ทุกคนต้องเดินทาง ทุกคนต้องใช้ถนน และคนจำนวนมากใช้ถนนหลายชั่วโมงต่อวัน
แต่...ไม่น่าตกใจหรอกหรือ ที่ถนนที่เรา-ประชาชนคนไทยใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ได้ชื่อว่าเสี่ยงต่อการตายเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และสำหรับมอเตอร์ไซค์นั้น คืออันดับ 1 ของโลก!!!
อ้างอิงจากรายงานปี 2018 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ตัวเลขประมาณการผู้เสียชีวิตก็คือ 22,491 คน เฉลี่ยแล้วคนไทยตายด้วยอุบัติเหตุวันละเกือบ 62 คน ส่วนผู้บาดเจ็บมีจำนวนมากกว่าหลายเท่าตัว ในจำนวนนั้นต้องกลายเป็นผู้พิการตลอดชีวิตราวร้อยละ 2.4 ยังไม่รวมข้อมูลจากกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มีเด็กและเยาวชนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนน เฉลี่ยแล้วปีละประมาณ 2,500 ราย
หากยังมองไม่เห็นภาพ ลองเทียบกับโรงเรียนที่เราเคยเรียนว่ามีนักเรียนทั้งหมดจำนวนเท่าไร นั่นอาจทำให้เห็นความน่าสะพรึงกลัวชัดเจนขึ้น ส่วนช่วงวัยที่เสียชีวิตสูงสุดคือ 15-19 ปี วัยที่กำลังจะเข้าสู่อุดมศึกษาเพื่อเป็นกำลังแรงงานพัฒนาประเทศ
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ทดลองคำนวณมูลค่าความสูญเสียจากการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงปี 2554-2556 เฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 545,435 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
หากจะกล่าวว่าผู้คนไม่ตื่นตัวต่อปัญหานี้ก็อาจไม่ถูกต้องนัก ดูจากซูเปอร์โพลล์ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.2561 พบว่า ปัญหาอุบัติเหตุเป็นปัญหาอันดับ 3 ที่ประชาชนร้อนใจอยากให้พรรคการเมืองต่างๆ มีนโยบายแก้ไข รองจากเรื่องเศรษฐกิจกับการศึกษา
จากสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนดังกล่าวมา ในห้องเสวนาขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติว่าด้วย “การแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน” ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11 พ.ศ.2561 ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดขึ้นเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ และ นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน รวมถึงภาคีเครือข่ายที่ผ่านกระบวนการขับเคลื่อนงานแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ได้ทำหนังสือถึงพรรคการเมืองต่างๆ ผ่านผู้แทนพรรคที่เข้าร่วมเสวนา เพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาและขอให้บรรจุเรื่อง “ถนนปลอดภัย” ไว้ในนโยบายพรรค ข้อเสนอต่อนโยบายของพรรคการเมืองมี 3 ประการ คือ
1.ให้มีการจัดตั้งหน่วยงานองค์กรนำ (Lead Agency) ด้านการบริหารจัดการและวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อเป็นหน่วยงานรับผิดชอบเป็นการเฉพาะ โดยอาจแยกไปจัดตั้งเป็นหน่วยงานอีกหน่วยหนึ่ง หรือยกระดับอำนาจหน้าที่ของศูนย์ปลอดภัยคมนาคม กระทรวงคมนาคม 2.ให้มีนโยบายลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนอย่างชัดเจน และ 3.ประกาศให้การแก้ไขปัญหาจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นวาระสำคัญ และพิจารณาเรื่องนี้เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของทุกพรรค
อย่างไรก็ตาม การขยับระดับนโยบายนั้นยากและมักใช้เวลายาวนาน ระหว่างนี้ประชาชนไม่ควรต้องตกอยู่ในสภาพจำยอมต่อความน่าหวาดกลัวบนท้องถนน ดังกรณีพื้นที่ตัวอย่างเล็กๆ ที่ประชาชนได้เริ่มลงมือแก้ปัญหาด้วยตัวเองแล้ว นั่นคือ ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จังหวัดร้อยเอ็ด
จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในปี 2559 เมื่อคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ได้มีมติตั้ง คณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาแห่งชาติเรื่องการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 3 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ จังหวัดร้อยเอ็ด
จังหวัดร้อยเอ็ด มีทางหลวงแผ่นดินยาวกว่า 546.9 กม. เป็นจังหวัดทางผ่านไปยังจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งทั้งที่รุนแรงและไม่รุนแรง โดยข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนจังหวัดร้อยเอ็ดเฉลี่ยวันละ 1 ราย และในช่วงเทศกาลจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ซึ่งคณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน จ.ร้อยเอ็ด เห็นว่า นี่เป็นปัญหาใหญ่!! ที่แม้ทุกหน่วยงานจะพยายามอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเท่าที่ควร
คณะทำงานฯ จึงเริ่มการทำงานด้วยการสานพลังทุกภาคส่วน เข้ามาบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้ง ตำรวจ สาธารณสุขจังหวัด ทางหลวงจังหวัด ขนส่งจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ ก่อเกิดเป็น ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ใน 3 ระดับคือ ระดับจังหวัด อำเภอ ท้องถิ่น สำหรับในระดับท้องถิ่นนั้นจะมีสัดส่วนชาวบ้านจากชุมชนด้วย โดยมีอำเภอสุวรรณภูมิและอำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นพื้นที่นำร่องในการทำงาน
สิ่งที่พวกเขาเริ่มทำนั้นฟังดูง่ายแต่ให้ผลดี หลายตำบลสามารถทำให้อุบัติเหตุเป็น 0 ได้แล้วในช่วงเทศกาล นั่นคือ การสำรวจและวิเคราะห์จุดเสี่ยงทั้งถนนเส้นหลักเส้นรอง เช่น ไม่มีสัญญาณไฟจราจร ขาดไฟส่องสว่าง มีสิ่งกีดขวางเส้นทาง มีสิ่งบดบังทัศนวิสัย เป็นต้น จากนั้นจะประชุมร่วมกันเพื่อนำเสนอการแก้ไขปัญหา ทีม ศปถ. ก็จะส่งต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนั้นๆ
"บางทีเราคิดว่าจัดการหมดแล้ว ดูแลทั่วถึง แต่ชาวบ้านเขาใช้ถนนทุกวัน เขารู้ว่าตรงไหนยังเสี่ยง เขาก็มาบอกว่าจัดการตรงนี้ให้หน่อย เราก็รีบจัดการให้" ประสิทธิ์ พันภูงา ผอ.หมวดบำรุงทางหลวงชนบท กล่าว
ยังมีอีกหลายกิจกรรม หลายเรื่อง ที่ริเริ่มทำได้ในชุมชนและโดยชุมชน เช่น การที่แต่ละชุมชนของร้อยเอ็ดมาร่วมกันสร้างกติกาความปลอดภัยทางถนนเป็น “ธรรมนูญสุขภาพ” ประจำตำบลผ่านการทำประชาคม พวกเขาหารือกันเองเพื่อสร้างเข้าใจและกำหนดออกมาเป็นกฎกติกาที่ได้รับการยอมรับ หรือตัวอย่างของโรงเรียนที่ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้มาอบรมเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนกับวัยรุ่น หรือกระทั่งปลูกฝังวินัยจราจรกับเด็กเล็ก
กิจกรรมเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ หากแต่เกิดจากการประชุมร่วมกันทุกเดือนเพื่อสรุปสถานการณ์อุบัติเหตุ ร่วมกันค้นหาสาเหตุและทางแก้ ทางแก้หนึ่งที่แปลกกว่าที่อื่นก็คือ พนักงานสอบสวนที่นี่ไม่เพียงตามจับผู้ร้าย ตามหาคนผิดเพียงเท่านั้น แต่ต้องนำเสนอให้หน่วยงานอื่นๆ เห็นภาพอุบัติเหตุ พร้อมตั้งข้อสังเกตในการป้องกันด้วย
ทั้งหมดนี้คือภาพความพยายามแก้ปัญหาอุบัติทั้งระดับนโยบายและระดับพื้นที่ เพื่อทำให้สังคมไทยไม่ต้องสูญเสียทรัพยากรอันมีค่ามหาศาล และพวกเราไม่ต้องสูญเสียญาติ พี่น้อง คนที่เรารัก ด้วยอุบัติเหตุทางถนนอีกต่อไป !!
- 209 views