กระทรวงสาธารณสุข หนุนสร้างนักบริบาลชุมชน ให้มีศักยภาพและทักษะความรู้เพื่อถ่ายทอดในระดับพื้นที่ ดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงในชุมชน
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบทั้งทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคมโดยรวม การเตรียมการเพื่อรองรับสภาพปัญหาของผู้สูงอายุจึงเป็นประเด็นที่สำคัญ เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพที่เรื้อรังซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายสูง สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย ได้คาดประมาณงบประมาณที่ต้องใช้ในการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการพึ่งพิง โดยเฉลี่ยแล้วสูงถึงประมาณ 15,000 ล้านบาทต่อปีหรือร้อยละ 0.1 ของ GDP ในช่วงปี พ.ศ. 2558 – 2565 จึงต้องเน้นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพก่อนวัยสูงอายุและเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ เพื่อลดภาระด้านเศรษฐกิจของประเทศ ครอบครัวและสังคม
“กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลด้านที่ 3 การลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ ข้อ 4 เตรียมความพร้อมสังคมผู้สูงอายุ เพื่อยกระดับการดูแลด้านสุขภาพและสังคมสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชนด้วยนักบริบาลชุมชน โดยมีบทบาทหน้าที่ 1) ปฏิบัติงานเต็มเวลาตามแผนการดูแลของผู้สูงอายุที่กำหนดไว้เต็มเวลา 2) ปฏิบัติงานด้านการดูแลสุขภาพและสังคมสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงหรือพิการ 3) ปฏิบัติงานภายใต้การบังคับบัญชาและการจ้างงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภายใต้การกำกับดูแลของบุคลากรวิชาชีพด้านสุขภาพ” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ด้าน นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การพัฒนาศักยภาพและทักษะของผู้ปฏิบัติหน้าที่บทบาทนักบริบาลชุมชน ด้านการดูแลผู้สูงอายุ (ครู ก.) ในครั้งนี้ เพื่อให้สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังบุคลากรที่ดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงในชุมชน หวังลดค่าใช้จ่ายด้านบริการสุขภาพลง ผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาลและฟื้นฟูสุขภาพในชุมชน อย่างทั่วถึงเท่าเทียม เสริมสร้างความเสมอภาคเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เพื่อคนไทยมีสุขภาวะที่ดี นักบริบาลชุมชน (ครู ก.) จึงเป็นบุคลากรสำคัญ ที่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้สอน ควบคุม กำกับการทำงานของนักบริบาลชุมชนหรือนักบริบาลท้องถิ่นในระดับเขต ระดับพื้นที่ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ที่เกี่ยวกับการดูแลเฉพาะโรค การดูแลแผล ภาวะวิกฤตกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น (CPR/AED) การดูแลทางจิตใจ สิ่งแวดล้อมตลอดจนระบบส่งต่อทั้งทางด้านสุขภาพและทางสังคม เพื่อสร้างและพัฒนานักบริบาลชุมชน (ครู ก) ให้มีประสบการณ์ในการปฏิบัติมากยิ่งขึ้น
- 620 views