กระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนาโรงพยาบาลจตุรทิศใน 5 จังหวัดปริมณฑล เติมงบพิเศษ เพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลทั้งจังหวัด ตั้งเป้าภายใน 3 เดือน จำนวนผู้ป่วยนอกไม่เพิ่ม ลดระยะเวลารอคอยได้ชัดเจน แก้ปัญหาผู้ป่วยล้นเตียง ลดความแออัดและการส่งต่อเข้า กทม.
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ที่โรงพยาบาลปทุมธานี จ.ปทุมธานี นางสาวเรวดี รัศมิทัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 4 และคณะ ตรวจเยี่ยมติดตามการพัฒนาโรงพยาบาลจตุรทิศ โดยปทุมธานีเป็น 1 ใน 5 จังหวัดปริมณฑลที่ต้องได้รับการพัฒนาเป็นด่านหน้าลดความแออัดและการส่งต่อเข้า กทม.
นางสาวเรวดี กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลรอบปริมณฑลที่มีคนไข้นอกแต่ละวันจำนวนมาก เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการที่ดี ลดแออัด ลดรอคอย ลดส่งต่อ ด้วยแนวคิดพัฒนาโรงพยาบาลจตุรทิศใน 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ให้มีความพิเศษแตกต่างจากโรงพยาบาลในต่างจังหวัดทั่วๆ ไป เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลทุกระดับ ส่วนหนึ่งมาจากการเป็นพื้นที่ที่มีการเคลื่อนย้ายประชากรสูง โดยเกือบร้อยละ 50 ของผู้รับบริการเป็นคนนอกพื้นที่ โรงพยาบาลต้องรับภาระหนัก หากไม่มีการจัดระบบรองรับที่ดีจะเกิดปัญหาทั้งความแออัด ระยะเวลารอคอยรักษา และที่สำคัญผู้ป่วยล้นต้องถูกส่งต่อเข้าไปที่โรงพยาบาลใน กทม.
“โรงพยาบาลใน 5 จังหวัดทุกแห่งต้องได้รับงบอัดฉีดพิเศษลงไปเพิ่มเติม เป็นการพัฒนาเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลทั้งจังหวัด เพื่อดูแลประชาชนได้โดยไม่ต้องส่งต่อ ครอบคลุมทั้งคนในพื้นที่ตามทะเบียนราษฎร์และคนต่างถิ่นที่เข้ามาทำงาน” นางสาวเรวดี กล่าว
ด้าน นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โครงการพัฒนาโรงพยาบาลจตุรทิศ เป็นการพัฒนาต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาที่เรื้อรังมานานในระบบบริการ ในเรื่องการลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอย การไม่มีเตียงนอนเพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่มกราคม 2563 ตั้งเป้าภายใน 3 เดือน จำนวนผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลใน 5 จังหวัดต้องไม่เพิ่ม ลดระยะเวลารอคอยตั้งแต่เริ่มทำบัตรจนถึงรับยากลับบ้าน และที่สำคัญการไม่มีปัญหาผู้ป่วยล้นเตียง อัตราการครองเตียงอยู่ที่ร้อยละ 90 โดยนำระบบไอที ระบบโลจิสติกส์ การคิดค้นนวตกรรม มาช่วย เป็นต้น
ทั้งนี้ ในระยะสั้นจะได้จัดสรรงบเหลือจ่ายปีงบประมาณ 2563 ให้โรงพยาบาลทั้ง 5 จังหวัด เพื่อลงทุนในเรื่องครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ระยะต่อไปจะผลักดันให้เป็นโครงการพิเศษเพื่อให้มีการพัฒนาต่อเนื่อง เป็นด่านหน้ามีศักยภาพเพียงพอที่จะดูแลประชาชนในเขตปริมณฑลได้ทุกระบบ ลดการส่งต่อ และช่วยลดความแออัด ด้วยการรับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลใน กทม.
- 203 views