กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แจงนโยบายเมดิคัล ทัวร์ริสซึม ดึงนักท่องเที่ยวเข้าไทย โดยสอดคล้องกับนโยบายสำคัญช่วยผลักดันประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ พร้อมตั้งคณะทำงานร่วมศึกษาผลกระทบ จัดทำมาตรการป้องกันการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพ และวางมาตรการรับมืออย่างใกล้ชิดต่อไป
จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อมวลชนว่านโยบายเมดิคัล ทัวร์ริสซึม อาจจะส่งผลกระทบกับระบบบริการสุขภาพไทย ทำให้ค่ารักษาพยาบาลและยาของโรงพยาบาลเอกชนมีราคาแพงขึ้นต่อเนื่อง เพราะผู้ที่เข้ามารักษาตามแผนดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีกำลังซื้อสูง ส่งผลให้อัตราค่ารักษาพยาบาลและค่ายาในประเทศหรือที่รักษาคนไทยก็ปรับตัวแพงตามไปด้วย อีกทั้ง ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพ เพราะโรงพยาบาลที่รักษาต่างชาติก็จะให้ค่าตอบแทนที่สูง นั้น
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 นายแพทย์ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับคุณภาพ มาตรฐานการรักษาพยาบาล และบริการทางการแพทย์ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานของสภาวิชาชีพ โดยมีการควบคุม กำกับ ตามกฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ทั้งด้านสถานที่ บุคลากร ยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงความปลอดภัย กับผู้รับบริการทุกคนเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ
ส่วนอัตราค่ารักษาพยาบาล กระทรวงสาธารณสุขได้นำข้อร้องเรียนจากประชาชนมาปรับรูปแบบการเรียกเก็บค่าบริการจากเดิมที่มีการแยกเก็บเป็นรายการให้เป็นไปในลักษณะการเหมาจ่าย โดยสถานพยาบาลต้องแจ้งอัตราค่าบริการให้ประชาชนรับทราบและเข้าใจทุกครั้ง และต้องไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มเติมยกเว้นกรณีเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งต้องแจ้งรายละเอียดให้ผู้รับบริการรับทราบก่อนทุกครั้ง ซึ่งสถานพยาบาลเอกชนก็ถือเป็นหนึ่งในสถานบริการสุขภาพที่ดูแลสุขภาพประชาชนคนไทยใน 3 กองทุนหลัก ทั้งกลุ่มข้าราชการไทยและครอบครัว จากกองทุน กรมบัญชีกลาง กลุ่มประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกลุ่มประชาชนที่มีสิทธิประกันสังคม จากกองทุนประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม รวมทั้ง นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP)
นายแพทย์ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า การที่ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามารับบริการรักษาพยาบาล หรือบริการ ทางการแพทย์ที่ประเทศไทยตามนโยบายเมดิคัล ทัวร์ริสซึม (Medical Tourism) นับเป็นสัญญาณที่ดีในการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศโดยรัฐสามารถนำรายได้ดังกล่าวมาพัฒนาประเทศ อีกทั้ง เป็นการสร้างอาชีพ และกระจายรายได้สู่ประชาชน แต่ก็อาจจะมีผู้ที่เป็นกังวลว่าการที่ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามารับบริการรักษาพยาบาลกับสถานพยาบาลไทยอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อกลไกการตลาดทำให้อัตราค่ารักษาพยาบาลมีราคราสูงขึ้นนั้น ตนขอชี้แจงในประเด็นที่สังคมเกิดความกังวลทั้ง 2 ประเด็น ดังนี้
1.ตนขอชี้แจงว่า นโยบายเมดิคัล ทัวร์ริสซึม จะไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราค่ารักษาพยาบาลแต่อย่างใด ด้วยสถานพยาบาลภาครัฐมีกรอบในการควบคุมอัตราค่าบริการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว ส่วนสถานพยาบาลเอกชนก็มีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ควบคุม กำกับ อัตราค่าบริการให้เหมาะสมและเป็นธรรม โดยมีกระทรวงสาธารณสุขร่วมพิจารณา จึงไม่ต้องเป็นกังวลว่าจะมีการขึ้นอัตราค่ารักษาพยาบาล
และ 2.ในส่วนที่มีความกังวลว่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรสุขภาพในภาครัฐ ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมามีการเคลื่อนย้ายบุคลากรจากภาครัฐไปภาคเอกชนบางส่วน กระทรวงสาธารณสุขจึง โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจึงได้มีการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ให้สถานพยาบาลเอกชนสามารถจัดการศึกษา อบรม วิจัยในสถานพยาบาลของตนเองได้เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากร และในการแก้กฎหมายดังกล่าวยังเพิ่มการส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนจึงช่วยป้องกันปัญหาดังกล่าวได้ก
ทั้งนี้ ประเทศไทยของเราได้มีนโยบายพัฒนาประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ในทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย
1)ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub)
2)ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub)
3)ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub)
และ 4) ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub)
ที่ได้ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพค่อนข้างมาก โดยเฉพาะจากบริการทางการแพทย์ และการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ เกิดการกระจายรายได้สู่ประชาชน อีกทั้งช่วยส่งเสริม พัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ของประเทศให้มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สังเกตได้จากการที่ประเทศไทยมีโรงพยาบาลที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสถานพยาบาลระดับสากล (Joint Commission International : JCI) มากที่สุดในทวีปเอเชีย สร้างความไว้วางใจ และยอมรับต่อบริการทางการแพทย์ของไทยในสายตาชาวโลก โดยนโยบายเมดิคัล ทัวร์ริสซึม เองก็เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันประเทศเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหา หรือผลกระทบที่แต่ละฝ่ายมีความกังวลว่าจะเกิดในอนาคต กรม สบส.จะให้ความสำคัญกับการศึกษาผลกระทบและวางมาตรการรับมือจากนโยบายเมคัล ทัวร์ริสซึมอย่างใกล้ชิดต่อไป
- 142 views