สสอ.ทั่วประเทศขานรับบทบาทเลขาฯ คกก.พชอ. พร้อมเสนอแนวทางพัฒนางาน แนะเร่งสร้างขวัญกำลังใจ จัดงบเพียงพอ มีสวัสดิการค่าตอบแทนพิเศษ ลดปัญหาเจ้าหน้าที่ขอย้าย เพื่อบรรลุเป้าหมายประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
นายธาดา วรรธนปิยกุล
เมื่อวันที่ 5 ต.ค.61 นายธาดา วรรธนปิยกุล ประธานมูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย และสาธารณสุขอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า จากการที่ได้มีการประกาศระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ พ.ศ. 2561 ลงในพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2561 และมีผลบังคับใช้ ที่กำหนดให้มีทุกอำเภอของแต่ละจังหวัดต้องมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) โดยมีสาธารณสุขอำเภอเป็นเลขานุการของคณะกรรมการฯ ได้เกิดเป็นความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ รวมไปถึงหน่วยงานภาคเอกชน ภาคประชาชน โดยการสนับสนุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการจัดการปัญหาระดับพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับพื้นที่ เป็นไปในทิศทาง ยุทธศาสตร์ และเป้าหมาย อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
โดยมีการบูรณาการร่วมกันระหว่าง หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนอย่างเป็นองค์รวม รวมทั้งมุ่งเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วนในพื้นที่ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างความเป็นผู้นําและเจ้าของร่วมกัน ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ตลอดจนสร้างเสริมให้บุคคล ครอบครัว และชุมชน มีสุขภาวะทางกาย จิต และสังคมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและเกิดความยั่งยืน
นายธาดา กล่าวต่อว่า กลไก พชอ.มีความสำคัญมากในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และส่งผลต่อการพัฒนาด้านสุขภาพของคนไทย โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาระบบสุขภาพระดับปฐมภูมิ ในการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันและควบคุมโรค (งาน PP) และ งานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพระดับอำเภอ ซึ่งจะต้องได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพและความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ โดยมีข้อเสนอแนะประเด็นการพัฒนา ที่นำสู่ปัจจัยแห่งความสำเร็จของ พชอ. อย่างน้อย 5 ด้าน ดังนี้
1.ด้านกำลังคน ควรพัฒนาศักยภาพของทีม พชอ. โดยเฉพาะสาธารณสุขอำเภอ ซึ่งเป็นเลขานุการของ พชอ. จัดทำหลักสูตรระยะสั้น เป็น“นักยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันและควบคุมโรค (งาน PP)” รวมทั้งจัดอบรมพัฒนาศักยภาพ คณะกรรมการ พชอ. รวมทั้งพัฒนากำลังคนในหน่วยงาน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ซึ่งเป็นสำนักงานเลขาฯ ตลอดจนจัดสรรอัตรากำลังบุคลากรตามโครงสร้างอัตรากำลังใหม่ และ พัฒนาศักยภาพการทำงาน
2.ด้านงบประมาณ ควรจัดสรรงบประมาณให้มีการขับเคลื่อน พชอ. และ การทำงานของ สสอ.ให้มีความเพียงพอเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ และมีประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น งบบริหารจัดการของ สสอ. และงบสนับสนุนการทำงานในบทบาทสำนักงานเลขาฯ พชอ. งบติดตามประเมินผล และงบขับเคลื่อนงานของพชอ.เป็นงบกลาง เช่น ใช้ในการกรณีฉุกเฉินโรคระบาดหรือภัยพิบัติ ฯลฯ นอกจากการประสานใช้งบอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพในพื้นที่ และสำคัญที่สุด คือ งบการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรค (งาน PP) ที่จัดสรรลงในระดับอำเภอ ควรแยกออกมาให้ชัดเจน ใช้กลไก พชอ.บริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมา มีการสะท้อนปัญหาค่อนข้างมาก มีการใช้งบนี้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ มีการค้างท่อและแปรสภาพเป็นเงินบำรุงของหน่วยงานที่รับโอนงบไป และนำไปใช้อย่างอื่น งบลงไปไม่ถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ ขาดการส่งเสริมใน “การสร้างนำซ่อม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา คนไข้แออัดและล้นเตียงในปัจจุบัน
3.ด้านการสนับสนุนทรัพยากร ครุภัณฑ์ วัสดุ อุปกรณ์ ของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สำนักงานเลขาฯพชอ.) นอกจากใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมแล้ว ควรมีการสำรวจ และเพิ่มเติมสิ่งที่จำเป็นลงไปให้พร้อม ในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในฐานะเป็นหน่วยงานยุทธศาสตร์พัฒนาระบบสุขภาพระดับอำเภอ
4.ด้านการบริหารจัดการ กลไก พชอ. ต้องเน้นการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพราะเป็นกลไกที่มีระเบียบฯ กฎหมายรองรับ ควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจนทุกระดับตั้งแต่กระทรวงฯลงมาถึงระดับเขต จังหวัด
5.ด้านขวัญกำลังใจและสวัสดิการของบุคลากร เรื่องนี้มีความสำคัญมาก ปัจจุบันหน่วยงาน สสอ. (สำนักงานเลขาฯ พชอ.) มีระเบียบรองรับว่าเป็น หน่วยงานบริการ และ เป็นสถานพยาบาลหน่วยหนึ่ง เมื่อมีการให้บริการสามารถออกใบเสร็จรับเงิน ไปเบิกจ่ายตามสิทธิรักษาพยาบาลได้ ตามที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ทำหนังสือแจ้งเวียน นอกจากนี้เสนอควรสร้างสวัสดิการของบุคคลากรที่ปฏิบัติงานที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ คือ การได้รับค่าตอบแทนพิเศษฯ ฉบับที่11 (ฉ.11) ซึ่งผู้บริหารฯและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำเรื่องไปพิจารณาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพราะ ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งขอย้ายออกจาก สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ เพื่อไปปฏิบัติงานหน่วยบริการอื่น ที่มีการได้รับค่าตอบแทนพิเศษฯ ฉบับที่11 (ฉ.11) ทำให้บุคลากรยิ่งขาดแคลนตามกรอบอัตรากำลัง และ เจ้าหน้าที่ที่ยังปฏิบัติงานอยู่ในหน่วยงานก็ขาดขวัญกำลังใจในการทำงานขาดแรงจูงใจ ขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน
ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ถือเป็นกลไกที่สำคัญมากและเป็นหน่วยจัดการที่อยู่ใกล้พื้นที่มากที่สุด สามารถจัดการแก้ไขปัญหาให้ตรงกับความต้องการของประชาชน ลดช่องว่างและความซ้ำซ้อนได้มาก จึงอยากให้หน่วยงานหลักได้ร่วมกันพิจารณาและเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย ประชาชนมีสุขภาวะที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงต่อไป
- 75 views