คณบดีทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ย้ำมั่นใจในคุณภาพการจัดการศึกษา คณาจารย์ผู้สอนมีคุณภาพเยี่ยม และกระบวนการรับนักศึกษาถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมเชิญทันตแพทยสภาวาระที่ 9 มาตรวจเยี่ยมในเดือน มิ.ย.นี้ แม้กฎหมายไม่บังคับให้ทำแล้วก็ตาม
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 Walailak Channel สื่อวิทยุโทรทัศน์บนอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช เผยแพร่คลิปวิดิโอ “ศ.ดร.ทพ.สิทธิชัย ขุนทองแก้ว ยืนยันหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ ม.วลัยลักษณ์ มีคุณภาพ” กรณีที่มีข่าวพาดพิงเรื่องหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์บัณฑิตของมหาวิทยาลัยยังไม่ผ่านการรับรอง (ดูข่าว ที่นี่) นั้น
ศ.ดร.ทพ.สิทธิชัย ขุนทองแก้ว คณบดีทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า ในนามรักษาการคณบดีวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเปิดรับนักศึกษาระหว่างวันที่ 1 - 23 พ.ค. 2562 นี้ อยากทำความเข้าใจใน 2 เรื่อง คือ 1.ประเด็นเรื่องการตรวจรับรองหลักสูตร ทางวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้นำเสนอหลักสูตรให้ทันตแพทยสภาวาระที่ 8 เมื่อ 4 ส.ค. 2560 ซึ่งเป็นการเสนอหลักสูตรหลังจากที่ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 โดยในรัฐธรรมนูญเขียนชัดเจนในมาตรา 40 (3) ว่าสภาวิชาชีพจะออกตรากฎหมายในเรื่องการจัดการระเบียบของการประกอบวิชาชีพที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติหรือก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษามิได้ สอดคล้องกับ มาตรา 15 ของ พ.ร.บ.สถาบันการอุดมศึกษา 2562 ซึ่งประกาศใช้วันที่ 26 เม.ย. 2562 ว่าสถาบันการศึกษามีอิสระในการจัดการการเรียนการสอน การสอน การบริหารงานวิชาการ และมาตรา 16 ซึ่งระบุว่าสถาวิชาชีพจะออกข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์ที่มีการเลือกปฏิบัติหรือก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษามิได้
ศ.ดร.ทพ.สิทธิชัย กล่าวว่า หลังจากที่เสนอหลักสูตรไปเมื่อ 4 ส.ค. 2560 ต่อมาทันตแพทยสภาวาระที่ 8 ได้ออกประกาศวันที่ 28 ต.ค. 2561 ว่าไม่รับรองหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งตามกระบวนการตรวจรับรองตามหลักข้อบังคับของทันตแพทยสภาจะต้องตรวจเอกสารและมาตรวจความพร้อม ณ สถานที่ที่จะดำเนินการการเรียนการสอน และทางมหาวิทยาลัยได้เชิญให้ทันตแพทยสภามาตรวจในวันที่ 10-11 ก.ค. 2561 แต่ก็ไม่ได้รับการมาตรวจ
"อนุกรรมการที่มาตรวจรับรองได้มาพบอธิการบดี คณบดีและอาจารย์ ซึ่งได้มีการถามย้ำว่าการที่ท่านมานี้เป็นการตรวจเยี่ยมหรือไม่ ทางคณะอนุกรรมการที่มานั้นแจ้งว่าไม่ใช่เป็นการตรวจเยี่ยมแต่มาหารือ อันนี้เป็นการกระทำที่เห็นชัดเจนว่าการรับรองหลักสูตรจะกระทำด้วยการดูเอกสารและการมาตรวจสถานศึกษา ซึ่งในการเรียนการสอนของวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ เราจะมีการเรียนใน 2 ปีแรกที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา เราจะมีนักศึกษามาเรียนการศึกษาพื้นฐานและเรียนวิชาด้านการแพทย์กับนักศึกษาแพทย์ เรามีความมั่นใจเพราะมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เปิดสำนักวิชาแพทย์ รับนักศึกษาแพทย์ที่มีคุณภาพมาแล้วนับ 10 ปี เรามีความพร้อม เพราะฉะนั้นเมื่อมีการประกาศว่าไม่มีการรับรองหลักสูตร ทางมหาวิทยาลัยก็ดำเนินเรื่องไปที่ศาลปกครอง เพราะได้เห็นแล้วว่าทันตแพทยสภาวาระที่ 8 ดำเนินการไม่ครบกระบวนการ ก็คือไม่มาตรวจ พร้อมกันนี้ยังได้ส่งเรื่องไปที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาว่าเป็นอย่างไร" ศ.ดร.ทพ.สิทธิชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ต่อมาทันตแพทยสภา วาระที่ 8 ได้หมดวาระไป และมีการเลือกตั้งทันตแพทยสภาชุดใหม่ซึ่งก็คือวาระที่ 9 และเข้าทำงานในที่ 23 เม.ย. 2562 ทางมหาวิทยาลัยได้หารือกับทันตแพทยสภาวาระที่ 9 ในประเด็นนี้และเป็นความกรุณาของนายกสภา อุปนายกที่ดูแลด้านวิชาการ และเลขาธิการทันตแพทยสภา ที่ได้มาพบอธิการบดี คณบดีและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย มีการพูดกันด้วยไมตรีจิตที่ดี ด้วยความเข้าใจ ทางทันตแพทยสภาเห็นชอบว่าเกิดอะไรขึ้น และทางมหาวิทยาลัยได้ทำหนังสือถึงทันตแพทยสภาชุดใหม่ว่าจะขอเปิดรับนักศึกษา ทางทันตแพทยสภาวาระที่ 9 ก็รับทราบและจะดำเนินการมาตรวจเยี่ยมความพร้อมของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คาดว่าจะมาตรวจเยี่ยมในเดือน มิ.ย.นี้
