คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ไฟเขียว “ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง...สู่การพัฒนาสังคมสุขภาวะ” เป็นธีมงานปี 2562 พร้อมเห็นชอบให้ประกาศทบทวนมติฯ สังคมไทยไร้แร่ใยหินเป็นระเบียบวาระแรกของการประชุมในปีนี้ หวังเผยแพร่ความรู้และส่งเสริมสนับสนุนการใช้สารทดแทนที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ สู่การบริหารจัดการเพื่อควบคุม ลด และ เลิกการใช้แร่ใยหิน
วันที่ 6 มิถุนายน 2562 ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มี การประชุมคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 3/2562 โดยมี นพ.กิจจา เรืองไทย ประธาน คจ.สช. เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมมีมติสำคัญ 2 ประเด็น คือ รับรองธีมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 คือ “ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง... สู่การพัฒนาสังคมสุขภาวะ” และเห็นชอบให้ประกาศประเด็นระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง “การทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติ 3.1 มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” ก่อนจะมีการประกาศระเบียบวาระอื่นๆ ในครั้งต่อไป
“ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง...สู่การพัฒนาสังคมสุขภาวะ” ธีมงานปีนี้
นพ.กิจจา เรืองไทย ประธาน คจ.สช. กล่าวว่า การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทุกปีจะมีการกำหนดธีมเพื่อให้การจัดงานมีความโดดเด่นและเป็นแนวทางกำหนดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งการประชุมคณะอนุกรรมการบริหาร เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา มีการพิจารณาธีมจัดงานโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในแต่ละครั้ง รวมทั้งบริบทของสังคมในช่วงนั้นๆ จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ปี 2562 จะเป็นธีม ‘ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง...สู่การพัฒนาสังคมสุขภาวะ’ โดยที่ประชุมได้รับทราบข้อสรุปดังกล่าว และได้มอบหมายให้กลไกภายใต้ คจ.สช.นำธีมดังกล่าวไปใช้กำหนดจัดงานต่อไป
นพ.กิจจา เรืองไทย
ทั้งนี้ ความหมายของธีม แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง หมายถึง การปรับวิธีคิดวิธีการทำงานเพื่อให้ทันกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน ทั้งในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีสู่โลกดิจิทัล การเปลี่ยนไปของสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงวิธีคิดและการมองโลกของคนรุ่นใหม่ที่มีความท้าทายต่อระบบสุขภาพ
สังคมสุขภาวะ หมายถึง สังคมที่มีโครงสร้างและระบบที่เอื้อต่อการทำให้พลเมืองมีการเรียนรู้ร่วมกันอย่างมีส่วนร่วม มีความรับผิดชอบ เคารพในสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ ความแตกต่าง และศักดิ์ศรีอันเท่าเทียมกันของมนุษย์ ก่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์วิทยา ความเป็นธรรมและความอยู่ดีมีสุขของพลเมือง รวมถึงการพัฒนาเพื่อสร้างสุขภาวะ
เห็นชอบประกาศ 'สังคมไทยไร้แร่ใยหิน' เป็นระเบียบวาระแรกประจำปีนี้
รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานอนุกรรมการวิชาการ คจ.สช. ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินงานด้านการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายในการจัดสมัชชาฯ ครั้งนี้ เสนอต่อที่ประชุมว่า ทางคณะอนุกรรมการวิชาการได้พิจารณากลั่นกรองแล้วเห็นชอบให้นำเรื่อง “การทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติ 3.1 มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” กำหนดเป็นระเบียบวาระในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ เนื่องจากมติเดิมไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ในขณะที่เรื่องนี้ยังเป็นปัญหาสำคัญที่มีความท้าทายอยู่
รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์
จากนั้นที่ประชุม คจ สช. มีมติรับรองให้ประเด็นนี้เป็นระเบียบวาระในการประชุมสมัชชาครั้งที่ 12 อย่างไรก็ตาม ก่อนมีมติดังกล่าว ที่ประชุมมีการอภิปรายเรื่องปัญหาแร่ใยหินที่ยังคงเป็นประเด็นอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยประธานคณะอนุกรรมการวิชาการ กล่าวเสริมถึงประเด็นช่องว่างของการแก้ปัญหาเรื่องแร่ใยหินว่ามี 2 เรื่องหลัก คือ 1.การเมืองหรือการกำหนดนโยบาย 2.การบังคับใช้กฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ (Enforcement) ซึ่งที่ผ่านมา แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว แต่ไม่เป็นผล และแรงกดดันกลับมาอยู่ที่ผู้ปฏิบัติงาน เนื่องจากเรื่องนี้อยู่ภายใต้คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่องค์ประกอบของคณะกรรมการไม่มีความสมดุล โดยมีความพยายามที่จะปรับปรุงใหม่ จากเดิมที่หน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องวัตถุอันตรายมีเพียงกรมโรงงาน ก็เริ่มมีส่วนอื่นเข้ามาร่วมทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรฯ ในมิติด้านสุขภาพ มีความพยายามผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.สารเคมี ขึ้นมาแทน พ.ร.บ.วัตถุอันตราย และแม่งานหลักจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข เพราะเน้นในเรื่องของสุขภาพและมองครบทั้งวงจรตั้งแต่การจัดทำระบบข้อมูลสารเคมีในประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยยังขาดอย่างมาก
รศ.ภญ.จิราพร ยังกล่าวต่อว่า อีกเรื่องหนึ่งที่สามารถทำได้คือ การขอความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ ให้กำหนดกติกาการก่อสร้างอาคารใหม่ว่าจะไม่ใช้แร่ใยหิน แต่เรื่องที่น่าห่วงใยยิ่งกว่าคือการรื้อถอน ซึ่งจะทำให้แร่ใยหินฟุ้งกระจายเป็นอันตราย เหล่านี้เป็นประเด็นใหญ่ที่จะเขียนมติออกมาให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่เน้นการมีส่วนร่วม การแลกเปลี่ยนบนฐานข้อมูลและเหตุผล เพื่อให้ได้ฉันมติร่วมกัน เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 โดยมีการจัดอย่างเป็นทางการครั้งแรกใน ปี 2551 และจัดต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี โดยงานที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายปี 2562 นี้จะเป็นครั้งที่ 12
- 24 views