เด็ก ๆ ก็เป็นมะเร็งได้ ในปีที่ผ่านมา คนดังอย่างเช่น น้องสกาย ก็เป็นมะเร็ง เช่นเดียวกับเด็กไทยอีกเกือบ 1,000 คน เด็ก ๆ เป็นมะเร็งน้อยกว่าผู้ใหญ่ร้อยเท่า ทั่วโลกนี้ เด็ก ๆ ก็เป็นมะเร็งกันปีละสองแสนคน จึงได้มี วันมะเร็งเด็กโลก ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ของทุกปี
เด็กไทยยุคนี้ไม่ได้เป็นมะเร็งมากขึ้น แต่เป็นเพราะการรักษาดีขึ้น การสื่อสารดีขึ้นมาก มีรอดมาเล่าเรื่องราวให้เพื่อนฟังมากขึ้น เราจึงรู้สึกเหมือนว่า มะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย แต่ที่จริงถ้าเพิ่มขึ้นก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
โดยภาพรวมแล้ว เด็กไทยเป็นมะเร็งน้อยกว่าประเทศอื่นทั่วโลก คือเพียง 77 รายต่อเด็กล้านคนต่อปี น้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก (140 รายต่อเด็กล้านคน) มะเร็งเกิดได้ทั้งในเด็กทารก เด็กเล็ก เด็กโต เด็กวัยรุ่น มะเร็งในเด็กมีหลายสิบชนิด ชนิดที่พบบ่อยที่สุด คือมะเร็งเม็ดเลือดขาว ตามด้วย มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งสมอง และอวัยวะเกือบทุกอย่าง แต่เป็นคนละชนิดกับของผู้ใหญ่ ประสบการณ์มะเร็งในผู้ใหญ่ ไม่เหมือนในเด็กเลย
มะเร็งส่วนใหญ่ไม่เกิดจากพันธุกรรม มะเร็งในเด็กไม่ได้เกิดจากสารพิษ ไม่เกี่ยวกับอาหาร ไม่เกิดจากการดูแลไม่ดี ไม่เกี่ยวกับการดูแลช่วงที่แม่ตั้งครรภ์ ไม่ได้เกิดจากความเครียด ไม่สามารถหาสาเหตุได้ จึงไม่สามารถป้องกันได้ อาการของมะเร็งในเด็กก็มีหลากหลาย ไม่สามารถให้คำแนะนำได้ว่า อาการอย่างไรควรสงสัยมะเร็งในเด็ก พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องรู้จะดีกว่า รู้ไปก็กังวลเสียเปล่า ๆ เพราะมะเร็งในเด็ก เกิดขึ้นน้อยมาก อาการก็ไม่จำเพาะ มีได้ตั้งแต่ เลือดจาง จ้ำเลือด ปวดแขนขา ไข้ ก้อน ซึ่งมักเกิดจากโรคอื่นที่รักษาได้บ่อยกว่ามาก
ข่าวดีที่ควรทราบคือ ถ้าเด็กเป็นมะเร็งในยุคนี้ มีโอกาสรักษาหายขาดมากกว่าไม่หาย ไม่ว่าจะตรวจพบเร็วหรือช้าก็ตาม ถ้าเป็นชนิดที่รักษาหายขาดได้ ก็จะหายขาด ยกตัวอย่างเช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแม้เป็นระยะที่ 4 อย่างกรณีน้องสกาย ก็ยังมีโอกาสหายได้ แต่ถ้าเป็นมะเร็งชนิดที่รักษายาก จะรักษาอย่างไร เสียเงินมากแค่ไหน ก็ไม่หาย ข่าวดีอีกประการหนึ่ง คือ เด็กไทยทุกคนสามารถรับการรักษามะเร็งได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าบ้านอยู่ที่ใด คุณหมอจะส่งต่อมาให้โรงพยายาล 25 แห่ง ที่มีหมอเด็กผู้เชี่ยวชาญการรักษามะเร็งเด็ก เพื่อรักษาด้วยสูตรการรักษาที่คุณหมอ ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งเด็กทั้งประเทศได้ตกลงกันแล้วว่า ดีที่สุดสำหรับมะเร็งแต่ละชนิด ดังนั้นรักษาที่ไหนก็ได้ยาดีเหมือนกัน
