กรมควบคุมโรค เผยประเทศไทยเร่งดำเนินการเพื่อลดปัญหาวัณโรคอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน มุ่งเน้นดำเนินมาตรการป้องกัน ควบคุม และยุติวัณโรคในประเทศไทย ตามแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรคปี 2560–2564 เพื่อให้ประชาชนไทยปลอดภัยจากวัณโรค
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ของวัณโรคในประเทศไทย รวมถึงข้อห่วงใยกรณีผู้ป่วยวัณโรคและวัณโรคดื้อยาที่มาขอรับบริการภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพต่างๆ ตลอดจนนโยบายในการป้องกัน ควบคุม และการแพร่กระจายเชื้อ และมาตรการในการลดปัญหาวัณโรค นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วน ดำเนินการเพื่อลดปัญหาวัณโรคมาอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการอย่างเข้มข้นและจริงจังจนถึงปัจจุบัน
กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญและตระหนักในปัญหาวัณโรคมาตลอด โดยเฉพาะระยะ 4 ปีที่ผ่านมา ได้กำหนดให้เป็นนโยบายระดับชาติ คือ แผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค ปี 2560–2564 ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าลดอัตราอุบัติการณ์ของวัณโรคลงร้อยละ 12.5 ต่อปี จาก 171 ต่อประชากรแสนคนในปี 2557 ให้เหลือ 88 ต่อประชากรแสนคน เมื่อสิ้นปี 2564 และให้เหลือ 10 ต่อประชากรแสนคน เมื่อสิ้นปี 2578
สำหรับมาตรการที่ดำเนินการด้านการคัดกรอง ตรวจวินิจและรักษา มีดังนี้
1) การเข้าถึงบริการให้ครอบคลุมการตรวจรักษาวัณโรคอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยกำหนดเป็นนโยบายให้คัดกรองค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สัมผัสใกล้ชิด ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้ขับรถโดยสารสาธารณะ ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ผู้สูงอายุมีโรคร่วม แรงงานข้ามชาติ และบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข
2) สอบสวนโรคในผู้สัมผัสวัณโรค
3) เร่งรัดค้นหาและวินิจฉัยวัณโรคดื้อยาในกลุ่มเสี่ยง โดยส่งตรวจทดสอบความไวต่อยาทุกราย
4) การตรวจคัดกรอง วินิจฉัยโดยการ X-ray และการตรวจทางห้องปฏิบัติการฯ
และ 5)การรักษาด้วยยาตามแนวทางการควบคุมวัณโรคแห่งประเทศไทย 2561 และดูแลตามมาตรฐานสากล
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การป้องการแพร่กระจายเชื้อวัณโรค ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ 1.โรงพยาบาลทุกแห่ง ต้องมีห้องแยกโรค เฉพาะผู้ป่วยวัณโรค รวมถึงเรือนจำที่มีผู้ป่วยวัณโรคด้วย 2.โรงพยาบาลขนาดใหญ่ต้องมีห้องแยกโรคแรงดันลบ สำหรับรับผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาชนิดรุนแรงมากไว้เป็นผู้ป่วยในจนกว่าเสมหะจะปราศจากเชื้อวัณโรค 3.โรงพยาบาลทุกแห่ง มีคลินิกวัณโรคเฉพาะวัณโรค ไม่ปะปนกับผู้ป่วยอื่นๆ และ 4.มีการคัดกรองและให้บริการแบบช่องทางด่วน (Fast Track)
ทั้งนี้ การป้องกันการป่วยเป็นวัณโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้กำหนดมาตรการและดำเนินการค้นหาผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ติดเชื้อและมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคสูง คือ ผู้สัมผัสใกล้ชิด ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ต้องขัง และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมให้ยารักษาการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง ถือเป็นนโยบายและมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดและดำเนินการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อลดปัญหาวัณโรคในประเทศไทย
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
- 25 views