชี้วัด”

ก่อนหน้านี้ ทั้ง 2 มหาวิทยาลัยเคยส่งหลักสูตรให้ทันตแพทยสภารับรองในระหว่างปี 2560-2561 แต่ไม่ผ่านการรับรองในครั้งแรก โดยในกรณีของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทันตแพทยสภาในตอนนั้นแสดงความกังวลต่อสถานที่การเรียนการสอนของนักศึกษา ซึ่งต้องย้ายที่เรียนจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในจังหวัดนครศรีธรรมราชมากรุงเทพ ในระหว่างการเรียนชั้นปีที่ 3-6 แต่ยังไม่มีสัญญาเช่าอาคารที่กรุงเทพในขณะนั้น ส่วนในกรณีของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี คณะกรรมการมีข้อกังขาในคุณสมบัติของผู้รับผิดชอบหลักสูตร ซึ่งไม่มีผลงานทางวิชาการตามเกณฑ์ที่กำหนด

เปิดเสรีการศึกษาทันตแพทยศาสตร์

กรณีที่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยที่กล่าวมาข้างต้น ก่อให้เกิดคำถามถึงกระบวนการรับรองหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ต่อไปในอนาคต ว่าจะสามารถรักษามาตรฐานการเรียนการสอนได้หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างอ้างสิทธิการเปิดหลักสูตรตาม พ.ร.บ.สถาบันการอุดมศึกษา

เมื่อหลักสูตรด้านสาธารณสุขไม่ต้องผ่านการรับรองจากสภาวิชาชีพอีกต่อไปแล้ว มีแนวโน้มที่สถาบันอุดมศึกษาจะยื่นขอเปิดหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เพื่อดึงดูดนักศึกษาใหม่เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย

จนมีกลุ่มคณาจารย์ตั้งคำถามว่านี่คือ “การเปิดเสรีทางการศึกษา” ทางวิชาทันตแพทยศาสตร์ โดยที่ไม่มีการกำกับดูแลที่ดีพอหรือไม่?

รวมทั้งแสดงความกังวลต่อแนวโน้มที่จะเกิดการสรรหาผลประโยชน์ เมื่อ พ.ร.บ. เปิดช่องว่างให้ทันตแพทย์ที่ไม่มีความสามารถในการพัฒนาหลักสูตร เข้าไปทำรายได้จากการเรียนการสอน

พันตำรวจโท ทพ.พจนารถ พุ่มประกอบศรี (ภาพจากสำนักข่าวอิศรา)

พันตำรวจโท ทพ.พจนารถ พุ่มประกอบศรี นายกทันตแพทยสภา ให้ความเห็นว่า พ.ร.บ.สถาบันการอุดมศึกษา ยังเปิดช่องทางให้สภาวิชาชีพให้ความเห็นกับหลักสูตรได้

“เมื่อก่อน สภาวิชาชีพสามารถสั่งปิดหลักสูตรได้ ตอนนี้อำนาจในการสั่งปิดหลักสูตรถูกดึงไว้ที่ สกอ. อย่างไรก็ดี สภาวิชาชีพยังมีบทบาทในการพิจารณาคุณภาพของหลักสูตร โดย สกอ. จะแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหลักสูตร ซึ่งต้องเชิญคนจากสภาวิชาชีพไปให้ความเห็น” พันตำรวจโท ทพ.พจนารถ กล่าว “ผมไม่เชื่อว่าคณะกรรมการจะค้านความเห็นของสภาวิชาชีพ”

ในภาพรวม พันตำรวจโท ทพ.พจนารถเชื่อว่า พ.ร.บ.การอุดมศึกษา มีความรัดกุมพอสมควร เช่น ในมาตรา 53 ได้ระบุถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยในการ “จัดการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานการอุดมศึกษา” หากปรากฏว่าสถาบันอุดมศึกษาใดไม่ดำเนินการตาม คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาสามารถแจ้งให้สถาบันอุดมศึกษานั้นแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่ทำตามแล้ว สามารถเสนอเรื่องต่อรัฐมนตรีพิจารณาสั่งให้สถาบันอุดมศึกษาหยุดดำเนินการได้

ผศ.ทพ.ดร.นฤมนัส คอวนิช

อย่างไรก็ตาม ผศ.ทพ.ดร.นฤมนัส คอวนิช คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ตั้งคำถามถึงความพร้อมของมหาวิทยาลัยที่พากันเปิดหลักสูตร โดยเฉพาะความพร้อมในด้านทรัพยากรบุคลากรที่มีจะเข้ามารับผิดชอบหลักสูตรและดูแลเด็กนักเรียนในระยะยาว

