ชมรมอดีตพนักงานของรัฐ สธ. ร้องซ้ำ หลังไม่ได้รับความเป็นธรรมเงินเดือนรุ่นน้องแซงหน้ารุ่นพี่ทำก่อนหลายสิบปี ยันหลังตั้งรัฐบาลพร้อมทวงถาม ก.พ. เผยเรียกร้องหลายครั้งแต่ไม่เคยได้รับการแก้ไข ส่งผลเสียต่อระบบการปกครองในองค์กร เจ้าหน้าที่ขาดความสุข กระทบขวัญกำลังใจการทำงานบริการประชาชน

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 นายมานพ ผสม ประธานชมรมอดีตพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ความเหลื่อมล้ำของบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขยังคงมีอยู่ ที่ผ่านมาทางชมรมฯ ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังกระทรวงสาธารณสุข และทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ใน 2 ประเด็น คือ 1.ขอสิทธิประโยชน์ในการนับระยะเวลาการเป็นพนักงานของรัฐเพื่อคำนวณบำเหน็จบำนาญ หรือให้มีการเยียวยาให้กับพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่เริ่มปฏิบัติงานจนถึงปัจจุบัน ในอัตราเทียบเท่าพนักงานมหาวิทยาลัย คือ อัตรา 1.5 เท่าของข้าราชการพลเรือนสามัญ และ 2.ขอให้มีการปรับแก้ไขเงินเดือน อัตราใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ จากหลักเกณฑ์การเยียวยา ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร 1012.2/ 250 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2558

“ในเรื่องของอายุราชการตอนปี 2543 นักเรียนทุนกระทรวงสาธารณสุข พอจบมาก็จะได้รับการจ้างในตำแหน่งพนักงานของรัฐ พอปี 2547 ก็จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ แต่ปรากฏว่าเมื่อบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว กลับไม่นับอายุราชการตอนเป็นพนักงานของรัฐ ทั้งที่เดิมทีบอกว่า พนักงานของรัฐเทียบเท่าราชการทั้งหมด แต่การนับอายุราชการกลับไม่มี เราเพิ่งจะมาทราบจุดนี้เมื่อประมาณปี 2560-2561 เนื่องจากมีประเด็นเยียวยาน้องๆ ที่เข้ารับการบรรจุ โดยปรับหลักเกณฑ์เงินเดือนอัตราใหม่ ไม่ให้เหลื่อมล้ำ แต่ปรากฏว่า เงินเดือนน้องๆ กลับได้ใกล้เคียงหรือมากกว่ารุ่นพี่ที่ทำงานมานาน หลายคนแซงรุ่นพี่ก็มี อย่างน้องบางคนได้หมื่นกว่าบาท ปรับใหม่ได้ร่วม 2 หมื่นกว่าบาท ที่ผ่านมายื่นเรื่องหลายครั้งให้แก้ไขประเด็นเหล่านี้ ล่าสุดทราบเพียงว่า ที่ประชุม อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข ได้พิจารณาแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม และส่งเรื่องให้ ก.พ. พิจารณาต่อ พวกเราคิดว่า หากยังไม่มีความคืบหน้า ภายหลังจากจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อย พวกเราจะขอเดินทางไปสอบถาม ก.พ.ต่อไป” นายมานพ กล่าว

นายมานพ กล่าวว่า ชมรมอดีตพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการร้องขอความเป็นธรรมจากช่องทางต่างๆ ตั้งแต่ 5 มิถุนายน 2560 รวมหนังสือยื่นถึงหน่วยงานต่างๆมากกว่า 10 ฉบับ ยื่นศูนย์ดำรงธรรมแต่ละจังหวัดทั่งประเทศ ยื่นสมุดปกขาวรายบุคคลไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี มากกว่า 2,500 ฉบับ แต่ก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาแต่อย่างใด ทำให้สูญเสียขวัญและกำลังใจเป็นอย่างมาก ส่งผลเสียต่อระบบการปกครองในองค์กร เจ้าหน้าที่ขาดความสุข องค์กรและหน่วยงานสูญเสียสิทธิประโยชน์ กระทบต่อคุณภาพการบริการประชาชน ประชาชนสูญเสียโอกาสการได้รับบริการที่ดี มีประสิทธิภาพสูงสุด และยังส่งผลต่อสุขภาวะประชาชนโดยรวม

นายมานพ กล่าวอีกว่า ผลกระทบจากการเยียวยา ได้ขยายเป็นวงกว้าง กระทบข้าราชการทุกกลุ่ม ทุกคน เห็นได้จากกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำข้อมูลเปรียบเทียบถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น จากเกณฑ์การเยียวยาข้าราชการเฉพาะกลุ่ม ตาม นร.1012.2/ 250 โดยได้เปรียบเทียบไว้ให้ ทุกกลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มข้าราชการปกติ 2.ข้าราชการที่มาจากพนักงานของรัฐฯ 3.ข้าราชการกลุ่มเปลี่ยนสายงาน 4.ข้าราชการที่ได้บรรจุตาม นร.154 โดย แยกเป็น 2 กรณี ดังนี้

(กรณีที่ 1) กรณีได้รับเงินเดือน ใกล้เคียงกัน พบว่า

1.1 ข้าราชการปกติ มีอายุราชการ มากกว่า กลุ่มได้เยียวยา สูงสุด 14 ปี

1.2 กลุ่มเปลี่ยนสายงาน มีอายุราชการ มากกว่า กลุ่มได้เยียวยา สูงสุด 16 ปี

1.3 กลุ่มพนักงานของรัฐฯ มีอายุราชการ มากกว่า กลุ่มได้เยียวยา สูงสุด 7 ปี

(กรณีที่ 2) กรณีอายุราชการมากกว่า แต่ได้รับเงินเดือน น้อยกว่า พบว่า

2.1 ข้าราชการปกติ ได้รับเงินเดือนน้อยกว่า ทั้งที่ทำงานมาก่อน ถึง 12 ปี

2.1 ข้าราชการกลุ่มเปลี่ยนสายงาน ได้รับเงินเดือนน้อยกว่า ทั้งที่ทำงานมาก่อน สูงสุดถึง 25 ปี

2.3 ข้าราชการที่เคยเป็นพนักงานของรัฐฯ ได้รับเงินเดือนน้อยกว่า ทั้งที่ทำงานมาก่อน ถึง 8 ปี

หรือแม้แต่กลุ่มที่ได้รับการเยียวยายังพบว่า มีความเหลื่อมล้ำกันเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รองปลัด สธ.เผยคืบหน้าส่งเรื่อง ก.พ.-บัญชีกลางพิจารณาปม 'นับอายุราชการ-เงินเดือนเหลื่อมล้ำ'