รวมพลังประกาศเจตนารมณ์ “แก้ปัญหาพฤติกรรมเด็กติดเค็ม” ตั้งเป้าลดเค็ม 30% ในปี 68 พบเด็กไทยกินเค็มเกิน 5 เท่า เสี่ยงแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่ติดเค็ม ส่งผลต่อโรคความดันโลหิตสูง หัวใจ และไต เปิดอาหาร-ขนมยอดนิยมโซเดียมสูง เพียง 1 ซองเกินปริมาณที่เด็กควรได้รับต่อวัน พร้อมจัดงานวันไตโลกปี 2562 “ทุกคนทั่วไทย ไตแข็งแรง”
เมื่อวันที่ 27 ก.พ.62 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ในงานแถลงข่าว รวมพลังประกาศเจตนารมณ์ “แก้ปัญหาพฤติกรรมเด็กติดเค็ม” พร้อมประกาศวันจัดงาน วันไตโลกปี 2562 โดยเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ชมรมโรคไตเด็ก กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
พ.อ.นพ.อดิสรณ์ ลำเพาพงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และแพทย์โรคไตในเด็ก กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตทั่วโลกกว่า 850 ล้านคน ทำให้โรคไตเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 6 ของสาเหตุการตายทั้งหมด สิ่งที่น่าสนใจคือ แนวโน้มคนไทยป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น 15% ต่อปี และมีผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นถึง 1,500,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี โรคเหล่านี้สัมพันธ์กับพฤติกรรมกินเค็ม ที่นอกจากผู้ใหญ่กินเค็มเกิน 2 เท่าแล้ว ย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของเด็กซึ่งเด็กไทยกินเค็มเกินเกือบ 5 เท่า
โดยปริมาณโซเดียมเฉลี่ยที่เด็กรับประทานอยู่ที่ 3,194 มิลลิกรัม/วัน ขณะที่ปริมาณโซเดียมที่เด็กวัยเรียนควรได้รับ อายุ 6-8 ปี อยู่ที่ 325-950 มิลลิกรัม อายุ 9-12 ปี อยู่ที่ 400-1,175 มิลลิกรัม และอายุ 13-15 ปี อยู่ที่ 500-1,500 มิลลิกรัม เนื่องจากโซเดียมเป็นสารปรุงรสในอาหารเพื่อกระตุ้นน้ำลาย ทำให้เด็กอยากอาหารมากขึ้น เป็นที่พอใจของผู้ปกครอง แต่ถ้ากินเค็มมากเกินไปก็เกิดปัญหาติดรสเค็ม ซึ่งจะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงเมื่อโตขึ้นในอนาคต
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดการบริโภคเค็มและคณะทำงานการจัดงานวันไตโลก กล่าวว่า ผู้ปกครองมักให้เด็กกินเค็มโดยไม่รู้ตัว ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปและขนมกรุบกรอบที่พบว่ามีปริมาณโซเดียมสูง เช่น โจ๊กสำเร็จรูป 1 ถ้วย มีปริมาณโซเดียมสูงถึง 1,269 มิลลิกรัม ส่วนขนมที่มีโซเดียมสูง เช่น ปลาเส้น มีปริมาณโซเดียมถึง 666 มิลลิกรัม/ซอง สาหร่าย 304 มิลลิกรัม/ซอง มันฝรั่งทอด 191 มิลลิกรัม/ซอง การบริโภคอาหารเหล่านี้เพียง 1 ซอง ปริมาณโซเดียมก็เกินความต้องการต่อวันแล้ว หากเด็กเคยชินกับการกินเค็มก็มีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่ติดเค็ม และส่งผลต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง หัวใจ และไต ตามมา
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกา พบว่า 90% ของเด็กเยาวชนกินเค็มเกินกว่าค่ามาตรฐาน โดยพบเด็กเริ่มกินเค็มอายุน้อยที่สุดคือ 1-3 ขวบ ถึง 79% ส่งผลให้ 1 ใน 7 คน ของเยาวชนอายุระหว่าง 12-19 ปี มีความดันโลหิตสูง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง จึงมีมาตรการปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในอาหารและขนมขบเคี้ยว โดยมีการวิเคราะห์ว่าหากลดโซเดียมเพียง 9.5% ในเด็กจะช่วยป้องกันโรคหัวใจได้กว่า 1 ล้านรายและประหยัดงบประมาณจากค่ารักษาพยาบาลได้ถึง 32 พันล้านเหรียญสหรัฐ