ผศ.ทพ.ดร.นฤมนัส กล่าวว่า ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยใหม่มีความยากลำบากในการหาอาจารย์ บางแห่งมีอาจารย์ไม่เพียงพอ ต้องเอาอาจารย์วิชาอื่นมาตรวจงานปริทันต์ ทั้งๆที่ตนเองไม่ความเชี่ยวชาญ มหาวิทยาลัยบางแห่งจำเป็นต้องเชิญอาจารย์จากภายนอก หรืออาจารย์เกษียณที่ไม่ได้ทำงานแล้วมาเป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร ซึ่งอาจไม่สามารถพัฒนาหลักสูตรได้อย่างเต็มที่

โดยทั้งหมดนี้ ทันตแพทยสภาไม่สามารถเข้าไปถ่วงดุลและตรวจสอบได้เหมือนอย่างแต่ก่อน

“คำถามสำคัญคือนักศึกษาจะได้รับการดูแลอย่างมีระบบหรือไม่” ผศ.ทพ.ดร.นฤมนัส กล่าว “วิชาสุขภาพ อาจกลายเป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรม ถ้าไม่มีใครมาถ่วงดุลระบบ สกอ.เองก็อาจเอาไม่อยู่”

การค้าที่ไม่เป็นธรรม

นริศ (นามสมมติ) นักศึกษาทันตแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เชื่อว่าตนคือหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจาก “การค้าที่ไม่เป็นธรรม” ในวิชาสุขภาพ

นริศเข้าเรียนในคณะทันตแพทยศาสตร์ ในระดับปริญญาตรี เพราะต้องการมีอาชีพที่มั่นคงในอนาคต แต่เขาสอบไม่ติดมหาวิทยาลัยรัฐ จึงต้องลงเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งนี้ด้วยค่าใช้จ่ายประมาณ 800,000 บาท/ปี โดยเขาได้ทำการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของคณะอย่างถี่ถ้วน แล้วจึงตัดสินใจสมัครเรียน

อย่างไรก็ตาม มาตรฐานการเรียนการสอนกลับไม่เป็นอย่างที่คาด เขาพบว่าอุปกรณ์ที่มหาวิทยาลัยจัดให้ใช้ในการเรียนมีไม่เพียงพอ เช่น เครื่องเอกซเรย์ เก้าอี้ทำฟัน และโมเดลฟันจำลอง จนรุ่นน้องต้องขอยืมอุปกรณ์จากรุ่นพี่ หรือเสียเงินซื้ออุปกรณ์เอง ทั้งๆที่ค่าอุปกรณ์ถูกคิดรวมอยู่ในค่าธรรมเนียมการศึกษาแล้ว

เขาเชื่อว่าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว อาจเป็นเพราะมหาวิทยาลัยเพิ่มจำนวนนักศึกษาเพื่อเพิ่มรายได้เข้ามหาวิทยาลัย จากที่รับนักศึกษาเพียงไม่กี่สิบคนต่อปีในระยะแรกของการเปิดคณะ เพิ่มเป็นมากกว่า 150 คนต่อปีในปัจจุบัน ทั้งๆที่มีทรัพยากรการเรียนการสอนไม่เพียงพอ ขณะที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้เหตุผลว่าต้องการ “ให้โอกาสเด็ก” ได้เรียนในคณะทันตแพทยศาสตร์

“เราจ่ายเงินไปมาก แต่กลับไม่ได้รับการดูแล หรือเอามาพัฒนาหลักสูตรและเครื่องมือการสอนเลย อาจารย์ที่ทางมหาวิทยาลัยจ้างมาสอน ไม่ได้ด้อยไปกว่าที่อื่น ปัญหาอยู่ที่การไร้ความสามารถในการบริหารของมหาวิทยาลัย” นริศเล่า พร้อมขอให้ Hfocus ปกปิดชื่อจริงและชื่อมหาวิทยาลัย เพราะเขากลัวว่าจะมีผลกระทบต่ออนาคตในการเรียน

ในปีนี้ มหาวิทยาลัยได้ปรับเปลี่ยนนโยบายในการคัดนักศึกษาเพื่อไปร่วมสนามสอบใบประกอบวิชาชีพทันตแพทย์ แต่เดิม นักศึกษาทุกคนต้องเข้าสอบรอบคัดเลือกจัดโดยมหาวิทยาลัย คนใดที่สอบผ่านเกณฑ์คะแนน 60% จะได้รับการรับรองและส่งต่อรายชื่อไปยังสนามสอบใบประกอบวิชาชีพ แต่ล่าสุด กลับมีการปรับเปลี่ยนวิธีการคัดเลือกนักศึกษาโดยใช้การจัดลำดับคะแนนตามเปอร์เซนต์ไทล์ ส่งผลให้มีนักศึกษาจำนวนเพียง 5-7 คนที่ได้รับสิทธิไปสอบใบประกอบวิชาชีพ

