สสส.ชวนคนไทยรักสุขภาพ เลือกบริโภคตามไลฟ์สไตล์กับ 3 ทางเลือก “Street Food Models” หลังพบปี 61 ซื้ออาหารริมฟุตบาทกินไม่ต่ำกว่า 4-6 ครั้งต่อสัปดาห์ พบหมูปิ้ง ก๋วยเตี๋ยวน้ำใส ของทอด หวาน มัน เค็มเกินมาตรฐาน
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ณ อาคารสาธารณสุขวิศิษฏ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.สนับสนุนและส่งเสริมให้คนไทยสุขภาพดี โดยขับเคลื่อนการทำงานภายใต้แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ ส่งเสริมการสร้างพฤติกรรมและค่านิยมการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ และมีโภชนาการอย่างเหมาะสม สามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัย เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารอย่างยั่งยืน สื่อสารให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจและรู้เท่าทันที่จะเลือกผลิต จำหน่าย และบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ลดความเสี่ยงและเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ด้วยการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว และวิถีชีวิตของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป
“สำหรับงานแถลงข่าว “รักสุขภาพ ด้วยไลฟ์สไตล์กับ 3 Street Food Models” ครั้งนี้ สสส.ร่วมกับ สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกระดับอาหารริมบาทวิถีให้ได้มาตรฐานทั้งด้านสุขลักษณะ ความปลอดภัย และส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมมาตรการทางสังคม และการสื่อสารสาธารณะเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความตระหนักรู้ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสู่การกําหนดเป็นนโยบายการพัฒนาอาหารริมบาทวิถีสุขภาวะอย่างยั่งยืนต่อไป โดยมียุทธศาสตร์ ดังนี้
1) การส่งเสริมให้เกิดการผลิตและจำหน่ายอาหารสุขภาพที่ประชาชนเข้าถึงง่าย 2) การพัฒนาต้นแบบหรือศูนย์เรียนรู้ด้านการส่งเสริมให้เกิดปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพของประชาชน 3) การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการหนุนเสริมการพัฒนาระบบอาหารสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ และ 4) การสนับสนุนงานพัฒนาเชิงนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเข้าถึงข้อมูลทางด้านสุขภาพสำหรับประชาชน” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ผศ.ดร.เรวดี จงสุวัฒน์ ผู้จัดการโครงการการพัฒนารูปแบบการจัดการอาหารริมบาทวิถีเพื่อเสริมสร้างสุขภาพ กล่าวว่า การวิจัยพัฒนาอาหารริมบาทวิถี (Street Food) 3 รูปแบบ โดยแบ่งตามลักษณะทางกายภาพ ได้แก่ 1.รูปแบบพื้นที่ปิด 2.รูปแบบพื้นที่ริมบาท 3.รูปแบบฟู๊ดทรัค ปี 2561 พบว่า คนไทยนิยมรับประทานอาหารริมบาทวิถีไม่ต่ำกว่า 4-6 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 30.8 โดยประเภทอาหารยอดฮิต คือ ปิ้ง/ย่าง/เผา เช่น หมูปิ้ง ร้อยละ 34 อาหารตามสั่ง ร้อยละ 22 อาหารต้ม/ก๋วยเตี๋ยวน้ำใส ร้อยละ 19 และอาหารทอด ร้อยละ 10 ซึ่งนับเป็นอาหารที่ส่งผลต่อสุขภาพและควรจำกัดปริมาณการบริโภคอย่างเหมาะสม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาด้านความปลอดภัยของอาหารและคุณค่าทางโภชนาการ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ และเสนอหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้มีหน่วยงานภายนอก (Third Party) และภาคประชาชน ร่วมกันเฝ้าระวังและตรวจสอบความปลอดภัยอาหารที่จัดจำหน่ายและกำหนดหลักสูตรการอบรมผู้ประกอบการตามหลักสุขาภิบาล เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเกิดความตระหนักด้านความปลอดภัยอาหารและโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง และติดตามขับเคลื่อนขยายผลให้เกิดการปฏิบัติอย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย จะร่วมกันพัฒนาให้เกิดอาหารริมบาทวิถีสุขภาวะที่ได้มาตรฐาน และขับเคลื่อนมาตรการ/นโยบายเพื่อการส่งเสริมอาหารริมบาทวิถีสุขภาวะ ที่เหมาะสมตามบริบทและอัตลักษณ์ของพื้นที่ สนับสนุนมิติด้านเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติวัฒนธรรม เพื่อหวังผลลัพธ์ที่ประชาชนมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน
- 77 views