กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยผลตรวจ รพ.พระราม 2 หลังได้รับเรื่องร้องเรียนว่าปฏิเสธการรักษาผู้บาดเจ็บจากการถูกสาดน้ำกรด จนผู้บาดเจ็บทนพิษบาดแผลไม่ไหวและเสียชีวิต พบความผิด 3 กระทง ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการ มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
จากกรณี ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมได้มายื่นหนังสือร้องเรียนโรงพยาบาลพระราม 2 ว่าปฏิเสธการรักษาและมีบริการทางการแพทย์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จนทำให้หญิง อายุ 38 ปี ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการถูกสาดน้ำกรดเสียชีวิต นั้น
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณีข้างต้น กรม สบส.ได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่โรงพยาบาลพระราม 2 เพื่อรวบรวมข้อมูลขณะเกิดเหตุ ทั้งจากเอกสารทางการแพทย์, ภาพจากกล้องวงจรปิด และสอบปากคำเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล และนำข้อมูลเสนอให้กับที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ และเอกชน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), สำนักงานอัยการสูงสุด และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ฯลฯ ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยที่ประชุมมีมติให้ส่งเรื่องแก่คณะกรรมการเปรียบเทียบคดีดำเนินการเปรียบเทียบปรับในความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และพนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาในความผิดที่มีอัตราโทษเกิน 1 ปีขึ้นไปในความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 จำนวน 3 กระทง ดังนี้
1. ความผิดตามมาตรา 34 (1) ในขณะที่เกิดเหตุ ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่นที่มิใช่แพทย์ดำเนินการแทนแพทย์ และ (2) ไม่ควบคุม ดูแลให้แพทย์ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ความผิดตามมาตรา 35 (3) ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ไม่จัดให้มีรายงานหลักฐานเกี่ยวกับผู้ป่วย และ (4) ไม่ควบคุมและดูแลการประกอบกิจการสถานพยาบาลให้เป็นไปตามมาตรฐาน อาทิ ไม่มีการจัดทำหนังสือส่งตัวผู้ป่วย, มีการส่งต่อผู้ป่วยอย่างไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกายผู้ป่วย ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ความผิดตามมาตรา 36 ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลไม่ควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยจนพ้นจากขีดอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและตามประเภทของสถานพยาบาล ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี เพื่อความชัดเจนในการประเมินเกณฑ์ผู้ป่วย ขอให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งใช้ระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วยในระบบ UCEP ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ในการประเมินเกณฑ์ผู้ป่วย หากประเมินแล้วพบว่าเข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) สถานพยาบาลต้องให้การรักษาพยาบาลอย่างเต็มความสามารถ โดยห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรกแต่อย่างใด แต่หากประเมินแล้วพบว่ามิได้เข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) ก็ควรสื่อสาร ชี้แจงถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลกับผู้ป่วยหรือญาติเพื่อมิให้เกิดการเข้าใจผิด ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการสภานพยาบาลสถานพยาบาลใดกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541
- 418 views