คณะกรรมการนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อระดับชาติ ประกาศเจตนารมณ์เพื่อการลดบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559 - 2568 ตั้งเป้าหมายให้คนไทยลดการบริโภคโซเดียมลงร้อยละ 30 ภายในปี 2568 จากความร่วมมือเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ภาคอุตสาหกรรม และประชาสังคม
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 ที่กระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายอำนาจ วิชยานุวัติ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กระทรวงการคลัง นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ นพ.แดเนียล เคอร์เตส ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และ ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แถลงข่าว การประกาศเจตนารมณ์เพื่อร่วมลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย เนื่องใน “สัปดาห์ลดการบริโภคเค็มโลก” (World Salt Awareness Week) ระหว่างวันที่ 11-17 มีนาคม 2562
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมแห่งชาติ ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์การลดบริโภคเกลือและโซเดียม เนื่องใน “สัปดาห์ลดการบริโภคเค็มโลก (World Salt Awareness Week) ประจำปี 2562” เพื่อลดการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง จากการได้รับโซเดียมมากเกินความจำเป็น ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มระดับความดันโลหิต นำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตเรื้อรัง โดยสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ให้ประชาชนเกิดความตระหนัก สร้างกระแสให้สังคมไทยรู้เท่าทัน และเลือกบริโภคอาหารที่มีโซเดียมต่ำ พัฒนารูปแบบการสื่อสาร และเชิญชวนภาคอุตสาหกรรม ปรับปรุงสูตรอาหาร เพิ่มช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงอาหารที่มีโซเดียมต่ำ โดยจะดำเนินการร่วมกับมาตรการอื่น เช่น มาตรการทางภาษี ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมสูงเกินความจำเป็น 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป โจ๊ก/ข้าวต้ม กลุ่มขนมกรุบกรอบ และกลุ่มผงชูรส โดยจัดเก็บภาษีเฉพาะในส่วนปริมาณโซเดียมที่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด
องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า การลดการบริโภคโซเดียมนั้นเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพและมีความคุ้มทุนในการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจวาย และไตวาย ซึ่งปริมาณโซเดียมที่ได้รับต่อวันที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่จากการสำรวจการบริโภคโซเดียมคลอไรด์ของประชากรไทย พบว่า คนไทยบริโภคโซเดียมสูงถึง 4,351.7 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งสูงกว่าค่าแนะนำถึง 2 เท่า และจากผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พบว่า คนไทยมีภาวะความดันโลหิตสูงถึงร้อยละ 24.7 หากบริโภคในปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ จะป้องกันการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลกได้กว่า 2.5 ล้านคนต่อปี
คณะกรรมการนโยบายการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อระดับชาติ จึงได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559 - 2568 ตั้งเป้าหมายให้คนไทยลดการบริโภคโซเดียมลงร้อยละ 30 ภายในปี 2568 จากความร่วมมือเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ภาคอุตสาหกรรม และประชาสังคม
ศุภกิจกล่าวต่อว่า ในปีนี้ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้จัดกิจกรรมโรงพยาบาลเค็มน้อย อร่อย (3) ดี โดยประชาสัมพันธ์สร้างความรอบรู้การลดเค็ม ลดโซเดียมแก่ผู้ป่วยและญาติ ให้โภชนากรจัดสูตรอาหารลดโซเดียมลงร้อยละ 15 สำหรับผู้ป่วยที่พักรักษาในโรงพยาบาลและจัดอบรมผู้ประกอบการให้มีการปรับสูตรอาหารในร้านอาหารในโรงพยาบาลต่อไป
- 568 views