กระทรวงสาธารณสุข หนุนใช้การแพทย์แม่นยำคัดกรอง ตรวจ รักษาเฉพาะบุคคลเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์ เข้าถึงยาและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับพันธุกรรมของแต่ละบุคคล ลดภาวะแทรกซ้อน ลดต้นทุน ลดสูญเสียสุขภาพและลดการเสียชีวิต
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมสัมมนาวิชาการ การบริหารจัดการโรงพยาบาล ครั้งที่ 5 ภายใต้หัวข้อ “การสาธารณสุขแม่นยำและการแพทย์แม่นยำ” (Precision Public Health & Precision Medicine) ที่อิมแพค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อพัฒนาด้านการบริหารจัดการโรงพยาบาลให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง สร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในระดับนานาชาติ โดยมีผู้บริหารและบุคลากรจากโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน และคณะกรรมการบริหารสมาคมนักบริหารเข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน ทั้งนี้ภายในงานมีการมอบรางวัลนักบริหารโรงพยาบาลดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2562 ให้แก่ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และรางวัลนักบริหารโรงพยาบาลดีเด่น ประจำปี 2562 จำนวน 8 ประเภท แก่ผู้บริหารและบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ประสบความสำเร็จในการบริหารโรงพยาบาล และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่ยอมรับและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สาธารณชน จำนวน 18 ราย
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ขณะนี้ความคืบหน้าของการขับเคลื่อนเรื่องการสาธารณสุขแม่นยำและการแพทย์แม่นยำในประเทศไทย มีหลายหน่วยงานที่ได้ดำเนินการ เช่น 1.โครงการ Genomic Thailand เป็นความร่วมมือของ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศึกษาธิการ และสาธารณสุข นำข้อมูลทางพันธุกรรมมนุษย์มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งเป็นการดูแลรักษาและป้องกันโรคที่มุ่งเน้นตามความแตกต่างทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคน ทำให้สามารถเข้าถึงยาและนวัตกรรมการรักษาที่เหมาะสม เป็นการเพิ่มโอกาสการรักษาช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้นและลดค่าใช้จ่าย
2.โครงการรักษาโรคมะเร็ง โดยการใช้เทคโนโลยีทางอณูพันธุศาสตร์ เพื่อคัดกรองผู้ป่วยในระยะเริ่มต้น หากสามารถตรวจพบได้เร็ว จะช่วยป้องกันการเข้าสู่ระยะสุดท้ายได้ 3.โครงการวิจัยเกี่ยวกับการรักษาด้วยการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็งกระดูก
และ 4.การเลือกการรักษาทางการแพทย์และการให้ยาในปริมาณที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแบบจําเพาะต่อบุคคลในผู้ป่วยโรคไต (Personalized Medicine in Kidney Diseases) ซึ่งพบว่า การตรวจปัสสาวะหรือเลือดโดยไม่ต้องเจาะไต สามารถทำนายโอกาสเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของไต ทำนายการดำเนินโรคไปสู่ไตเรื้อรังระยะสุดท้าย และพยากรณ์การเกิดภาวะแทรกซ้อนของหัวใจและหลอดเลือดได้
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตการสาธารณสุขแม่นยำและการแพทย์แม่นยำจะต้องถูกพัฒนาและนำมาใช้ในระบบอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยลดความซ้ำซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการดำเนินการวินิจฉัยและรักษาโรคที่ไวกว่าเดิม รักษาตั้งแต่ยังไม่มีอาการ โอกาสรักษาหายจึงสูงขึ้น
- 220 views