“จอน อึ๊งภากรณ์” ชี้ ไทยก้าวข้ามธีมรณรงค์ “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโลก” ไปแล้ว ระบุ ระบบ “บัตรทอง” ก้าวหน้า แต่ยังต้องการการสนับสนุนจากการเมือง โดยเฉพาะรัฐบาล ย้ำเป้าหมายสูงสุดคือรวมกองทุนสุขภาพเป็นหนึ่งเดียว เพื่อประสิทธิภาพในการบริหาร-สร้างอำนาจการต่อรอง
นายจอน อึ๊งภากรณ์ ที่ปรึกษากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโลก (12 ธันวาคม) ประจำปี 2559 ว่า ในปี 2559 ทั่วโลกกำลังรณรงค์ภายใต้กรอบคิดการดำเนินการอย่างกระตือรือร้น ซึ่งส่วนตัวมองว่าประเทศไทยได้ก้าวข้ามธีมการรณรงค์ดังกล่าวไปแล้ว กล่าวคือมีความก้าวหน้าพอสมควรในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) แต่ปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้คือการสนับสนุนทางการเมือง โดยเฉพาะจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้สนับสนุนเท่าที่ควร ทั้งในเรื่องของงบประมาณ สิทธิประโยชน์ การใช้มาตรการเข้าถึงยาราคาถูก ฯลฯ
นายจอน กล่าวว่า ที่สำคัญคือระบบหลักประกันสุขภาพประเทศไทยจะต้องเดินหน้าไปเรื่อยๆ ซึ่งหากดูตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จะพบว่าเป้าหมายสูงสุดก็คือการรวม 3 กองทุนสุขภาพ ได้แก่ บัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ให้กลายเป็นกองทุนเดียว
“ขณะนี้มีวิกฤตในส่วนของกองทุนสวัสดิการข้าราชการที่กรมบัญชีกลางกำลังหาแนวทางแก้ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากระบบของกรมบัญชีกลางต่างกับระบบบัตรทอง พวกผมก็เสนอตลอดว่าน่าจะให้ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นผู้ดูแลระบบสวัสดิการข้าราชการ โดยให้รักษาสิทธิประโยชน์ให้เหมือนเดิม เพียงแต่ว่าให้มีการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพกว่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเดินหน้า” นายจอน กล่าว
นายจอน กล่าวอีกว่า ถ้าหากให้บริษัทประกันภัยเอกชนเข้ามาดูแลตามที่ปรากฏเป็นข่าวจะสร้างความเสียหายมากและสร้างผลกระทบต่อระบบบัตรทองด้วย เนื่องจากจะกลายเป็นการสร้างตัวอย่างของการจัดการที่มีปัญหาและเป็นการสนับสนุนโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งในอนาคตอาจทำให้โรงพยาบาลของรัฐขาดทุนด้วย
“มันมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว โดยเฉพาะเรื่องความล่าช้าในการเบิกจ่ายจากบริษัทประกันซึ่งอาจทำให้โรงพยาบาลของรัฐมีปัญหา ในทางตรงกันข้ามหากนำกองทุนสวัสดิการข้าราชการมาอยู่ร่วมกับระบบหลักประกันสุขภาพ นอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว อาจนำค่าใช้จ่ายส่วนที่ประหยัดได้มาเสริมในส่วนของคนที่อยู่ในระบบบัตรทองทั่วไปด้วย” นายจอน กล่าว
นายจอน กล่าวอีกว่า ในส่วนของระบบประกันสังคมกำลังมีปัญหา เนื่องจากผู้ประกันตนต้องจ่ายเงิน 2 เด้ง คือจ่ายเงินสมทบประจำเดือนเป็นค่ารักษาพยาบาลของตัวเอง และต้องจ่ายภาษีให้กับระบบบัตรทองด้วย ส่วนตัวมีความเห็นว่าระบบประกันสังคมเองก็ควรต้องเข้ามาอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ โดยเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายสมทบในเรื่องค่ารักษาพยาบาลก็ให้นำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น บำนาญชราภาพ หรือเพิ่มสิทธิประโยชน์
ที่ปรึกษากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ในระยะยาวรัฐบาลต้องสนับสนุนให้เกิดการรวมกองทุน และในปัจจุบันก็ต้องควรหันมามองแล้วว่าจะไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร เพราะหากรวม 3 กองทุนเป็นหนึ่งเดียวได้จะยิ่งสร้างอำนาจในการต่อรองให้มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือปีที่ผ่านมารัฐบาลมีมติให้เพิ่มงบประมาณให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เกิน 2% ตรงนี้ถือเป็นปัญหามาก ทั้งที่รัฐบาลควรสนับสนุนให้ระบบมีประสิทธิภาพขึ้นและไม่ควรชะลอการเพิ่มงบประมาณในส่วนนี้
“ในส่วนของ สปสช.เองก็ยังมีเรื่องที่ต้องพัฒนาอีกเยอะเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบคุณภาพบริการ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ยังมีปัญหาจากการเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบทั้งภาคเอกชน รัฐ รวมถึงโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งความยากง่ายในการเข้าถึงบริการก็ยังเป็นปัญหา เช่น บางโรงพยาบาลไม่รับผู้ป่วยย้ายสถานพยาบาล หรือบางคนต้องมาทำงานในกรุงเทพฯ แต่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด และไม่ทราบว่าสามารถย้ายสถานพยาบาลได้ ผมจึงอยากให้มีระบบการย้ายสถานพยาบาลที่ง่ายกว่านี้” นายจอน กล่าว
อนึ่ง วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage Day) ตรงกับวันที่ 12 เดือน 12 ของทุกปี โดยในปี 2559 มีกว่า 739 องค์กร ใน 177 ประเทศร่วมรณรงค์ ภายใต้แนวคิดการดำเนินการอย่างกระตือรือร้น โดยมุ่งหวังใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่จนที่สุด 2.ต้องการการสนับสนุนทางการเมือง 3.สร้างระบบสุขภาพที่มีความเมตตา 4.กำหนดความมั่นคงด้านสุขภาพใหม่
- 3 views