มะเร็งเป็นประเด็นสำคัญระดับโลก เนื่องจากผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น จำนวนผู้ป่วยมะเร็งจึงมีมากขึ้นทุกปี และมักเป็น สาเหตุการเสียชีวิตอันดับแรกของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก สหประชาชาติได้เริ่มเห็นความสำคัญของมะเร็ง ว่าเป็นประเด็นที่นานาชาติ พึงร่วมมือกันจัดการร่วมกัน และเป็นเหตุของภาระค่าใช้จ่ายของมนุษยชาติที่มากขึ้นทุกปี
ในการประชุม War on Cancer ที่สิงคโปร์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา 28 มีนาคม 2562 ได้มีการนำเสนอ ผลการสำรวจประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เกี่ยวกับ “ความพร้อมในการรับมือกับมะเร็ง” หรือ Cancer preparedness โดยทีมวิจัยนานาชาติของ Economist Intelligence Unit แห่งนิตยสาร The Economist หน่วย EIU ได้สร้างดัชนีใหม่ล่าสุด ชื่อว่า “ดัชนีความพร้อมรับมือกับมะเร็ง” ของประเทศต่าง ๆ 28 ประเทศทั่วโลก และได้จัดอันดับความพร้อมในการรับมือกับมะเร็ง เป็นครั้งแรก
ประเทศที่จัดการรับมือกับมะเร็งได้ดีที่สุด คือ ออสเตรเลีย ดัชนีอยู่ที่ 90 โดยดัชนีนี้คำนวณจาก การบริหารจัดการด้านนโยบาย ทะเบียนมะเร็ง การควบคุมบุหรี่ อาหาร การดูแลประชากร ทั้งในด้านป้องกัน ตรวจกรอง และการดูแลรักษาผู้ป่วย และระบบสาธารณสุขในด้านการลงทุน และการกำกับดูแลการบริการ
ประเทศไทยมีดัชนีความพร้อมรับมือมะเร็งอยู่ที่ 69.4 หรือเป็นอันดับ 17 ใน 28 ประเทศ ที่ได้รับการจัดอันดับ ประเทศไทยได้คะแนนสูงเนื่องจากมีแผนควบคุมมะเร็งระดับชาติ มีระบบลงทะเบียนมะเร็งที่มีความน่าเชื่อถือ มีการเก็บข้อมูลคุณภาพดี ไลฟ์สไตล์และอาหารที่ดี มีการให้วัคซีนป้องกันตับอับเสบบีและเอ็ชพีวี มีแนวทางการรักษามะเร็งที่เป็นระบบ แต่ประเทศไทยยังทำได้ไม่ดีนักในด้านการดูแลแบบผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง จำนวนแพทย์ พยาบาล และบุคคลากรด้านมะเร็ง และความสนใจของนักการเมืองในด้านการควบคุมมะเร็ง
แต่เมื่อวิเคราะห์เทียบกับทรัพยากรที่ใช้ในการดูแลสุขภาพ ทั่วโลกชื่นชมไทยว่าเป็นประเทศหนึ่ง ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการจัดการมะเร็ง ประเทศไทย เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย เป็นสามประเทศ ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คือดัชนีความพร้อมสูงที่สุด เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ แต่ไทยใช้เงินประหยัดที่สุด เพียง 4% และออสเตรเลีย ใช้เงิน 9% ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ ต่างจากสหรัฐอเมริกาซึ่งใช้ทรัพยากรมาก แต่ความพร้อมจัดการมะเร็งไม่ได้ดีกว่าประเทศอื่น สักเท่าใดนัก
ประเทศไทยควบคุมมะเร็งได้ดีกว่าหลายชาติในโลก มีอัตราการเป็นมะเร็งต่ำกว่าประชากรชาติอื่นในโลก เพราะควบคุมการสูบบุหรี่ได้ดีพอควร ทุกคนเข้าถึงการรักษามาตรฐานด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกพยายามทำตาม การบริหารสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้เราสามารถต่อรองราคากับบริษัทยาในระดับชาติ ทำให้ซื้อยาสำคัญที่รักษาโรคมะเร็งที่หายขาดได้ในราคาที่เป็นธรรม คนไทยจึงล้มละลายจากการรักษาน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น
