กระทรวงสาธารณสุข จัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ พร้อมประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 16 ภายใต้แนวคิด “สมุนไพร นวดไทย อนาคตไทย” พบกับ 200 ตำรับยาดี บริการตรวจโรคกับหมอพื้นบ้าน แจกต้นสมุนไพรดูแลไตทุกวัน และจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และ นพ.นำพล แดนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 16 ภายใต้แนวคิด “สมุนไพร นวดไทย อนาคตไทย” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 10 มีนาคม 2562 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการยกระดับการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการใช้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร เพื่อการพึ่งตนเองในระบบสุขภาพ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ ส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพรทดแทนพืชเศรษฐกิจเดิม ให้เป็นสินค้านวัตกรรม สามารถแข่งขันในตลาดโลก เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร และผู้ประกอบการภายในประเทศ สำหรับในปี 2562 – 2565 ตั้งเป้าหมายให้ประชาชนเข้าถึงบริการการแพทย์แผนไทยร้อยละ 20
โดยเปิดบริการตรวจรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยคู่ขนานในโรงพยาบาลทุกระดับ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ได้ 3.6 แสนล้านบาท โดยจัดทำ Big Data เชื่อมโยงข้อมูลผู้ปลูก ผู้ผลิต ผู้บริโภค ตลาดกลางสมุนไพรที่มีคุณภาพมาตรฐาน ตลาดกลางสมุนไพรออนไลน์ อุตสาหกรรมสารสกัดสมุนไพรเช่น บัวบก ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร ไพล กระชายดำ และผลักดันให้ภูมิปัญญานวดไทยเป็นมรดกทางการแพทย์ที่จะนำสู่การประกาศเป็นมรดกของมนุษยชาติของยูเนสโก (UNESCO) รวมทั้งเร่งผลักดันพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร ขณะนี้ผ่านวาระ 3 รอการประกาศบังคับใช้
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรและนวดไทย โดยพัฒนาวิชาการและหลักสูตรการศึกษา ส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านไทย พัฒนาคุณภาพมาตรฐานการบริการเป็นทางเลือกประชาชนในการดูแลสุขภาพ เชื่อมโยงในระบบบริการปฐมภูมิ จัดตั้งโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยประจำภาค สนับสนุนให้โรงพยาบาลผลิตและใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน ยกระดับนวดไทยสู่สากล รวมทั้งอุตสาหกรรมสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ ให้สมุนไพรไทยเป็นสินค้าที่ขายระดับโลกได้
รวมทั้ง ได้ขับเคลื่อนสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจครบวงจร ดำเนินการตั้งแต่ ต้นทาง พื้นที่ปลูกสมุนไพรกว่า 5,000 ไร่ ต้องเป็นวัตถุดิบปลอดภัยและได้มาตรฐาน กลางทาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีคุณภาพ นวัตกรรมเพิ่มมูลค่า และลดต้นทุนการผลิต โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมสารสกัด การวิจัยนวัตกรรม จัดศูนย์ให้คำปรึกษาและส่งเสริมผู้ประกอบการ ในปี 2561 มีมูลค่าเกือบ 27 ล้านบาท และปลายทาง ส่งเสริมการตลาดในและต่างประเทศ ช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ 559.718 ล้านบาท โดยการจับคู่ทางธุรกิจกับต่างประเทศ เปิดร้านค้าสมุนไพรในเมืองสมุนไพร จัดทำมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์เพื่อการรับรองคุณภาพ
นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การจัดงานในปีนี้ ประกอบด้วย การประชุมวิชาการประจำปี 2562 การพัฒนากัญชาทางการแพทย์ เมืองสมุนไพร และตลาดความรู้ อบรมระยะสั้นหลักสูตรละ 2 ชั่วโมง ฟรี 26 หลักสูตร โดยแบ่งงานออกเป็นโซน ได้แก่ โซนภูมิปัญญา (WISDOM) อาทิ สวนสมุนไพรเพื่อการอนุรักษ์ คุ้มครองเชิงเศรษฐกิจและเชิงสุขภาพ นิทรรศการ “การนวดไทย มรดกภูมิปัญญาไทย” “200 ตำรับยาดี สู่การใช้ประโยชน์” หมอพื้นบ้านพร้อมสาธิต ตรวจแนะนำ ให้ความรู้จากภูมิปัญญาภาคต่างๆ โซนบริการ (SERVICE) ตรวจรักษาโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก บริการคลินิกเฉพาะโรคไมเกรน อัมพฤกษ์ อัมพาต จับโปงเข่า (ข้อเข่าเสื่อม) การแพทย์แผนจีน เช่น การฝังเข็ม การครอบแก้ว และการนวดทุยนา
โซนผลิตภัณฑ์ (PRODUCT) ให้ความรู้และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ อาทิ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ให้ความรู้สมุนไพรดูแลไตและสมุนไพรลดมลภาวะเป็นพิษ บริการนวดไทย สปาหน้า ผลิตภัณฑ์สมุนไพรลดสูงสุด 50% แจกต้นสมุนไพรดูแลไต 300 ต้น/วัน แจกหนังสือบันทึกแผ่นดินเล่มที่ 11 วันละ 200 เล่ม บริการตรวจ ปรึกษาสุขภาพฟรี เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารและเครื่องดื่ม โซนจำหน่ายสินค้าสุขภาพ อาหารสุขภาพ อุปกรณ์ดูแลสุขภาพกว่า 500 ร้านค้า
ทั้งนี้ ได้มอบโล่เชิดชูเกียรติแก่ผู้จัดละคร “ทองเอก หมอยาท่าโฉลง” ที่ได้สื่อสารให้คนไทยได้รับรู้ถึงการดูแลสุขภาพตามวิถีชีวิตคนไทยโบราณ การใช้ประโยชน์จากสมุนไพร ความเป็นหมอยาไทย นับเป็นการร่วมอนุรักษ์และเชิดชูภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาต่อยอดตามหลักวิชาการ ทั้งทางวิชาการและประสบการณ์ใช้ประโยชน์
- 33 views