“อภิสิทธิ์” ยืนยัน ประชาธิปัตย์ไม่มีนโยบายร่วมจ่าย พร้อมเดินหน้าให้สิทธิประชาชนตกหล่น ระบุ ไม่รวมกองทุนสุขภาพ แต่จะเปิดช่องให้ผู้ประกันตนเลือกใช้บัตรทองได้ จ่อใช้ยาแรงโรงพยาบาลเอกชนรีดค่ารักษาพยาบาลแพง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวในเวทีเสวนามองไปข้างหน้า “พรรคการเมืองกับการสร้างหลักประกันสุขภาพเพื่อคนไทยทุกคน” ซึ่งอยู่ภายใต้งานรำลึก 11 ปี นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิมิตรภาพบำบัด เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2562 ตอนหนึ่งว่า ทุกวันนี้มี 2 เรื่องที่ซ้อนกันอยู่ หนึ่งคือระบบหลักประกันสุขภาพ กับอีกหนึ่งคือระบบสุขภาพในภาพรวม ซึ่งขอยืนยันก่อนว่า ปชป.มองเรื่องของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องของระบบสวัสดิการ เป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ดังนั้นจึงไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะมีการพูดถึงเรื่องร่วมจ่าย ณ จุดบริการ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า คำว่าถ้วนหน้านั้น กรณีที่ภาคประชาสังคมแสดงความเป็นห่วงว่ายังมีคนชายขอบหรือผู้มีปัญหาด้านสถานะตกหล่นและไม่ได้รับสิทธิในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) นั้น ปชป.เห็นว่าก็ควรจะให้สิทธิกับประชาชนเหล่านั้น
“ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ไปเส้นทางนั้น ขอยืนยันว่าเรามองเรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐสวัสดิการ” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่ ปชป.มองว่าเป็นความท้าทายในอนาคตนั้น 1. ปัญหาระบบการเงินการคลัง อยากจะย้ำว่าจนถึงทุกวันนี้ก็ยังเกิดปัญหาปีแล้วปีเล่า ทำให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กับสำนักงบประมาณ รัฐบาล ต้องต่อรองกัน และตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็พบว่างบประมาณที่ได้รับไม่เป็นไปตามที่ สปสช.คิดว่าควรจะเป็น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกติกาในการจัดสรรงบประมาณ ส่วนกองทุนอื่นๆ อีก 2 กองทุน คือประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการนั้น ปชป. มองว่ามาตรฐานการรักษา และคุณภาพของยาต้องเท่าเทียมกัน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สิ่งในประเด็นการรวมกองทุนนั้น ปชป.อาจมีมุมมองที่แตกต่างออกไปบ้าง เช่น ประกันสังคม เรามองว่าผู้ประกันตนต้องเสียเงิน 2 ต่อ คือเสียทั้งภาษีเพื่อมาดูแลระบบ และยังต้องเสียเงินสมทบอีก ดังนั้นสิ่งที่ประชาธิปัตย์อยากนำเสนอก็คือ เราควรเปิดโอกาสให้คนในระบบประกันสังคมตัดสินใจว่าเขาอยากจะอยู่ในระบบนี้หรือไม่ ถ้าเขาไม่อยากเสียเงินสมทบก็ต้องเปิดช่องให้เขาสามารถออกมาอยู่ในระบบบัตรทองได้
สำหรับสวัสดิการข้าราชการนั้น ส่วนตัวคิดว่าผู้ที่ตัดสินใจเข้ามารับราชการได้ตัดสินใจบนเงื่อนไขว่าเขาจะได้รับสิทธินี้ ดังนั้นถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงควรจะเริ่มต้นจากคนที่เข้ารับราชการรายใหม่ และหากมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องไปคิดว่าสิทธิที่เขาพึงจะได้นั้น เมื่อเอาออกมาแล้วจะชดเชยให้เขาอย่างไร
“ถ้าเราคิดว่าจะยกระดับมาตรฐานคุณภาพให้ดีขึ้น ประเด็นของผมคืออย่าไปคิดแต่ว่าจะรวมกองทุน เพราะสิ่งที่ผมเกรงคือหากเรารีบไปสู่การยุบกองทุน ผมไม่แน่ใจว่าถ้าบริหารจัดการกันอยู่อย่างในปัจจุบันแล้ว คุณภาพของคนที่ที่อยู่ในระบบหลักประกันจะดีขึ้น แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่คนเคยได้จากระบบราชการจะเสื่อมถอยลง ประเด็นหลักก็คือต้องหาเงินมาสนับสนุนให้เพียงพอ และระบบสวัสดิการที่มาจากภาษีนั้น เราต้องมาพูดกันด้วยว่าระบบภาษีเป็นธรรมหรือไม่” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องค่ารักษาพยาบาลแพงในโรงพยาบาลเอกชน ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องคำนึงถึง เพราะทุกวันนี้กฎหมายอ่อนเกินไป การกำหนดให้เพียงแค่แจ้งค่ารักษาพยาบาลคงไม่เพียงพอ และในอดีตที่ ปชป.เป็นรัฐบาล เราได้เคารพธรรมนูญสุขภาพที่ระบุว่าไม่ให้รัฐบาลไปสนับสนุนธุรกิจด้านทางการรักษาพยาบาลหรือสุขภาพ เพราะนั่นจะเป็นตัวที่จะสร้างความเหลื่อมล้ำและดึงทรัพยากรจากภาครัฐไปจัดบริการ
- 39 views