สมาพันธ์ต้านมะเร็งนานาชาติ UICC กำลังรณรงค์เรื่องการรักษามะเร็งถ้วนหน้า ‘Treatment for all” เนื่องจากการรักษามะเร็งอาจมีค่าใช้จ่ายสูง จนทำให้ประชากรประสบภาวะล้มละลายจากการรักษาได้ และทำให้ผู้ป่วยที่อาจรักษาหายขาดได้เลือกไม่รักษา เสียชีวิตก่อนวัยอันควร มีเพียงประเทศไทยและอีก 55 ประเทศทั่วโลกเท่านั้น ที่สามารถจัดให้แก่ประชากรของตัวเองสำเร็จแล้ว และด้วยการที่มีไทยเป็นตัวอย่าง และชาวฟิลิปปินส์ก็เพิ่งจะสามารถต่อรองให้รัฐบาลของเขา ให้เริ่มการดูแลรักษามะเร็งถ้วนหน้าได้สำเร็จเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว โดยใช้ “ภาษีบาป” อินโดนีเซียก็ได้สุขภาพถ้วนหน้าเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ขณะนี้รัฐบาลอินโดนีเซียเริ่มประสบปัญหา ทางการเงินเนื่องจาก ไม่สามารถควบคุมการเบิกจ่ายการรักษามะเร็งซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงแต่แรก จนอาจทำให้ต้องล้มเลิกการรักษามะเร็งถ้วนหน้าก็เป็นได้
การเข้าถึงการดูแลสุขภาพถ้วนหน้า มิได้แปลว่า ทุกคนจะรักษาหายขาด ผู้ป่วยโรคมะเร็งส่วนใหญ่ ไม่สามารถรักษาหายขาดได้ เฉพาะในรายที่เป็นระยะแรก ๆ เท่านั้น ที่รักษาหายขาดได้ ทุกคนที่รักษาหายขาดได้พึงเข้าถึงการรักษาที่เป็นมาตรฐานและมีคุณภาพดีคือทำให้หายขาด โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ส่วนผู้ที่เป็นโรคมะเร็งลุกลามแต่แรก หรือรักษาแล้วไม่หาย ก็ควรจะได้รับการรักษาบ้าง แต่เนื่องจากรักษามะเร็งลุกลามนั้น แม้จะแพงเท่าไรก็ไม่หายอยู่ดี ในสภาวะที่มีทรัพยากรจำกัดนั้น รัฐจึงเปิดทางเลือกไว้ ผู้ใดอยากพยายามรักษา ทั้งที่ไม่หาย ก็สามารถเข้าถึงได้ด้วยการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง หรือจะแสวงหาการแพทย์ทางเลือก ด้วยตนเองก็ย่อมได้ การบริหารเช่นนี้ ทำให้การใช้จ่ายของรัฐมีประสิทธิภาพสูง โดยรวมคนไทยจึงมีอายุยืนแม้ใช้จ่ายด้านสุขภาพน้อย แต่ในอนาคตเมื่อมีเงินระบบมากขึ้น เราจะมีโอกาสพัฒนาในการลงทุนคัดกรองมะเร็งแต่แรก ซึ่งทำให้ประชากรก็จะสามารถเข้าถึง การรักษาได้เร็วขึ้นอีก อัตราตายจะลดลง
การรักษามะเร็งไม่จำเป็นต้องแพงเสมอไป ผู้ที่ตระหนักในสัจจธรรมว่า ในที่สุดคนเราก็ต้องตาย ย่อมเข้าใจตรงกันว่า การป่วยด้วยมะเร็งที่ลุกลามแล้ว ถ้า “ตายไม่กลัว แค่กลัวทรมาน” ก็สามารถเลือกไม่รับการรักษาที่น่าทรมาน และไม่ได้ผลได้ ยุคนี้เราสามารถอยู่กับมะเร็งอย่างสันติ โดยไม่ต้องเจ็บปวดทรมานก็ได้ โดยการให้ยาบำบัดความปวดอย่างเต็มที่ แล้วเก็บเงินที่หามาได้ทั้งชีวิต ไปกิน เที่ยว ทำบุญ แจกลูกหลาน หรือเพื่อสร้างสรรค์สังคม ผู้ที่มีทัศนคติเช่นนี้สามารถร้องขอ ทีมดูแลประคับประคอง หรือ ทีมดูแลระยะท้ายของโรงพยาบาล ให้ช่วยวางแผนชีวิต และดูแลอย่างเต็มที่ได้ หากไม่อยากอยู่โรงพยาบาล ก็สามารถติดต่อสามารถปรึกษาองค์กรอิสระ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช), โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ, เครือข่ายพุทธิกา, เครือข่ายชีวิตสิกขา, ชีวามิตรวิสาหกิจเพื่อสังคม, เยือนเย็นวิสาหกิจเพื่อสังคม, มูลนิธิกัลยาณการุณย์, มูลนิธิสายธารแห่งความหวัง, เสมสิกขาลัย, จิตอาสาเยียวยาจิตใจผู้ป่วย I see U, ชมรมเพื่อนมะเร็งไทย, สถาบันไทยใส่ใจ หน่วยงานเหล่านี้จะสามารถส่งต่อให้เข้าถึง แพทย์พยาบาลและบุคคลากร ที่จะเคารพการตัดสินใจและทางเลือกของผู้ป่วยได้
ผู้เขียน : ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้อมูลจาก
ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร
- 627 views