“จอน อึ๊งภากรณ์” ปาฐกถาพิเศษ “รำลึก 11 ปี นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์” สนับสนุนปฏิรูปภาษีสร้างระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร ยืนยันสร้างความเท่าเทียมดีกว่า “สงเคราะห์ผู้ยากไร้” พร้อมเสนอ 3 ประเด็น ยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประเทศไทย ชงรวมกองทุนสวัสดิการข้าราชการกับบัตรทอง เพื่อสร้างระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2561 มูลนิธิมิตรภาพบำบัด (กองทุนนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์) จัดงาน “รำลึก 11 ปี นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์” ขึ้น ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่นโฮเทล กทม. โดยมีภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพและผู้ที่สนใจเข้าร่วมกว่า 500 ราย
นายจอน อึ๊งภากรณ์ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ในฐานะองค์ปาฐกของงาน “รำลึก 11 ปี นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์” ได้แสดงปาฐกถาสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ปี 2561 หัวข้อ “จากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เดินหน้าสู่รัฐสวัสดิการครบวงจร” ตอนหนึ่งว่า ระบบรัฐสวัสดิการเป็นระบบโครงสร้างทางสังคมที่รัฐทำหน้าที่ดูแลกำกับให้ประชาชนทุกส่วนมีหลักประกันด้านคุณภาพชีวิตในระดับที่พออยู่พอกินอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งมักจะประกอบด้วยหลักประกันถ้วนหน้าด้านที่อยู่อาศัย สุขภาพ การศึกษา รายได้ และด้านบริการสังคมอื่นๆ ที่มีความจำเป็นสำหรับคุณภาพชีวิต เรียกได้ว่าเป็นระบบสวัสดิการที่ทุกคนมีสิทธิได้รับ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน
นายจอน กล่าวว่า ในประเทศที่มีระบบรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็ง เช่น หลายๆ ประเทศในยุโรป ประชาชนจะไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่จำเป็น หรือในการเรียนหนังสือถึงระดับปริญญา นอกจากนี้มีการจัดสรรบ้านเช่า หรืออพาร์ทเม้นท์ที่มีราคาต่ำให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง และประชาชนที่ว่างงานหรือเกษียณอายุหรือมีเหตุทำงานไม่ได้ก็จะได้รับการประกันรายได้ที่พออยู่พอกิน
“รัฐจะนำรายได้จากการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า รวมถึงรายได้ที่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของนายจ้างและลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาจัดสวัสดิการถ้วนหน้าต่างๆ ดังนั้นระบบรัฐสวัสดิการจึงเป็นระบบทางสังคมที่ประชาชนมีส่วนร่วมจ่ายตามกำลังความสามารถของตน ซึ่งขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจ และในขณะเดียวกันประขาชนทุกภาคส่วนจะได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงสวัสดิการสังคมต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของระบบรัฐสวัสดิการ” นายจอน กล่าว
นายจอน กล่าวอีกว่า ระบบรัฐสวัสดิการมีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับระบบการสงเคราะห์ที่เล็งช่วยเหลือเฉพาะคนยากคนจนเท่านั้น เช่น ระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ริเริ่ม ทั้งนี้เพราะระบบรัฐสวัสดิการเป็นเรื่องของสิทธิที่เท่าเทียมกันทุกคนในฐานความเป็นมนุษย์ ไม่ว่ารวยหรือจนก็มีสิทธิเท่ากัน และเป็นเรื่องการยืนยันเรี่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สำหรับระบบการสงเคราะห์ผู้ยากจนนั้น มีลักษณะเหมือนเป็นการจัดสรรเศษเล็กๆ น้อยๆ ของความมั่งคั่งของประเทศเพื่อช่วยเหลือประทังชีวิตให้คนแก่คนจน โดยผู้ที่ประสงค์จะรับการสงเคราะห์นั้น จะต้องพิสูจน์ความยากจนและความไร้ที่พึ่งของตนจึงจะมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือ ลักษณะนี้เป็นลักษณะที่เป็นการบั่นทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
นายจอน กล่าวต่อไปว่า หากพิจารณาผิวเผิน ระบบสงเคราะห์อาจมีประสิทธิภาพเหนือกว่าระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เพราะเป็นการนำทรัพยากรไปช่วยเหลือประชาชนที่มีความจำเป็นที่จะได้รับการช่วยเหลือมากที่สุด ซึ่งตรงนี้ยังเป็นข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ระบบสงเคราะห์มีข้อด้อยหลายประการ
ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1. ระบบสงเคราะห์เป็นการแบ่งแยกทำให้เกิดพวกเขากับพวกเรา 2. เพื่อเข้าถึงระบบสงเคราะห์ ประชาชนต้องพิสูจน์ความยากจนของตนและครอบครัว เป็นการเสียศักดิ์ศรี ผู้ได้รับการส่งเคราะห์รู้สึกเป็นภาระของสังคม 3. บริการแก่ผู้ยากจนมักเป็นบริการคุณภาพต่ำ ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อย เพราะเป็นบริการให้กับผู้ด้อยโอกาสที่ไม่มีเสียงจะเรียกร้องอะไร
4. ลักษณะการแยกสิทธิระหว่างผู้ที่อยู่เหนือเส้นแบ่งและใต้เส้นแบ่งความยากจน ย่อมสร้างความอยุติธรรม 5. การบริหารระบบการสงเคราะห์เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ไร้ประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับรัฐสวัสดิการ 6. ผู้ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากระบบสงเคราะห์มักจะคัดค้านการถูกเก็บภาษีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในสวัสดิการที่ตนเองไม่มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ ทำให้มีแรงกดดันตลอดที่จะคุมค่าใช้จ่ายให้ต่ำ 7. ระบบสงเคราะห์เฉพาะคนจน สู้ระบบรัฐสวัสดิการไม่ได้ในด้านของการลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยกับคนจน
นายจอน กล่าวว่า ระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าเกิดขึ้นทั้งในประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิคมและทุนนิยม โดยนักเศรษฐศาสตร์แนวเสรีนิยมเชื่อว่า ระบบรัฐสวัสดิการเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สร้างความรุ่งเรืองของระบบทุนนิยม โดยเฉพาะในแง่ของการพัฒนาคุณภาพของคนในสังคมให้มากที่สุด
“สำหรับในประเทศไทย ยังขาดระบบรัฐสวัสดิการแบบครบวงจร ยังขาดนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในการผลักดัน ทั้งในแง่ของวิชาการ การออกแบบโครงสร้างและกลไกของระบบ รวมทั้งการออกแบบระบบภาษีให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายระบบสวัสดิการดังกล่าว” นายจอน กล่าว
นายจอน กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ ยังมีข้อจำกัดที่จะต้องก้าวข้ามต่อไป สำหรับระบบประกันสังคมนั้นยังขาดโครงสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน และยังครอบคลุมคนทำงานเพียงบางส่วนเท่านั้น ส่วนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถูกบั่นทอนโดยงบประมาณสวัสดิการข้าราชการ และโครงสร้างการแพทย์พาณิชย์
“ประเทศของเราเป็นประเทศที่มีฐานะเศรษฐกิจปานกลาง แต่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงสุดในโลกประเทศหนึ่ง ประเทศไทยจึงมีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและมีความเหมาะสมทางสังคมที่จะสร้างระบบรัฐสวัสดิการครบวงจร เพื่อให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้น้อยลง” นายจอน กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้มีเครือข่ายที่ได้สนับสนุนให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ปรึกษาหารือกับนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ และได้ศึกษาความเป็นไปได้ระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่เหมาะสมกับสังคมไทย โดยข้อเสนอคือ “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน” ประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่ 1. การศึกษา 2. สุขภาพ 3. ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน 4. งาน รายได้ และประกันสังคม 5. ระบบบำนาญ 6. สิทธิเชิงสังคม วัฒนธรรม และบริการ โดยทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยอาศัยการปฏิรูประบบภาษีอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ นายจอน ยังได้กล่าวถึงการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เข้มแข็ง มีคุณภาพและประสิทธิภาพ 3 ประเด็น ได้แก่ 1. จำเป็นต้องมีการรวมกองทุนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับสวัสดิการข้าราชการเพื่อสร้างระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวที่มีคุณภาพสูง 2. ควรต้องมีมาตรการที่ทั้งเอื้ออำนวยและบังคับให้ คลินิกและโรงพยาบาลเอกชนรับคนไทยและผู้ป่วยส่วนหนึ่งมาให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพ เช่น อย่างน้อย 60% ของผู้รับบริการทั้งหมด 3. ระบบหลักประกันสุขภาพควรต้องมีบริการที่เอื้ออำนวยความสะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น มีคลินิกนอกเวลาราชการ นัดแนะใช้บัตรคิวออนไลน์ เป็นต้น
- 30 views