การรักษามะเร็งในเด็ก จำเป็นต้องลงทุนให้ยาเคมีบำบัดที่ดีที่สุดหลายขนานตั้งแต่แรก ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือนถึง 3 ปี อาจจะต้องผ่าตัด และหรือฉายรังสีร่วมด้วย ตัวอย่างเช่น การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กให้หายขาด มีต้นทุนประมาณ 3 แสนบาท ใน 3 ปี เด็กที่เป็นโรคมะเร็งในประเทศด้อยพัฒนาส่วนใหญ่ มักไม่สามารถได้รับการรักษา เพราะต้องจ่ายเงินเอง แต่ในประเทศไทยเด็กสามารถเข้าถึงการรักษาได้ทุกคน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เด็กไทยจึงมีโอกาสดีกว่าประเทศอื่นมาก ผลการรักษาดีใกล้เคียงกับประเทศตะวันตก โดยใช้ทรัพยากรน้อยกว่า เช่นประมาณ 3 ล้านบาทต่อราย โดยรวมแล้ว เด็กโรคมะเร็งมีโอกาสหายขาดมากกว่าครึ่ง และมะเร็งบางอย่าง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวมีโอกาสหายขาดกว่า 80%
แม้ไม่ต้องจ่ายค่ายาและค่ารักษา ครอบครัวก็ลำบากอยู่ดี สำหรับการเดินทาง ค่ากินอยู่นอกบ้าน การหยุดงานมาดูแลลูก เด็ก ๆ จำเป็นต้องอดทนเจ็บตัว รับการรักษาเพื่อโอกาสหายขาด หากรักษาไปแล้วไม่หาย คือมะเร็งกลับมาใหม่ เด็ก ๆ ย่อมมีทางเลือก ที่จะพยายามรักษาอีกรอบหนึ่ง แต่ก็คงไม่หายขาด พูดง่าย ๆ คือเจ็บตัวฟรี หรือ ครอบครัวอาจเปลี่ยนแนวคิด ฟังว่าเด็กอยากได้รับการดูแลแบบไหน วางแผนใช้ชีวิตให้เต็มที่ อยู่กับมะเร็งอย่างสันติ คุยกับ มูลนิธิสายธารแห่งความหวัง ที่จะช่วยเติมเต็มชีวิตของเด็กโรคมะเร็ง ขอปรึกษาแพทย์พยาบาลด้านประคับประคอง หรือ พิจารณาทางเลือก ที่มีมากมายในเมืองไทย เช่น การแพทย์แผนไทย แผนจีน ยาสมุนไพร เป็นต้น
พวกเราให้กำลังใจเด็กและครอบครัวได้ โดยการแบ่งปันบทความนี้ สนับสนุนแนวทางการรักษา ที่ครอบครัวได้เลือก อย่าให้คำแนะนำหากครอบครัวไม่ได้ร้องขอ ประสบการณ์มะเร็งผู้ใหญ่นั้น ใช้ไม่ได้กับเด็ก ติดต่อกลุ่มผู้ปกครองลูกเคยเป็นมะเร็งมาก่อน เช่น เพื่อนใจลูกน้อย เพื่อนมะเร็งไทย โรคนางเอก เพื่อให้กำลังใจกัน ช่วยกันบริจาคเลือดเป็นประจำตั้งแต่วันนี้ อย่ารอให้มีคนมาโพสต์ขอเลือดแล้วค่อยไปบริจาค จะไม่ทันการณ์ อย่ามองว่าเขาเป็นเด็กป่วย สนับสนุนให้เขาได้ใช้ชีวิต และเล่นสนุก เช่นเดียวกับเด็กคนอื่น
ผู้เขียน:
นพ.อิศรางค์ นุชประยูร, พ.บ. PhD
Diplomate, American Board of Pediatric Hematology Oncology
ศาสตราจารย์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่ปรึกษาชมรมเพื่อนมะเร็งไทย thaicancersociety.com
เลขาธิการมูลนิธิสายธารแห่งความหวัง สมาชิกของ Childhood cancer international
- 168 views