"ถึงแม้ พ.ร.บ.การอุดมศึกษา 2562 หรือรัฐธรรมนูญ จะลดบทบาทของสภาวิชาชีพไปแล้ว แต่เราก็จะให้มาตรวจเยี่ยมการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความมั่นใจ เพราะมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มั่นใจในคุณภาพการจัดการศึกษาและสุดท้ายแล้วคนที่เรียนก็ต้องไปสอบใบประกอบวิชาชีพซึ่งดูแลโดยทันตแพทยสภา เพราะฉะนั้นขอย้ำว่าเราดำเนินการถูกต้องตามกระบวนการตามกฎหมายทั้งสิ้น" ศ.ดร.ทพ.สิทธิชัย กล่าว
ประเด็นที่ 2.การดูแลคุณภาพการเรียนการสอน ทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดตั้งวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติมา 2 ปีและเพิ่งเปิดรับนักศึกษาในปีนี้ โดยมีการจัดการภายในเพื่อให้มีความพร้อมในเรื่องคุณภาพ ทั้งในส่วนของคณาจารย์ และสถานที่ โดยในส่วนของตนมีประสบการณ์ทั้งด้านวิชาการและการบริหาร ด้านวิชาการ ตนเป็นอาจารย์ที่มีคุณวุฒิสูงสุดทางด้านวิชาการ เป็นศาสตราจารย์ระดับ 11 ส่วนการบริหารก็ผ่านการบริหารงานทั้งที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานวิจัย และในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ ในด้านการเรียนการสอน ตนก็ได้รับรางวัลระดับชาติคือรางวัลอาจารย์ดีเด่นของชาติ นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลรางวัลกีรตยาจารย์ ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดที่ให้อาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังนั้นขอให้มั่นใจว่าในด้านการเรียนการสอน ตนมีประสบการณ์ที่จะนำพาวิทยาลัยและนักศึกษาให้มีการเรียนการสอนตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยยังมีอาจารย์ที่มีคุณภาพ เช่น ศ.พิเศษ ดร.ทพ.จีรศักดิ์ นพคุณ ซึ่งเป็นรองคณบดีดูแลด้านการบริหารหลักสูตร ในอดีต ดร.ทพ.จีรศักดิ์ เป็นคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการของจุฬาฯ รวมทั้งยังมีศาสตราจารย์อีกหลายคน ส่วนอาจารย์ใหม่หลายคนก็จบจากมหาวิทยาลัยมหิดลด้วยคะแนนสูงสุด เหรียญทองอันดับ 1 บางคนก็เกียรตินิยมเหรียญทองอันดับ 1 จากจุฬาฯ บางคนก็เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นนโยบายมหาวิทยาลัย นโยบายวิทยาลัย คุณภาพของผู้บริหารและอาจารย์ที่สอน ตนมั่นใจว่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะทำให้การเรียนการสอนมีความทันสมัย และสอดคล้องกับหลักและข้อบังคับของสภาวิชาชีพ นักศึกษาทันตแพทย์เมื่อเรียนจบแล้วจะมีความรู้ความสามารถ จริยธรรม และมีความเป็นนานาชาติสมปณิธานของมหาวิทยาลัย
"เพราะฉะนั้นขอให้นักเรียน ผู้ปกครอง มั่นใจในการทำงานของมหาวิทยาลัยว่าเราดำเนินการทุกอย่างตามกฎหมาย ข้อบังคับ และถึงแม้จะไม่เป็นข้อบังคับ ทางมหาวิทยาลัยก็จะเน้นเรื่องคุณภาพ เรามั่นใจว่าเมื่อท่านส่งบุตรหลานมาเรียนกับเรา จะเป็นการเรียนที่มีคุณภาพ เมื่อเรียนจบแล้วก็จะไปทำงานที่ไหนก็ได้เพราะมีความรู้ความชำนาญในระดับนานาชาติ" ศ.ดร.ทพ.สิทธิชัย กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ห่วง 3 มหาลัยเปิดรับ นศ.ทันตะฯ ทั้งที่หลักสูตรยังไม่ผ่านการรับรอง หวั่นกระทบ นศ.-ผู้ปกครอง
คณบดีทันตแพทย์จุฬาฯ ชี้หมอฟันทำงานกับชีวิตคน มหาลัยที่เปิดสอนควรผ่านมาตรฐานตั้งแต่ต้น
ม.วลัยลักษณ์ยันรับ นศ.ตามข้อบังคับ มั่นใจผ่านประเมินหลักสูตร-น.ศ.สอบใบประกอบวิชาชีพได้หมด
ทันตแพทยสภาแถลงการณ์ คณะทันตะที่ยังไม่ได้รับรองหลักสูตร เป็นคณะเปิดใหม่ หากทำตามเกณฑ์จะได้รับรอง
- 389 views