โดยกลุ่มนักศึกษาและผู้ปกครองจำนวนหนึ่งเชื่อว่า นโยบายใหม่นี้เกิดขึ้นเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัย โดยนักศึกษาจำนวนหยิบมือที่ได้รับการคัดเลือกไปสอบใบประกอบวิชาชีพ มีแนวโน้มสอบผ่าน 100% ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถนำไปโฆษณาเพื่อดึงดูดนักศึกษาใหม่เข้ามาเรียนในหลักสูตร สำหรับนักศึกษาที่สอบไม่ผ่านรอบคัดเลือกในมหาวิทยาลัย ต้องจ่ายเงินเพิ่มเฉลี่ยคนละ 60,000 บาทให้กับค่าหน่วยกิตในการติวสอบรอบถัดไป และหากสอบไม่ผ่านอีก นักศึกษาก็ไม่สามารถประกอบวิชาชีพทันตแพทย์ได้ แม้ว่าจะจบการศึกษาและได้รับวุฒิปริญญาก็ตาม

“แทนที่เด็กจะช่วยกันติว ตอนนี้ก็เหยียบหัวกัน เพื่อให้สอบติด เพราะไม่งั้นต้องจ่ายเงินเพิ่ม หรือไม่มีสิทธิได้เป็นทันตแพทย์” นริศกล่าว “เราเคยโทรไปร้องเรียนทางทันตแพทยสภาหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายก็เมื่อไม่กี่เดือนก่อน เราร้องเรียนเรื่องการเปลี่ยนนโนบายการสอบ แต่คนที่สภาบอกว่าเป็นเรื่องของมหาวิทยาลัย สภาไม่สามารถก้าวก่ายได้”

หมอเถื่อนที่มีใบปริญญา

ในมุมของ ผศ.ทพ.ดร.นฤมนัส นักศึกษาคือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเรียนการสอนที่ไม่มีมาตรฐาน หากสอบใบประกอบวิชาชีพไม่ผ่าน นักศึกษาเหล่านี้อาจกลายเป็น “หมอเถื่อนที่มีใบปริญญา” ไม่สามารถประกอบวิชาชีพจริงๆได้

“การเรียนทันตแพทยศาสตร์ใช้เวลา 6 ปี เด็กเสียเงินเสียทองไปมาก ถ้ามหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรกันเยอะ โดยไม่มีการควบคุมมาตรฐานการเรียนการสอนให้นักศึกษาจบออกมามีคุณภาพ ก็อาจสอบใบวิชาชีพไม่ผ่าน” ทพ.ไพศาล กังวลกิจ อดีตนายกทันตแพทยสภา ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกัน

ทพ.ไพศาล เคยให้ความเห็นต่อ พ.ร.บ.สถาบันการอุดมศึกษา ในตอนที่ยังเป็นร่างกฎหมายไว้ในบทความพิเศษในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า “ประกาศกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับเกณฑ์มาตรฐานในการเปิดหลักสูตรที่ให้มหาวิทยาลัยถือปฏิบัตินั้น เป็นหลักเกณฑ์ที่กว้างใช้กับทุกหลักสูตร ซึ่งไม่สอดคล้องและไม่เหมาะสมกับสายวิชาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายทางการแพทย์ เปรียบเสมือนการตัดเสื้อขนาดเดียวแล้วให้ทุกคนใส่ได้ (one size fit to all) ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ในทางปฏิบัติแต่ละวิชาชีพมีรายละเอียดในการเรียนการสอนและการฝึกปฏิบัติที่แตกต่างกัน จึงต้องให้แต่ละวิชาชีพได้เข้ามามีส่วนกำหนดมาตรฐานการเรียนการสอนและการรับรองหลักสูตรด้วย”

นอกจากนี้ การศึกษาในวิชาชีพด้านการแพทย์ไม่สามารถใช้ วัดผลครั้งเดียวในการสอบใบประกอบวิชาชีพ เพราะเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาผู้ป่วย มีทักษะและเทคนิคเฉพาะที่ต้องผ่านการประเมินอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่านักศึกษาจะออกไปประกอบวิชาชีพด้วยความรู้และสามารถที่ได้ตามมาตรฐาน

“การห้ามไม่ให้วิชาชีพเข้าไปรับรองหลักสูตร นั่นหมายถึงจะไม่มีการประกันคุณภาพการศึกษาที่มีประสิทธิภาพพอ จะทำให้คุณภาพมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพต่ำลง ท้ายสุดจะทำลายความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนที่มีต่อวิชาชีพ อย่างไรก็ตาม มาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของทันตแพทยสภาในการรับรองหลักสูตร ปริญญาและประกาศนียบัตรในวิชาชีพทันตกรรม จึงเป็นหน้าที่ของสภาโดยตรง ที่ต้องดำเนินการประเมิน หากไม่ดำเนินการ ก็อาจเข้าข่ายละเว้นได้ นี่คือความขัดกันของกฎหมายในปัจจุบัน” ทพ.ไพศาล ให้ความเห็น