คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติฯ ประกาศระเบียบวาระที่ 2 ‘วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาพจิตครอบครัว’ เตรียมผลักดันเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ช่วงปลายปี 2562 เหตุพบสถิติผู้ป่วยจิตเวชและอัตราฆ่าตัวตายขยายตัวรวดเร็ว แม้ในต่างจังหวัด บุคลาการด้านจิตเวชไม่เพียงพอ การไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศภาวะทำครอบครัวไทยตึงเครียด หลังประกาศระเบียบวาระแรก ‘มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’ ไปก่อนหน้านี้
นายแพทย์กิจจา เรืองไทย
วันที่ 1 สิงหาคม 2562 ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ มีการประชุมคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 4/2562 โดยมี นายแพทย์กิจจา เรืองไทย ประธาน คจ.สช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยที่ประชุมมีการรับรองระเบียบวาระที่ 2 ที่จะประกาศในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ในเดือนธันวาคมปีนี้ คือ วิถีเพศสภาวะ: เสริมพลังสุขภาพจิตครอบครัว
ธีมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ คือ ‘ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง... สู่การพัฒนาสังคมสุขภาวะ’ ส่วนระเบียบวาระแรกที่ประกาศไปแล้วคือ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ซึ่งเป็นมติเดิมที่หยิบยกขึ้นมาทบทวนใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ภายในเดือนกันยายน 2562 จะมีการประกาศระเบียบวาระอื่นๆ เพิ่ม โดยที่ประชุมคณะกรรมการจัดสมัชชาฯ จะเป็นผู้พิจารณาข้อเสนอจากอนุกรรมการวิชาการ
รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์
รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานอนุกรรมการวิชาการ กล่าวว่า ระเบียบวาระ วิถีเพศสภาวะ: เสริมพลังสุขภาพจิตครอบครัว พัฒนามาจากประเด็นสุขภาพสตรีและครอบครัว ซึ่งจากการประชุมภาคส่วนต่างๆ พบว่าปัญหาสุขภาพจิตกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในสังคมไทย เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งมาจากมุมมองเรื่องเพศสภาวะที่ทำให้สมาชิกในครอบครัวเกิดความเครียด เช่น แนวคิดเดิมเรื่องบทบาทหญิงชาย มุมมองชายเป็นใหญ่ การไม่ยอมรับเพศสภาพอื่นๆ สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องการได้รับการทบทวนและขยายความเข้าใจในสังคม
รศ.จิราพร ยกตัวอย่างว่า หากสำรวจผู้ป่วยที่มารับบริการด้านจิตเวช อาทิ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ในปี 2560 พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2558 มากกว่าร้อยละ 50 และมีผู้พยายามทำร้ายตัวเองเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน จึงมีการหารือกับเครือข่าย ได้แก่ กรมสุขภาพจิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันราชานุกูล สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ กรมกิจการสตรี ฯลฯ เพื่อศึกษา รวบรวมประเด็นปัญหา และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสร้างเสริมสุขภาพสู่สังคมสุขภาวะผ่านมุมมองมิติเพศภาวะ เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนใน 3 ระบบหลัก ได้แก่ โครงสร้างสังคม ระบบการศึกษา ระบบบริการสุขภาพ
สุวณี สมาธิ กรรมการจัดสมัชชาฯ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการหยิบปัญหาสุขภาพจิตมาขับเคลื่อนในปีนี้ เพราะกำลังเป็นเรื่องที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในระดับพื้นที่ แต่ละจังหวัดมีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นมาก โดยมีสาเหตุมาจากหลายเรื่องโดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงอัตราการฆ่าตัวตายในจังหวัดต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วย ไม่เว้นแม้แต่พระสงฆ์
ด้านตัวแทนคณะอนุกรรมการวิชาการระบุว่า มีสถิติตัวเลขรองรับว่าเรื่องนี้กำลังเป็นปัญหาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะวัยรุ่นทั้งหญิงชาย ขณะที่บุคลากรด้านนี้มีไม่เพียงพอ และบุคลากรสาธารณสุขโดยทั่วไปก็ไม่กล้าให้คำแนะนำกับผู้ป่วยจิตเวชในพื้นที่ ทำให้ปัญหาไม่ได้รับการดำเนินการแก้ไขอย่างทันท่วงที ประชาชนจำนวนมากเข้าไม่ถึงบริการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต
ท้ายที่สุด ที่ประชุมมีมติรับรองระเบียบวาระดังกล่าวในเบื้องต้น โดยให้อนุกรรมการวิชาการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำเอกสารหลักศึกษาเรื่องนี้ให้สมบูรณ์แล้วนำเสนอในการประชุมครั้งถัดไป รวมทั้งอาจมีการปรับเปลี่ยนชื่อระเบียบวาระให้ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ยังมีอีกระเบียบวาระหนึ่งที่คาดว่าจะมีการศึกษาเสร็จสมบูรณ์พร้อมนำเสนอในการประชุมครั้งหน้าคือ การจัดการปัญหามลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5
ทั้งนี้ การจัด สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคมไทย เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 โดยมีการจัดอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2551 และจัดต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี ปลายปี 2562 นี้จะเป็นครั้งที่ 12 ภายในงานจะมีทั้งเวทีพัฒนานโยบายสาธารณะ ซึ่งในเบื้องต้นมีการนำเสนอมาแล้ว 8 ประเด็น เช่น ชีวจริยธรรม, บทบาทของ young blood ในการร่วมพัฒนานโยบายสาธารณะ, การจัดการป่า, การจัดการน้ำ, การสังคายนาธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ ฯลฯ ในส่วนของลานสมัชชาและบูธนิทรรศการ มีการนำเสนอ 7 ประเด็น เช่น ขยะในทะเล, Cyberbullying, ผู้สูงอายุ เป็นต้น ในส่วนของเวทีกลางมีการนำเสนอ 6 ประเด็น เช่น กลุ่มเปราะบาง, การท่องเที่ยวชุมชน, การออมต้นไม้เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ฯลฯ สำหรับเครือข่ายที่จะเข้าร่วมงานนั้นจำนวน 254 กลุ่ม โดยมีทั้งเครือข่ายพื้นที่, เครือข่ายภาคประชาสังคม, เครือข่ายวิชาการ วิชาชีพ และเครือข่ายภาคราชการ
- 14 views