“หมอปิยะสกล” ห่วงประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 ระมัดระวังอุบัติเหตุเดินทาง เพิ่มความเข้มข้นระบบ UCEP พร้อมรองรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ด้าน “เลขาธิการ สปสช.” แนะผู้มีสิทธิบัตรทอง หากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติเข้ารักษาได้ทุก รพ.ที่อยู่ใกล้ตามนโยบาย UCEP หากไม่ถึงขั้นวิกฤติแต่จำเป็นต้องรับการรักษา ใช้สิทธิรักษา ม. 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ย้ำเข้า รพ.รัฐ ใกล้สุดไว้ก่อน
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในการดูแลผู้ป่วยเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉินเป็นไปตามที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้วางระบบรองรับการรักษาพยาบาลที่เป็นมาตรฐานไว้ ซึ่งได้ดำเนินการมาโดยตลอด โดยครอบคลุมดูแลประชาชนทุกสิทธิ เพียงแต่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 นี้ จะมีความเข้มข้นในการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์เพิ่มขึ้นเท่านั้น เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจเพิ่มขึ้น โดยในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ขอให้ประชาชนทั้งที่เดินทางกลับบ้านและท่องเที่ยวระมัดระวังอุบัติเหตุในการเดินทาง แต่หากเกิดเหตุสุดวิสัย หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ได้เตรียมความพร้อมเพื่อดูแลและช่วยเหลือ
ทั้งนี้ในส่วนของนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ หรือ UNIVERSAL COVERAGE FOR EMERGENCY PATIENTS (UCEP) ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับอย่างดีทั้งจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เรียกได้ว่ามีปัญหาและมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาน้อยมาก รวมถึงปัญหาการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินในช่วง 72 ชั่วโมงแรก ประชาชนส่วนใหญ่พอใจ ซึ่งเป็นอย่างที่นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวไว้ว่า ใน 100 ราย อาจมีผู้ที่ไม่พอใจเพียง 1 รายเท่านั้น แต่เราก็พยายามแก้ไขปัญหาให้ ทั้งนี้ขอให้ประชาชนทุกคนระมัดระวังการเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 นี้ เป็นช่วงที่มีวันหยุดยาว ประชาชนส่วนใหญ่จะเดิทางกลับบ้านและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลนี้ โดยในระหว่างนี้ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ “สิทธิบัตรทอง” หากมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล แบ่งเป็น 2 กรณี คือ
1.กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติที่หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ที่สถานพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ใกล้สุด ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิ์ทุกที่ และให้สถานพยาบาลที่ให้การรักษาเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ตามอัตราที่กำหนด
2.กรณีเจ็บป่วยที่ไม่ใช่ฉุกเฉินระดับวิกฤติ หรือผู้มีสิทธิบัตรทองที่เดินทางไปต่างถิ่นแล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล เช่น ความดันโลหิตขึ้นสูง ปวดศีรษะมาก ท้องเสียรุนแรง เป็นต้น เป็นภาวะที่ไม่ถึงขั้นฉุกเฉินแก่ชีวิต กรณีนี้ เป็นไปตามข้อบังคับ สปสช.ว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขกรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุหรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ระบุว่า ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองหากมีเหตุสมควร หรือกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลอื่นที่ไม่ได้ลงทะเบียนหน่วยบริการประจำและสถานพยาบาลที่ไม่ได้เข้าร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมาตรา 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทั้งนี้ขอแนะนำให้เข้ารับบริการสถานพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ใกล้ที่สุดก่อน ไม่มุ่งเจาะจงเข้าสถานพยาบาลเอกชนเท่านั้น เนื่องจากการเบิกจ่ายค่ารักษาจะเป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้
“ในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อความสะดวก นอกจากการเตรียมบัตรประจำตัวประชาชนที่เป็นหลักฐานสำคัญแล้ว ควรศึกษาข้อมูลหน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่ระหว่างเดินทางและจุดหมายปลายทาง เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการเข้ารับการรักษาพยาบาลยังหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วและเพื่อความไม่ประมาท ส่วนประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหอบหืด เป็นต้น ควรเตรียมพร้อมยารักษาโรคเพื่อให้เพียงพอสำหรับการเดินทาง” เลขาธิการ สปสช.
ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน สปสช. โทร. 1330 ขณะที่กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้น โทร. สายด่วน 1669 ได้ทั่วประเทศ
- 6 views