ที่สหรัฐอเมริกา โรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดรองจากโรคหัวใจได้แก่ โรคมะเร็ง

ผู้ป่วยโรคมะเร็งชาวสหรัฐมากกว่าครึ่งต้องสูญเสียเงินออมที่สะสมมาตลอดชีวิตในระยะเวลาเพียง 2 ปีของการเข้ารับการรักษา กล่าวคือ เฉลี่ยแล้วพวกเขาต้องเสียเงินค่ารักษาเฉลี่ยทั้งหมดคนละ 92,098 ดอลลาร์สหรัฐ

คือข้อสรุปของงานวิจัยในหัวข้อ ‘Death or Debt? National Estimates of Financial Toxicity in Persons with Newly-Diagnosed Cancer’ โดยคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซน่า (University of Arizona) และมหาวิทยาลัยรัฐโอคลาโฮมา (University of Oklahoma) เผยแพร่ลงวารสารวิชาการทางการแพทย์ the American Journal of Medicine ฉบับเดือนตุลาคม

คณะวิจัยได้ทำการติดตามผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิดที่เข้ารับการรักษาในช่วงปี 2000 -2012 จำนวน 9,500,000 คน โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 68.6 ปี ส่วนใหญ่แต่งงานแล้ว (คิดเป็น 54.7 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด) และยังไม่เกษียณ (คิดเป็น 51.1 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด) และมีสิทธิ Medicare beneficiarary (คิดเป็น 56.6 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด) พบว่า 62 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนดังกล่าวต้องเป็นหนี้เพราะค่ารักษาพยาบาลและอีก 55 เปอร์เซ็นต์ต้องเสียเงินรักษามากกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ

น่าสนใจกว่านั้น งานวิจัยยังเปิดเผยอีกว่า 40 – 85 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมดจำต้องลาออกจากงานขณะที่ยังคงรับการรักษาอยู่ ส่งผลให้ภาระทางการเงินเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 6 เดือนหรือนานกว่านั้น

อย่างไรก็ดี แม้คุณจะมีประกันรักษาพยาบาล ถึงอย่างนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลโรคมะเร็งทุกอย่าง

“มันน่ากลัวที่เราจะถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งแต่น่ากลัวกว่าหากคิดถึงค่าใช้จ่ายที่จะตามมา”

ที่มา:

1.Death or Debt? National Estimates of Financial Toxicity in Persons with Newly-Diagnosed Cancer (www.amjmed.com)

2.Study: Almost half of new cancer patients lose their entire life savings (www.thisisinsider.com)

3.REVEALED: 50% of cancer patients burn through their entire life's savings in just two years - with bills hitting an average of $92,000 over 12 months, study finds (www.dailymail.co.uk)