เผยผลการจัดตั้งเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง กว่า 14 ปี ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยต้องมา admit ที่ รพ.ลดลงกว่า 17,585 ครั้ง หรือ 25.9% แต่ยังมีปัญหาผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพียง 30% เท่านั้น ชี้เป็นความท้าทายใหม่ที่ต้องช่วยทำให้อีก 70% เข้าถึงการรักษาให้ได้ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายควบคุมโรคหืดได้ และมีอัตราเข้ารักษาใน รพ.เข้าใกล้ศูนย์
กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และเครือข่ายคลินิกโรคหืด และปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic Network) ร่วมจัดการประชุมใหญ่ประจำปีครั้งที่ 14 เครือข่ายคลินิกโรคหืดฯ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 ณ โรงแรมเอเชีย กทม.
เนื้อหาการประชุมให้ความสำคัญถึงแนวทางในการเพิ่มการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง ในรูปแบบ Easy Asthma and COPD Clinic (EACC) ซึ่งมีการรักษาเป็นมาตรฐานสากล สู่สถานบริการสาธารณสุขระดับชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการการดูแลรักษาได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ภายใต้แนวคิดการจัดงาน “ลมหายใจแห่งความสุข” ที่มุ่งเน้นการส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่อาศัยอยู่แม้ในพื้นที่ห่างไกล ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ด้วยการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในการรักษาโรคหืดในระดับชุมชนได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น พร้อมเผยสถิติใหม่ภายหลังการจัดตั้งเครือข่ายคลินิกโรคหืดฯ สามารถลดจำนวนผู้ป่วยต้องมานอน admit ที่โรงพยาบาลลดลงกว่า 17,585 ครั้ง หรือคิดเป็น 25.9 %
รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic Network) กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคหืด และปอดอุดกั้นเรื้อรังกว่า 4 ล้านคน ซึ่งนับวันจำนวนผู้ป่วยมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นด้วยหลายสาเหตุ รวมถึงจากสภาพแวดล้อมที่นับวันมีแต่จะเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง จะเป็นการช่วยลดอัตราความเสี่ยงต่อการนอนโรงพยาบาล หรือการสูญเสียชีวิตของผู้ป่วยได้
เครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่ายเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยแนวทางการรักษาที่เป็นระบบที่ได้มาตรฐานสากล และอาศัยความร่วมมือของสหสาขาวิชาชีพทั้งในและนอกโรงพยาบาล ซึ่งภายหลังก่อตั้งเครือข่ายมากว่า 14 ปี สถิติจำนวนผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ที่เข้ารับรักษาตัวและต้องนอน admit ที่โรงพยาบาล ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัดตามจำนวนเครือข่ายฯ ที่เพิ่มขึ้น จากการที่มีผู้ป่วยหอบรุนแรงต้องเข้านอนรับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 67,813 ครั้ง ในปี 2553 ลดลงเหลือ 50,228 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2557 ลดลดกว่า 17,585 ครั้ง หรือคิดเป็น 25.9%
เป็นการช่วยลดอัตราการสูญเสียชีวิตของคนไข้ และช่วยภาครัฐลดงบประมาณการสาธารณสุขลงอีกทางหนึ่ง
รศ.นพ.วัชรา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ป่วยที่ต้องมา admit ที่โรงพยาบาล ถึงแม้ตัวเลขจะดูลดลง แต่หากพิจารณาภาพรวมของคนไข้ Asthma และ COPD ในประเทศไทย กลับพบว่า ยังมีคนไข้ที่เสียชีวิตจากโรค Asthma และ COPD อยู่มาก หรือพูดง่ายๆ ว่า โรคนี้พรากชีวิตคนไข้ไปทุกวัน นั่นเป็นเพราะสัดส่วนของคนไข้ Asthma & COPD ทั้งประเทศที่เข้าถึงการรักษาที่ได้มาตฐานมีเพียง 30% เท่านั้น ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่าน ที่จะทำอย่างไรให้คนไข้ส่วนที่เหลืออีก 70% เข้าถึงระบบบริการที่ได้มาตรฐาน
โดยเครือข่ายฯ ยังคงทำงานอย่างมุ่งมั่นเพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน “Asthma and COPD Admission rate near zero” ก็คือ ทำให้คนไข้โรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังควบคุมโรคได้ และมีอัตราการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเข้าใกล้ศูนย์ โดยปัจจุบัน เครือข่ายฯ EACC มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 1,415 แห่ง
ทั้งนี้ การประชุมใหญ่ประจำปี 14th EACC Annual Meeting เครือข่ายคลินิกโรคหืดฯ ในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ให้แพทย์ทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์ สามารถรักษาโรคหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ให้ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้สถานบริการสาธารณสุขหรือสมาชิกเครือข่ายฯ ที่ทำคลินิกได้มาตรฐานแล้ว สามารถขยายรูปแบบและแนวทางการรักษาแบบเดียวกันกับที่ดำเนินการอยู่ ณ ปัจจุบัน ไปสู่ระบบบริการปฐมภูมิ หรือ PCC (Primary Care Custer) และ/หรือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้บ้านประชาชนในเขตพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขที่ดีขึ้น
ที่สำคัญ เป็นการช่วยลดความแออัดของจำนวนผู้ป่วยโรคหืดที่จะเข้ามารักษาโรงพยาบาลใหญ่ รวมถึงโรงพยาบาลใหญ่เอง ก็สามารถส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้น ไปยังหน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้านผู้ป่วยได้ ซึ่งหากหน่วยงานดังกล่าวมีมาตรฐานและแนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วยในทิศทางเดียวกัน จะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไกล ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงไม่ต้องรอคิวเป็นเวลานาน และยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาที่ใช้ในการรักษาได้มากขึ้น
การขยายการทำงานแบบเครือข่ายฯ ไปสู่สถานบริการสาธารณสุขระดับอื่นๆ โดยมีเครือข่าย EACC โรงพยาบาลใหญ่เป็นพี่เลี้ยง จะทำให้รูปแบบการรักษาที่ได้มาตรฐานไปถึงผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมากนัก โรงพยาบาลใหญ่เอง ก็ไม่ต้องเจอปัญาคนไข้ล้นคลินิก จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันให้คนไข้เข้าถึงมาตรฐานการรักษามากกว่า 50% ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการเข้าถึงคลินิกภายในโรงพยาบาล หรือการสร้างลูกข่าย EACC Network ในการส่งต่อคนไข้ เพื่อนำพาทีมไปถึงเป้าหมายพร้อมๆ กัน
สำหรับการประชุมใหญ่ประจำปีครั้งที่ 14 เครือข่ายคลินิกโรคหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย นอกจากให้แนวทางการรักษาและการส่งต่อผู้ป่วยโรคหืดแล้ว ภายในงานยังมีการตัดสินการประกวด EACC Excellence Award & Peer Recognition Award การแสดงผลงาน ความรู้ ความสามารถ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การทำงานของโรงพยาบาลเครือข่ายฯ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานในกระบวนการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- 109 views