ผู้ตรวจราชการ สธ.เขต 10 เปิดโมเดล “โรงพยาบาลสามพี่น้อง” จ.อุบลราชธานี กระจายทรัพยากร รพ.ใหญ่ ใช้ประโยชน์พื้นที่โรงพยาบาลขนาดรอง ลดปัญหาคนไข้กระจุกตัว
นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล
นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 10 กล่าวถึงโครงการ “การใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Resource Sharing) ของโรงพยาบาลสามพี่น้อง” ตอนหนึ่งว่า คำว่าโรงพยาบาลสามพี่น้อง ประกอบด้วยโรงพยาบาล 3 แห่ง ใน จ.อุบลราชธานี ได้แก่ 1.โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ 2.โรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ และ 3.โรงพยาบาลวารินชําราบ
สำหรับโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 1,427 เตียง แต่กลับมีอัตราการครองเตียงที่สูงเกินกว่านั้น ขณะที่โรงพยาบาล 50 พรรษาฯ และโรงพยาบาลวารินชำราบ ซึ่งถือว่าเป็นโรงพยาบาลน้องนั้น มีขนาดประมาณ 200 เตียง แต่อัตราการครองเตียงอยู่ที่ 50-60เท่านั้น ส่งผลให้ยังมีเตียงว่างสำหรับรองรับผู้ป่วยได้อีก
“เราจึงมีความคิดว่าควรใช้ทรัพยากรร่วมกัน เช่น การหมุนเวียนแพทย์จากโรงพยาบาลพี่ คือโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ไปที่โรงพยาบาลน้องทั้ง 2 แห่ง ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ป่วย และลดความแออัดของโรงพยาบาลพี่ลงได้ ซึ่งจากแนวความคิดและการดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 8 เดือน ทำให้อัตราการครองเตียงของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ลดลงประมาณ 10%” นพ.ประพนธ์ กล่าว
นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า หลักการสำคัญคือการบริหารทรัพยากรอันมีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ด้วยการให้บริการโดยโรงพยาบาลขนาดรองลงมา ซึ่งนอกจากโครงการโรงพยาบาลสามพี่น้องแล้ว ในเขต 10 ยังมีการดำเนินโครงการ “โรงพยาบาลสามสหาย” ด้วย โดยโครงการนี้เกี่ยวข้องกับ 3 จังหวัด ได้แก่ อำนาจเจริญ ยโสธร และมุกดาหาร
“ทั้ง 3 จังหวัดนี้เป็นจังหวัดขนาดเล็ก เดิมจะส่งต่อผู้ป่วยเข้ามายังโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ทั้งหมด แต่เมื่อโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์เกิดปัญหาแออัด เราจึงมามองถึงความแข็งแกร่งของแต่ละพื้นที่ โดยทั้ง 3 จังหวัดนี้ไม่จำเป็นต้องมีความโดดเด่นในด้านเดียวกัน ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่จะสร้างเครือข่ายและส่งต่อระหว่างกันด้วย” นพ.ประพนธ์ กล่าว
นพ.ประพนธ์ ยกตัวอย่างว่า ในกรณีที่คนไข้ต้องได้รับการผ่าตัดสมอง ในอดีตต้องส่งมาโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์เพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันสามารถส่งไปที่ จ.ยโสธร และ จ.มุกดาหาร ได้เลย
- 409 views