เช่นเดียวกับในแคนาดามีมาตรการแก้ปัญหาพฤติกรรมเด็กติดเค็ม โดยพบว่า เด็กอายุ 4-8 ปี มากกว่า 90% บริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูงและมีความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงเมื่ออายุมากขึ้น โดย 75% ของโซเดียมที่บริโภคมาจากอาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป และในร้านอาหาร กระทรวงสาธารณสุขแคนาดาจึงกำหนดเป้าหมายลดปริมาณโซเดียมในอาหารแปรรูป สำหรับประเทศไทยนอกจากมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการปรับสูตรเพื่อลดปริมาณโซเดียมในขนมกรุบกรอบและอาหารกึ่งสำเร็จรูปแล้ว ควรมีการให้ความรู้กับผู้ปกครอง การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการลดเค็ม โดยดูฉลากปริมาณโซเดียมหรือแบ่งบริโภคต่อมื้อ ไม่ควรกินจนหมดซองในมื้อเดียว และส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า คนไทย 3 ใน 4 เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต การบริโภคโซเดียมที่เกินความต้องการ ทำให้คนไทยเสียชีวิตถึงปีละกว่า 20,000 คน และมีความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากพฤติกรรมติดเค็มสูงถึง 98,976 ล้านบาทต่อปี จากโรคหัวใจและหลอดเลือดและไตวายระยะสุดท้าย การลดปริมาณการบริโภคโซเดียมลงจึงเป็นมาตรการที่จะช่วยปกป้องชีวิตของประชาชนได้ดีที่สุดทางหนึ่ง
นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการประกาศเจตนารมณ์แก้ปัญหาพฤติกรรมเด็กติดเค็มว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่ายได้จัดทำยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายลดเค็มให้ได้ 30% ภายในปี 2568 สอดคล้องกับเป้าหมายร่วมกันขององค์กรอนามัยโลก เนื่องจากปัจจุบันมีคนไทย 22.05 ล้านคน ป่วยเป็นโรคที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมติดเค็ม ทั้งความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมอง หัวใจขาดเลือด และโรคไต จึงเกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วนร่วมกันลดการบริโภคเกลือและโซเดียม โดยเฉพาะการปกป้องเด็กและเยาวชนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในอนาคต ทั้งการติดฉลากโภชนาการและให้ความรู้กับผู้บริโภค การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับสูตรปริมาณโซเดียมลง ให้ได้ 10% ในทุก 2 ปี รวมทั้งสนับสนุนนโยบายการคลังที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพในราคาไม่แพง
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกจึงกำหนดให้ทุกวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคม เป็นวันไตโลก ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 14 มีนาคม โดยเน้นถึงภาวะไตเรื้อรัง โดยแนวทางในการป้องกันไตเสื่อม เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การเลือกรับประทานอาหาร ดื่มน้ำสะอาด ออกกำลังกาย ลดการบริโภคเค็ม งดดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ซึ่งจะช่วยป้องกันและชะลอการเสื่อมของไตได้ การลดความเค็มในอาหารจะลดการเกิดโรคที่เกิดจากการบริโภคโซเดียมเกินได้ นอกจากนี้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไต เช่น ผู้ที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคไต ผู้ที่เป็นโรคไตตั้งแต่เด็ก ควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคไตทุกปี ได้แก่ การตรวจปัสสาวะ เจาะเลือด และวัดความดันโลหิต
สำหรับกิจกรรมวันไตโลก ในปี 2562 นี้จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2562 ที่ลานเอเทรียม ชั้น 1 ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- 558 views