ขอยาแรงปกป้องชีวิตผู้บริสุทธิ์ เหยื่อเมาแล้วขับรวมตัวร้องอัยการฯ ชงลงดาบเข้มเมาแล้วขับขั้นสูงสุด สาวเอาผิดร้านขายเหล้าให้คนเมาที่ก่อเหตุ สนองนโยบายรัฐบาล ป้องกันปัญหาอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์
เมื่อเร็วๆ นี้ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ นายเจษฏา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับกทม. พร้อมด้วย นางสาวเครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต และเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กว่า 30 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด ผ่านทาง นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อขอให้พนักงานอัยการทุกจังหวัด สั่งสำนวนในคดีที่เกี่ยวข้องกับการดื่มแล้วขับ ให้ศาลพิพากษาลงโทษขั้นสูงสุดหรือสถานหนักตามกฎหมาย
ทั้งนี้เครือข่ายฯ ได้นำครอบครัวเหยื่อเมาแล้วขับ จังหวัดปทุมธานี ที่ต้องสูญเสียลูกชายวัย 1 ขวบ จากอุบัติเหตุเมาแล้วขับพุ่งชนอู่ซ่อมรถ มาขอความเป็นธรรมด้วย
นายเจษฏา กล่าวว่า จากสถิติข้อมูลอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ 3 ปีที่ผ่านมา พ.ศ. 2559 – 2561 จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่ดื่มแอลกอฮอล์ 23,954 คน มูลค่าความเสียหาย 4,762 ล้านบาท จากสถานการณ์ที่ผ่านมาทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 มีนาคม 2562 เห็นชอบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2562 โดยใช้มาตรการลงโทษผู้ขับรถ สู่การพิจารณาลงโทษคดีทางอาญาและคดีแพ่งด้วย ดังนั้นสำนักงานอัยการสูงสุด ที่เป็นสถาบันต้นน้ำในกระบวนการยุติธรรม ควรสกัดกั้นการทำผิด บังคับใช้มาตรการลงโทษขั้นรุนแรง เพื่อตัดไฟแต่ต้นลมและดำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ให้ชัดเจนว่าที่ผู้เมาแล้วขับถือว่าเป็นอาชญากรไม่ใช่เป็นการกระทำโดยประมาท เพราะมาตรการเดิมๆ รับมือไม่อยู่ ต้องถึงเวลาใช้ยาแรง และขอเรียกร้องผ่านไปยังรัฐบาลให้เร่งสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้กลุ่มองค์กรต่างๆ ตลอดจนชุมชน เยาวชนได้ลุกขึ้นมาเฝ้าระวัง รณรงค์ ทำงานลดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยภาครับในการรับมือกับปัญหานี้
ด้าน นางสาวเครือมาศ กล่าวว่า กรณีเมาแล้วขับล่าสุดที่ปทุมธานี จนเด็กวัย 1 ขวบเสียชีวิต และบาดเจ็บยกครัว ล่าสุดผู้ก่อเหตุเสียชีวิตแล้ว ปัญหาตามมาคือใครจะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอู่ซ่อมรถ ซึ่งเป็นบ้านเช่าที่เสียหายหนัก ไม่สามารถติดตามเอาค่าเสียหายได้ ทำให้ครอบครัวต้องประสบชะตากรรมอย่างหนัก ส่วนค่าชดเชยต่างๆ ที่ได้รับจาก พ.ร.บ.และประกัน ก็ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน มีช่องว่างอีกหลายอย่างที่ต้องเร่งหาทางช่วยเหลือเยียวยากรณีนี้ รวมไปถึงเคสอื่นๆด้วย ที่ต้องยกเครื่องปรับปรุงค่าชดเชย สินไหม ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมในปัจจุบัน
นางสาวเครือมาศ กล่าวอีกว่า ปัญหาเมาแล้วขับ เป็นปัญหาระดับชาติ มันยิ่งกว่าสงครามเสีย เครือข่ายฯ จึงขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอเพื่อให้อัยการสูงสุด พิจารณา ดังนี้
1.คดีที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุราหรือเมาอย่างอื่นแล้วขับ ให้อัยการฟ้องคดีขอให้ศาลลงโทษสถานหนักโดยไม่รอการลงโทษ ให้ถือว่าการเมาแล้วขับเป็นการกระทำโดยเจตนา เพราะการดื่มสุราแล้วเกิดอุบัติเหตุจะอ้างว่าไม่ได้ตั้งใจย่อมเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากขณะดื่มสุรามีความตั้งใจดื่มและตั้งใจในการขับขี่รถทั้งที่รู้ว่าเมาสุรา จะยกเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้ตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 66 ถือว่าผู้ที่เมาแล้วขับเป็นอาชญากร
2.กรณีผู้กระทำความผิดดื่มสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่นกระทำความผิดซ้ำซาก ให้ทางอัยการมีคำขอท้ายฟ้องต่อศาลขอให้บวกโทษหรือเพิ่มโทษ
3.สั่งสอบสวนคดีเพิ่มเติม โดยประสานพนักงานตำรวจเจ้าของคดี ต้องสืบค้นไปถึงแหล่งผู้เมาแล้วขับเพื่อลงโทษผู้ที่ทำความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ขายให้คนเมาครองสติไม่ได้ ต้องถูกลงโทษตามกฎหมายด้วย
ขณะที่ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ต้องขอบคุณเครือข่ายฯที่เข้ามาให้ข้อมูล เรื่องนี้ตนจะขอรับไว้และนำเรียนท่านอัยการเพื่อพิจารณาต่อไป ที่ผ่านมาพนักงานอัยการได้ให้ความสำคัญและดูสำนวนโดยละเอียดอยู่แล้ว ยิ่งเห็นในข่าวว่ามีพฤติกรรมที่ร้ายแรงอย่างไร การพิจารณาจะทำอย่างรอบคอบรัดกุม และมีหลายคดีที่อัยการดูจากพฤติกรรมที่ไม่เคารพกฎหมายจึงต้องระบุโทษสถานหนักสำหรับผู้เมาแล้วขับ
“เราต้องเห็นใจเหยื่อ ผู้ที่ได้รับผลกระทบ เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ได้ดื่ม ที่ผ่านมาอัยการทุกจังหวัดเร่งทำงานในคดีเมาแล้วขับสอบสวนว่าผู้ที่เมาหรือดื่มแล้วขับ ซื้อสุรามาจากที่ไหน อายุเท่าไหร่ พฤติกรรมเป็นอย่างไร เช่น ทำผิดแล้วมาทำผิดซ้ำอีก จะขอให้ศาลเพิ่มโทษ อย่างกรณีครอบครัวที่มาวันนี้เห็นความสูญเสียทั้งรายการและทรัพย์สินได้อย่างชัดเจน” นายโกศลวัฒน์ กล่าว
- 116 views