สปสช.สนับสนุนโรงพยาบาลเปิดคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย ขยายการรักษาครอบคลุมผู้ป่วยทั่วประเทศ ลดผู้ป่วยแอดมิทโรงพยาบาล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ชี้แค่ใช้ยาพ่นลดการอักเสบ อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์บัตรทองแล้ว
รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์
"รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์" เผย ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic Network) และอาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคหืดในประเทศไทย พบว่าอุบัติการณ์ในเด็กประมาณ 10% และผู้ใหญ่ประมาณ 5% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่มาก เพราะคิดออกมาแล้วหลายล้านคน
รศ.นพ.วัชรา กล่าวว่า ในอดีตเชื่อกันว่าโรคหืดไม่สามารถรักษาได้ ทำได้เพียงบรรเทาอาการ โดยสาเหตุเกิดจากหลอดลมตีบ เมื่อตีบก็จะใช้ยาพ่นขยายหลอดลม ซึ่งขณะนั้นในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยหลอดลมตีบ หายใจไม่ออก และต้องรีบไปยังห้องฉุกเฉินปีละร่วมๆ ล้านคน ในจำนวนนี้มีประมาณ 10% หรือแสนคน ที่พ่นยาแล้วไม่หาย ต้องนอนรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาล และแนวโน้มก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ในปี 1995 หรือ พ.ศ.2538 มีความรู้ใหม่เกิดขึ้นมาว่าสาเหตุที่หลอดลมหดตัวหรือตีบนั้น เป็นเพราะหลอดลมอักเสบ นั่นหมายความว่าโรคหืดมีวิธีการรักษาแล้ว คือการให้ยาพ่นสเตียรอยด์ลดการอักเสบ ซึ่งกลายมาเป็นแนวทางของการรักษาทั่วโลก
“ปัญหาคือความรู้หรือแนวทางการรักษาที่มีนั้นเขียนขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแพทย์ทั่วไปไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ขณะที่ประเทศไทยก็พบปัญหาเดียวกันคือการรักษาไม่ได้เป็นไปตามแนวทางการรักษานั้น คือมีผู้ได้รับยาพ่นสเตียรอยด์เพียง 10% ของผู้ที่ควรจะได้รับการรักษาเท่านั้น” รศ.นพ.วัชรา กล่าว
รศ.นพ.วัชรา กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าจะมีความรู้ แต่ความรู้นั้นกลับไปไม่ถึงคนไข้ นั่นจึงเป็นที่มาของการทำโครงการ Easy Asthma Clinic โดยใช้หลักการแฟรนไชส์ กล่าวคือเปิดให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ของแต่ละโรงพยาบาลมาเข้าอบรมในแฟรนไชส์นี้เพียง 1 วัน เพื่อเรียนรู้วิธีการประเมิน วิธีการใช้ยา และให้บุคลากรเหล่านั้นกลับไปรักษา ซึ่งแนวทางการรักษาดังกล่าวเป็นเรื่องง่าย มีโรงพยาบาลระดับอำเภอทดลองทำแค่ 1 ปี ก็สามารถลดจำนวนคนไข้ที่ต้องมานอนโรงพยาบาลลงได้เกินครึ่งหนึ่ง
รศ.นพ.วัชรา กล่าวว่า ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาเห็นผลการดำเนินการดังกล่าว จึงได้ช่วยพัฒนาให้แนวทางการรักษาดังกล่าวให้ขยายกว้างยิ่งขึ้น ด้วยการให้เงินสนับสนุนต่างๆ สำหรับหน่วยบริการที่ทำ Easy Asthma Clinic และนั่นทำให้แนวทางการรักษาดังกล่าวครอบคลุมทั่วทั้งประเทศจนถึงปัจจุบัน
“ขณะนี้โรงพยาบาลระดับอำเภอที่ไม่ได้มีแพทย์เชี่ยวชาญก็สามารถทำการรักษาผู้ป่วยโรคหืดได้ ซึ่งนับว่าเป็นการพลิกโฉมการรักษา โดยยาพ่นสเตียรอยด์ถูกบรรจุลงในชุดสิทธิประโยชน์ของบัตรทองอยู่แล้ว และใช้เงินไม่ได้มาก ซึ่งในอนาคตนี้คาดว่าจะสามารถขยายไปถึงระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ได้” รศ.นพ.วัชรา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีการประเมินกันว่าคนไข้โรคหืดเข้าถึงการรักษาด้วยยาพ่นสเตียรอยด์ประมาณ 30% ของคนไข้โรคหืดทั้งหมด ส่วนผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงอีกประมาณ 70% นั้น เป็นเพราะศักยภาพของหน่วยบริการไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยได้ จึงนับเป็นความท้าทายในอนาคต ส่วนตัวคิดว่าอาจต้องวางระบบส่งต่อ โดยผู้ป่วยที่ได้รับรักษาและอาการดีขึ้นแล้วให้ไปรักษาต่อเนื่องที่ รพ.สต. ส่วนโรงพยาบาลระดับอำเภอจะได้มีที่ว่างสำหรับผู้ป่วยรายใหม่ต่อไป
สำหรับยาพ่นสเตียรอยด์ ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ากลัวหรือน่ากังวล เพราะนอกจากจะมีการวิจัยรองรับและเป็นแนวทางที่ใช้กันทั่วโลกแล้ว ขนาดของยาสเตียรอยด์ที่ใช้กับยาพ่นนั้นยังถือว่าต่ำมากๆ ระดับไมโครกรัม ซึ่งแตกต่างกับสเตียรอยด์ที่เป็นยากินหรือยาที่มีการแอบผสมให้กิน ซึ่งมีมากกว่ายาพ่นหลายร้อยเท่า
นอกจากนี้ การรักษาดังกล่าวยังครอบคลุมถึงโรค COPD หรือปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากการสูบบุหรี่ อาทิ ถุงลมโป่งพอง แต่มีอาการคล้ายคลึงกับโรคหืด เพียงแต่ใช้ตัวยาที่แตกต่างกันออกไป
- 119 views